เป็นบทความของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการเข้ารับราชการทหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีพล.อ.อ.ไมตรี โอสถหงษ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
การตรวจสอบกรณีนายอภิสิทธิ์ หนีทหารหรือไม่ และเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) อย่างถูกต้องสง่างามหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม แถลงผลสอบไปเมื่อวันก่อนนั้น
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่เพื่อช่วยเหลือคดีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ถูกฟ้องหมิ่นประมาท หรือเพื่อเป็นประเด็นการเมืองกลบเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง และการแก้รัฐธรรมนูญ
การนำเรื่องเก่ามาเล่านั้นก็จริงอยู่ แต่สาระสำคัญของเรื่องแตกต่างจากที่สาธารณชนเคยทราบจากคำอธิบายของผู้นำประเทศในยุคก่อนๆ โดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าผลสอบจากหน่วยงานที่เคยตรวจสอบไว้แล้วเมื่อปี 2542 (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น ผบ.ทบ.) และเรื่องที่นายอภิสิทธิ์เคยเล่าในการประชุมสภาเมื่อปี 2544 ก็แตกต่างในสาระของการสอบสวนและในรายงานจากหน่วยราชการอื่นที่มีอยู่แล้ว แต่ผู้นำสมัยนั้นไม่อยากเปิดเผย
คือรายงานของโรงเรียน จปร. เมื่อปี 2532 และรายงานของกรมการกำลังสำรองทหารบก (กสร.ทบ.) ปี 2542 เช่นเดียวกับรายงานของกรมจเรทหารบกที่ทราบกันมาก่อนแล้ว และคณะกรรมการชุดนี้ตรวจพบว่าเอกสารเหล่านี้มีอยู่จริง
การแถลงของ รมว.กลาโหม เมื่อ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา จึงมีนัยยะสำคัญที่ได้แสดงรายงานงานของโรงเรียน จปร. และของ กสร.ทบ. ไว้ด้วย เป็นรายงานที่สาธารณชนไม่เคยรับทราบมาก่อน ตอบโจทย์การอภิปรายในสภาของนายอภิสิทธิ์เมื่อเดือน มี.ค. 52 และการชี้แจงของนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเร็วๆ นี้ได้เป็นอย่างดี
แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมชี้แจงว่า คณะกรรมการสอบของ กห. รายงานความผิดปกติหรือความพิรุธของเอกสารต่างๆ ที่ใช้บรรจุนายอภิสิทธิ์เป็นอาจารย์โรงเรียน จปร. จนได้รับการแต่งตั้งยศ ร.ต. และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชัดเจนทั้งทางเอกสารและกระบวนการที่แสดงเจตนาของการกระทำผิดขั้นตอนบรรจุ นับตั้งแต่การไม่ไปตรวจเลือกทหารเมื่อ 7 เม.ย. 30 โดยไม่มีการผ่อนผัน, การถูกท้วงติงจากกรมสารบรรณทหารบกถึง 2 ครั้งว่าไม่มีเอกสารสำคัญทางทหารในการบรรจุ
และการใช้ใบสำคัญแทน สด.9 ที่อ้างว่าชำรุดสูญหายเพื่อการขึ้นทะเบียนกองประจำการ รวมถึงมีหนังสือรับรองการผ่อนผันซึ่งไม่ถูกกฎหมาย และเป็นเอกสารนอกระบบราชการ
ขณะที่คำชี้แจงของนายอภิสิทธิ์และนายศิริโชคที่ว่า นายอภิสิทธิ์ มีเอกสาร สด.20 ได้รับการผ่อนผันตาม สด.41 ลงวันที่ 4 พ.ย. 29 นั้น เป็นเรื่องแก้เกี้ยว ให้ผู้ที่ไม่เข้าใจระบบการเกณฑ์ทหารยังคงไม่เข้าใจต่อไป
