เหลียวหลังแลไปข้างหน้า: ปัญหาคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ



ทีมข่าว นปช.
4 สิงหาคม 2555




อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และ พีระ ลิ้มเจริญ ร่วมออกรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2555
อ.ธิดา ตั้งข้อสงสัยถึงความชอบธรรมของคำวินิจฉัยฉบับนี้ เนื่องจาก รธน. ม.300 วรรค 5 ระบุว่า จะต้องตรา พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาล รธน. ภายใน 1 ปี แต่ขณะนี้เลยเวลานั้นมาแล้วก็ยังไม่มีการตรา พรบ. ฉบับนี้ รวมทั้งข้อบังคับฯศาล รธน. ข้อ 5.2 ที่ตราโดยตุลาการ รธน. ชุดนี้ซึ่งระบุว่า ตุลาการ รธน. จะต้องทำ "คำวินิจฉัยส่วนตน" ก่อนออก "คำวินิจฉัยส่วนกลาง"
อ.ธิดา ได้เปรียบเทียบคำวินิจฉัยส่วนกลางประเด็นที่ 2 (ม.291) ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องทำประชามติ หรือแก้ไข รธน. เป็นรายมาตรา แต่ สมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาล รธน. ได้แบ่งคำวินิจฉัยออกเป็น 2 กลุ่ม โดยตุลาการ รธน. 4 ราย (วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, บุญส่ง กุลบุปผา, ชัช ชลวร และ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี) ระบุชัดเจนว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไข รธน. ขณะที่อีก 4 ราย (จรูญ อินทจาร, เฉลิมพล เอกอุรุ, นุรักษ์ มาประณีต และ สุพจน์ ไข่มุกด์) กลับไม่มีความชัดเจน แต่คำวินิจฉัยกลางกลับไปเอาส่วนที่ไม่มีความชัดเจนมาลงแทน
นอกจากนี้ อ.ธิดา ยังหยิบบทความของ อ.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ซึ่งวิเคราะห์ว่า ความเห็นของตุลาการ รธน. แบ่งออกเป็น 4 ฝ่ายคือ
1. ฝ่ายที่ 1: มี 3 เสียง (วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, บุญส่ง กุลบุปผา และ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี) ระบุว่า ศาล รธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภา
2. ฝ่ายที่ 2: มี 1 เสียง (ชัช ชลวร) ระบุว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับได้
3. ฝ่ายที่ 3: มี 2 เสียง (นุรักษ์ มาประณีต และ สุพจน์ ไข่มุกด์) ระบุว่า รัฐสภาไม่สามารถแก้ไข รธน. ทั้งฉบับได้
4. ฝ่ายที่ 4: มี 2 เสียง (จรูญ อินทจาร และ เฉลิมพล เอกอุรุ) ระบุว่า รัฐสภาสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ แต่ต้องทำประชามติ
เมื่อเสียงข้างมากคือฝ่ายที่ 1 (3 เสียง: ศาล รธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย) ดังนั้นตุลาการ รธน. จึงไม่สามารถวินิจฉัยคำร้องนี้ได้
อ.ธิดา ยังกล่าวถึงกรณี ยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของ ตุลาการ รธน. บนเวที นปช. ว่า ตุลาการ รธน. ต้องเป็นผู้ฟ้องเอง ไม่ใช่สำนักงานศาล รธน. เป็นผู้ฟ้อง เนื่องจากสำนักงานศาล รธน. มีหน้าที่เพียงธุรการเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง สำนักงานศาล รธน. จึงทำหน้าที่ได้เพียงอำนวยความสะดวกให้ตุลาการ รธน. เท่านั้น
อ.ธิดา ตั้งข้อสังเกตุอีกว่า เมื่อ "คำวินิจฉัยส่วนกลาง" และ "คำวินิจฉัยส่วนตัว" ไม่สอดคล้องกัน จึงอาจเป็นไปได้ที่ "คำวินิจฉัยส่วนตน" ออกมาก่อน แต่ถูกแก้ในภายหลัง หรือไม่ก็มีใครไปแก้ไขคำวินิจฉัยส่วนกลาง
อ.ธิดา เห็นว่า ศาล รธน. คงเชื่อว่า ตนเองเป็นองค์กรสุดท้ายที่สามารถพิทักษ์ รธน.50 ได้ จึงทำทุกอย่างเพื่อปกป้อง รธน.50 แม้จะต้องถูกโจมตีอย่างหนักก็ตาม
อ.ธิดา ยอมรับว่า แม้ รธน.40 จะไม่ใช่ รธน. ที่ดีที่สุด แต่ก็เป็น รธน. ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ดังนั้นพรรครัฐบาลและพรรคร่วมควรยืนอยู่บนหลักการระบอบประชาธิปไตย และต้องตระหนักในอำนาจที่ได้รับมาจากประชาชน เพราะอำนาจรัฐสภาคือ การเป็นผู้เขียน กม.

(รับชมรายการย้อนหลัง: สถานี นปช.)