'พะเยาว์' นำทีมผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่มีรายชื่อร้องเรียนขอเงินเยียวยา



ทีมข่าว นปช.
27 สิงหาคม 2555




วันนี้ (27 ส.ค. 55) สันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (พ.ศ. 2548-2553) รอบที่ 6 ณ บ้านราชวิถี ถ.ราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพ
สันติ ชี้แจงว่า ช่วงการเปิดลงทะเบียนฯเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้มาลงทะเบียนจำนวน 5,885 ราย มีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 1,018 ราย และอีก 1,075 รายมีรายชื่อซ้ำซ้อน ซึ่งขณะนี้ยังมีผู้ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอีกประมาณ 1,730 ราย
การจ่ายเงินเยียวยาฯในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ซึ่ง 4 ครั้งที่ผ่านมามีการจ่ายเงินเยียวยาฯไปแล้วจำนวน 1,812 ราย สำหรับวันนี้มีการจ่ายเงินเยียวยาฯจำนวน 516 ราย คิดเป็นเงินกว่า 312 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น

  • ผู้เสียชีวิต 11 ราย ได้รับเช็คเงินสดรายละ 3,250,000 บาท
  • ผู้ทุพพลภาพ 2 ราย ได้รับเช็คเงินสดรายละ 3,000,000-3,600,000 บาท
  • ผู้สูญเสียอวัยวะสำคัญ 9 ราย ได้รับเช็คเงินสดรายละ 1,800,000 บาท
  • ผู้สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ 4 ราย ได้รับเช็คเงินสดรายละ 1,800,000 บาท
  • ผู้บาดเจ็บสาหัส 21 ราย ได้รับเช็คเงินสดรายละ 1,125,000 บาท
  • ผู้บาดเจ็บไม่สาหัส 131 ราย ได้รับเช็คเงินสดรายละ 675,000 บาท
  • ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 328 ราย ได้รับเช็คเงินสดรายละ 225,000 บาท
  • ผู้ได้รับผลกระทบจาก 2 เหตุการณ์ 3 ราย
  • ผู้ได้รับผลกระทบจาก 3 เหตุการณ์ 1 ราย

พะเยาว์ อัคฮาด กล่าวว่า วันนี้ตนเองเดินทางมาที่นี่เพื่อเรียกร้องเงินเยียวยาฯให้กับผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองที่ยังไม่มีรายชื่อ และผู้ที่ยื่นคำร้องฯไม่ทัน
ทั้งนี้ตนเองเห็นว่า รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการภาคประชาชนเพื่อพิจารณาเรื่องการเยียวยาฯครั้งนี้ เนื่องจากตนเองได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก คนเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินตรงนี้เพื่อรักษาตัว หรือดำรงชีพ หลายคนมายื่นคำร้องไม่ทัน เพราะไม่ทราบ บางคนไม่สามารถยื่นคำร้องได้ เพราะไม่กล้าไปแจ้งความ หรือไปพบแพทย์ จึงไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง เนื่องจากช่วงนั้นมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน อยู่ จึงอยากร้องขอให้รัฐบาลให้โอกาสคนเหล่านี้ได้อุทธรณ์
ขณะนี้ตนเองมี 2 กรณีที่ต้องการร้องเรียนคือ กรณีคนที่ได้ยื่นคำร้องก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้ประกาศรายชื่อรับเงินเยียวยาฯ และคนที่ยื่นคำร้องไม่ทัน ตนเองจะขอพบกับ ปกรณ์ พันธุ (อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) เพื่อคุยเรื่องนี้ ส่วนหนังสือร้องเรียนฯตนเองจะยื่นให้กับ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ (รองนายกรัฐมนตรี) ทั้งนี้ตนเองเห็นว่า จำนวนเงินดังกล่าวไปได้มากมาย
ตนเองเห็นว่า ธงทอง จันทรางศุ (ประธานคณะกรรมการเยียวยาเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553) ตั้งเงื่อนไขสูงเกินไป ตอนที่ พธม. ชุมนุมไม่มีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน แต่ตอนที่คนเสื้อแดงชุมนุมมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จึงทำให้คนเสื้อแดงจำนวนมากไม่กล้าแจ้งความ
อุดร วรรณสิงห์ เผยว่า ในเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 ตนเองถูกทหารใช้ด้ามปืนตีกกหูด้านขวา ที่ ถ.ดินสอ จนเลือดออกหู ตอนนั้นตนเองถูกส่งตัวไปที่ รพ.วชิรพยาบาล (ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพ) แต่โรงพยาบาลไม่รับ โดยอ้างว่า ตนเองไม่มีบาดแผล
เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี ตนเองเริ่มมีอาการหูขวาไม่ได้ยินเสียง จึงไปหาที่ รพ.ร้อยเอ็ด ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่า ตนเองมีอาการประสาทหูเสื่อม จึงได้มายื่นคำร้องฯขอรับการเยียวยาตั้งแต่เดือน เม.ย. แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีรายชื่อ จึงได้เดินทางมาที่นี่เพื่อพร้อมกับพะเยาว์เพื่อขอให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยเร่งรัด