เพราะตามคำสั่ง ทบ.ที่ 1173/2528 ลง 25 ธ.ค. 28 ตอนที่ 4 (การยกเว้นผ่อนผันฯ) ระบุชัดเจนว่าเมื่อสำนักงาน ก.พ. ขอผ่อนผันต่อผู้ว่าฯแล้ว ผู้ว่าฯจะออกหนังสือผ่อนผัน สด.41 (มอบให้เจ้าตัวเก็บไว้)
แล้วสัสดีจังหวัดและสัสดีอำเภอจะต้องบันทึกใน สด.27 และ สด.1 ว่าเป็นคนผ่อนผันด้วยเหตุใด เรื่องใด ฉบับที่เท่าใด พ.ศ. ใด แล้วจึงขีดฆ่าชื่อด้วยหมึกแดงในแบบ สด.16 และบันทึกจำหน่ายว่าเป็นคนผ่อนผัน
พร้อมกับการบันทึกชื่อใน สด.20 (สำหรับทางอำเภอจะได้รับใบ สด.19 สั่งให้ทำบัญชียกเว้นหรือผ่อนผันเช่นเดียวกัน) ดังนั้นแบบบัญชีต่างๆ ต้องเชื่อมโยงกัน
เอกสาร สด.1 ฉบับจริงของนายอภิสิทธิ์ไม่ปรากฏบันทึกว่าเป็นคนผ่อนผัน และเอกสาร สด.16 ฉบับจริง มีชื่อนายอภิสิทธิ์ในบัญชีคนพ้นฐานะยกเว้นผ่อนผัน และบันทึกว่า 'ไม่ไปเข้ารับการตรวจเลือก' ในปี 2530-2536
ดังนั้นไม่มีเหตุหรือหลักฐานเชื่อมโยงใดๆ ที่เชื่อได้ว่า นายอภิสิทธิ์มีรายชื่อในแบบ สด.20 ตามที่กล่าวอ้าง และสำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากเจ้าพนักงานผู้ใด อีกทั้งมิใช่เอกสารที่มอบให้เจ้าตัวเก็บ ไว้ด้วย
แต่เอกสารอื่นทุกฉบับที่ทางราชการยังคงเก็บไว้ บ่งชี้ว่านายอภิสิทธิ์เป็นบุคคลขาดการเกณฑ์ทหาร
แหล่งข่าวจากอดีตนายทหารฝ่ายกำลังพล โรงเรียน จปร. บอกว่า กรณีนายอภิสิทธิ์และนายศิริโชคกล่าวหาว่าโรงเรียนทำเอกสารสำคัญทางทหารและใบผ่อนผัน สด.41 หายไปนั้น เป็นเรื่องตลก นายอภิสิทธิ์ไม่ควรให้ร้ายเจ้าหน้าที่
เพราะกรมสารบรรณทหารบกทักท้วงเอกสารผ่อนผันถึง 2 ครั้ง แสดงแล้วว่าไม่มีเอกสารผ่อนผัน ถ้ามี ใบ สด.41 จริงคงไม่ถูกทักท้วง หรือถ้าเอกสารหายไปในช่วงนั้น นายอภิสิทธิ์ไปขอคัดสำเนานำมายื่นใหม่ได้ จะไม่ทำให้เรื่องยุ่งยากจนบัดนี้
รวมถึงเอกสาร สด.9 ฉบับใบแทน 8 เม.ย. 31 ถ้าไม่มีเหตุแห่งความผิดก็ไม่จำเป็นต้องไปขอใบแทน เพราะยังมีสำเนาใบเดิมอยู่ (และได้แสดงอยู่ในปัจจุบัน) จะใช้วิธีการรับรองสำเนาใบเดิม ซึ่งมีต้นขั้วให้ตรวจสอบ
หรือถ้าจะให้ออกใบแทน นายอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบที่ไม่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนเซ็นรับ แล้วนำ สด.9 ใบแทนซึ่งไม่ถูกต้องไปใช้ประโยชน์ของตนเองในการขึ้นทะเบียนกองประจำการจนได้
แหล่งข่าวสรุปว่า กรณีนายอภิสิทธิ์ไม่ไปเข้ารับการตรวจเลือกเมื่อ 7 เม.ย. 30 และไม่ได้รับการผ่อนผัน มีความชัดเจน
ทำให้เอกสารและกระบวนการสมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียน จปร. การแต่งตั้งยศ ร.ต. และการบรรจุขึ้นทะเบียนกองประจำการ เสียไปด้วยทั้งหมด
แม้จะทำเอกสารอื่นๆ มาแก้ไขภายหลังแต่ไม่รอบคอบ ไม่อาจเชื่อมโยงเอกสารทางราชการที่ถูกต้องและตรวจสอบได้จริงในระบบเอกสารของสัสดี ซึ่งแก้ไขย้อนหลังได้ยาก
เวลานี้ถือเป็นโอกาสดีที่นายอภิสิทธิ์หรือนายศิริโชคจะนำเอกสาร สด.20 หรือ สด.41 ที่อ้างว่ามีอยู่นั้น นำส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบความถูกต้อง เพราะปัจจุบันมีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสอบได้ ประชาชนจะได้หมดความสงสัย เรื่องอาจจะจบได้อย่างสวยงาม
อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตว่า ไม่ว่าการบรรจุและแต่งตั้งยศ ร.ต. ให้นายอภิสิทธิ์เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยจะถูกต้องหรือไม่ อย่างไร และไม่ว่าจะถูกเพิกถอนต่อไปหรือไม่
ความจริงยังปรากฏในรายงานของ พล.ต.เกษม นภาสวัสดิ์ ผอ.สกศ.รร.จปร. ตามบันทึกข้อความ สกศ.รร.จปร. ที่ กห. 0460.2/2813 ลง 31 พ.ค. 31 'ข้อสังเกต การลาออกของนายอภิสิทธิ์ เริ่มกระทำภายหลังที่ตนได้รับคำสั่งแต่งตั้งเพียง 35 วันเท่านั้นโดยประมาณ'
และมีข้อสังเกตต่อท้าย ตามเอกสารประกอบรายงานของพล.ต.ศักดิ์สิน ทิพยเกษร เจ้ากรมกำลังสำรองทหารบก ตามบันทึกข้อความ กสร.ทบ. (กองการสัสดี) ที่ กห. 0426/654 ลง 8 มี.ค. 42 ว่า
'นับตั้งแต่ยื่นลาออกจากราชการ และหน่วยที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการทางด้านธุรการ ระหว่าง 31 พ.ค. 31-12 เม.ย. 32 นั้น นายอภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการใดๆ ที่โรงเรียน จปร.'
'กล่าวคือลากิจ 40 วัน (22 ส.ค. 31-30 ก.ย. 31), ลากิจ 67 วัน (4 ต.ค. 31-9 ธ.ค. 31), และลาไปสอนหนังสือที่ ม.ออกซ์ฟอร์ด 114 วัน (10 ธ.ค. 31-2 เม.ย. 32) รวมเป็นวันลาทั้งสิ้น 221 วัน'
'ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดบ่งชี้ว่า นายอภิสิทธิ์มีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดขืนการเข้าตรวจเลือกฯ อ้างเหตุผลว่าเป็น อจ.รร.จปร. แม้กระทั่งในห้วงเวลาที่มีชื่อเป็น อจ.รร.จปร. ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ ให้ รร.จปร.'
โดยมีเอกสารประกอบรายงาน 3 ฉบับ ได้แก่ 'การไปศึกษาต่างประเทศของนายอภิสิทธิ์' 'สรุปลักษณะการกระทำผิดของการหนีราชการทหารของนายอภิสิทธิ์'
และ 'นายอภิสิทธิ์อ้างข้อต่อสู้ในการหนีราชการทหารว่า รับราชการเป็น อจ.รร.จปร. รับฟังไม่ได้ เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตร'
แม้นายอภิสิทธิ์และนายศิริโชคจะยังโต้แย้งเกี่ยวกับกรณีการหนีทหาร หรือกรณีการใช้เอกสารไม่ถูกต้องในการบรรจุเป็นนายทหาร หรือการขึ้นทะเบียนกองประจำการก็ตาม
แต่ทั้งสองคงไม่อาจโต้แย้งความจริง ข้อสังเกตและข้อสรุปของส่วนการศึกษาโรงเรียน จปร. หรือของ กสร.ทบ. รวมทั้งกรมจเรทหารบก ดังรายงานข้างต้นได้
นายอภิสิทธิ์คงต้องตอบสังคมอย่างตรงไปตรงมา เล่าความจริงอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Whole Truth ไม่ใช่ Half Truth ว่ามีเจตนาจะรับใช้ชาติด้วยการรับราชการทหารเป็นอาจารย์โรงเรียน จปร. เพียง 35 วัน หลังการได้รับแต่งตั้งยศ ร.ต. แล้วลางาน 221 วัน (ซึ่งรวมถึงการอ้างว่าไปสอนหนังสือที่ ม.ออกซ์ฟอร์ด 114 วัน) แทนที่จะปฏิบัติงานสอนหนังสืออยู่ที่ รร.จปร.
หรือว่ามีเจตนาอ้างสิทธิ์การบรรจุเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียน จปร. เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร กันแน่ ?