สุจิตต์ วงษ์เทศ: อนุรักษนิยมล้าหลังของระบบการศึกษาไทย

sujitwongthes.com 17 สิงหาคม 2555 >>>


แนวคิดอนุรักษนิยมล้าหลัง เป็นมรดกจากเผด็จการทหาร เมื่อราว 50 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งครอบงำระบบการศึกษาไทยจนทุกวันนี้ ส่งผลให้ผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารโรงเรียน จนถึงครูผู้สอน ไปกันไม่ได้กับแนวคิดเสรีนิยมก้าวหน้า
   “กระทรวงศึกษาธิการ ยังเต็มไปด้วยแนวคิดอนุรักษนิยม ที่เป็นผลพวงจากระบอบอำมาตย์และเผด็จการสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”
อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ปฏิเสธตำแหน่งอนุกรรมการสภาการศึกษา ที่ รมว. ศึกษาธิการลงนามแต่งตั้งเมื่อเร็วๆนี้ ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทย ในรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้า ทางทีวีช่องเอเซียอัพเดท เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม (โพสต์ ทูเดย์ ฉบับวันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2555 หน้า A5) แล้วบอกต่ออีกว่า
   “จอมพลสฤษดิ์มองว่าแนวคิดที่สามารถต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ คือแนวคิดอนุรักษนิยม จึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการถูกปลูกฝังความคิดล้าหลังมาจนปัจจุบัน”
สงสัยไหม ? ว่าทำไมโรงเรียนสาธิตจึงมีคุณภาพ-อ.ธิดา ตั้งคำถาม แล้วอธิบายตอบว่า
   “เป็นเพราะได้เศษเสี้ยวความคิดของเสรีนิยมเข้ามา ผู้สอนกับนักเรียนเหมือนเป็นเพื่อนกัน มีความเสมอภาคที่ไม่ห่างกันมาก นักเรียนจึงกล้ายกมือถาม”
   “ความใกล้ชิดระหว่างครูและนักเรียน ทำให้ผลการเรียนดี เพราะเขาไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้เรียน แต่รู้สึกว่ารื่นรมย์ เพราะมาเรียนกับครูที่รัก”
   “ถามว่าโรงเรียนแบบนี้เป็นเสื้อแดงหรือ เป็นคอมมิวนิสต์หรือ”
   “มันไม่ใช่ แต่มันเป็นแบบอเมริกัน”
   “สภาการศึกษาของไทย-ต้องกลับไปสำรวจตัวเอง” อ. ธิดา โต้ข้อหาว่าจะนำการเมืองครอบงำการศึกษา “ที่พวกคุณทำอะไรกับนักเรียน จนนักเรียนกลายเป็นแบบนี้ สำนึกกันบ้างหรือไม่”
   “เรากำลังพูดระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม ดูตัวอย่างโรงเรียนสาธิตกับโรงเรียนทั่วไป จะเห็นว่าแนวคิดเสรีนิยมก็ทำให้เกิดความแตกต่างแล้ว นี่ยังไม่ต้องพูดถึงโรงเรียน นปช. ที่เป็นโรงเรียนของนักต่อสู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยม”
อ.ธิดา ย้ำว่า ทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการสร้างระบบโอเน็ต-เอเน็ต เพื่อป้องกันระบบการติวเข้มนอกโรงเรียน แต่แทนที่ระบบดังกล่าวจะลดลง กลับวิกฤตหนักขึ้น เดิมติวเฉพาะสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่วันนี้กลับติวกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล ซ้ำมาตรฐานคะแนนสอบยังตกเกือบทั้งหมด
พวกที่วิจารณ์ต่อต้านกลุ่ม นปช. ว่าจะเอาแนวคิดทางการเมืองของตนไปครอบงำการศึกษา ทั้งๆพวกนั้นเองเอาแนวคิดการเมืองเผด็จการทหารที่พวกตนรับมาครอบงำการศึกษาไทยตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2500 จนปัจจุบัน
จากคำอธิบายของ อ.ธิดา ย่อมเห็นชัดเจนว่า แนวคิดอนุรักษนิยมล้าหลัง ยังครอบงำระบบการศึกษาไทย ทำให้ไปกันไม่ได้กับแนวคิดเสรีนิยมก้าวหน้า ส่งผลให้ผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารโรงเรียน จนถึงครูผู้สอนทั้งในเมืองและในชนบท ไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยรอบ จึงไม่ได้สร้างความมั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
   “หากทำลายสภาพแวดล้อมจนเสื่อมโทรม หรือไม่ดูแลท้องถิ่นของตนเอง ประเทศจะพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ได้” คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการศึกษาเพื่อปวงชน และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แล้วอธิบายอีกว่า (คม ชัด ลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2555 หน้า 11) แล้วบอกอีกว่า “การจัดการศึกษาโดยชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างมีคุณภาพ ก็ต้องปูพื้นฐานให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ให้ชุมชนรู้จักตัวตน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และรู้จักต่อยอดสร้างความยั่งยืนขององค์ความรู้”
แต่แนวคิดอนุรักษนิยมจากเผด็จการทหาร จะยอมทำตามคำแนะนำของคุณหญิงกษมาไม่ได้ เพราะเท่ากับยก “บ่าว” ขึ้นเป็น “นาย”