"รีเพลย์" ภาพไต่สวน "เสื้อแดง" ก่อนศาลออก "กฎเหล็ก" คุม

มติชน 4 สิงหาคม 2555 >>>




ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นบ่อยนัก เมื่อศาลอาญามีหนังสือเชิญนักข่าว ช่างภาพ ให้มาร่วมประชุมซักซ้อมความเข้าใจ ในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยเฉพาะนักข่าวช่างภาพที่มาทำข่าวการไต่สวนคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวแกนนำ นปช. 24 คน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ส.ค. ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.
การประชุมซักซ้อมความเข้าใจในวันที่ 1 ส.ค. มีนายจุมพล ชูวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นางอรอุษา กฤษณะโลม จรัญรัตนศรี เลขานุการศาลอาญา และนายประยุทธ ศิริสัน ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลอาญา รับหน้าที่ชี้แจง ท่ามกลางผู้สื่อข่าวช่างภาพจากทุกสำนัก
ศาลอาญาได้แจ้งว่า อาศัยอำนาจตาม กม.วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ออกข้อกำหนดสำหรับการไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค. ดังนี้
ห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญในบริเวณศาล หรือกระทำการในลักษณะที่เป็นการยั่วยุหรือสนับสนุน ในบริเวณศาล
ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงส่งเสียงดัง อันเป็นการรบกวนการพิจารณาของศาล ห้ามวางสินค้ากีดขวางทางเข้าออกศาลอาญา ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ระวางโทษจำคุก 6 เดือน
สำหรับวันที่ 9 ส.ค. อันเป็นที่มาของการเรียกซักซ้อมความเข้าใจนั้น นอกจากจะนัดฟังคำสั่งคำร้องที่นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 2 ในคดีร่วมกันก่อการร้าย กรณีมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว ขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณหน้ารัฐสภา กล่าวโจมตีพาดพิง ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้องขอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
ศาลอาญายังนัดสอบถามจำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้ายคนอื่นๆ อีกรวม 23 คน ซึ่งล้วนเป็นแกนนำ นปช. คนสำคัญ
อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา นายนิสิต สินธุไพร นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง
ทั้งหมดเป็นนักเคลื่อนไหวระดับขวัญใจของกลุ่มเสื้อแดง ทำให้คาดหมายได้ว่าบรรดาผู้สนับสนุนเดินทางมาให้กำลังใจอย่างเนืองแน่น อาจส่งผลต่อในบริเวณห้องพิจารณา ในบริเวณอาคารศาลไปจนถึงถนนหนทางด้านนอก
ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ในวันที่ศาลนัดสอบถามนายจตุพร ทำผิดเงื่อนไขประกันตัวคดีก่อการร้ายหรือไม่
ขอย้อนกลับไปฉายภาพของวันที่ 23 ก.ค. อีกครั้ง วันนั้นตั้งแต่เช้าตรู่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเสื้อแดงมาจับจองพื้นที่ริมฟุตปาธหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อจำหน่ายขายสินค้าต่างๆ
มีทั้งร้านขายข้าวราดแกง ข้าวไข่เจียว ร้านขายน้ำ ร้านกาแฟ ร้านขายเสื้อผ้า สิ่งของที่ระลึก ฯลฯ
นอกจากนี้ยังนำรถกระบะหรือรถบรรทุก 6 ล้อ ติดเครื่องขยายเสียงและลำโพงขนาดมหึมา ระดับที่ใช้จัดคอนเสิร์ตกลางแจ้งได้ มาเป็นเวทีปราศรัยชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ในวันนั้นบรรดาสื่อที่ยืนอยู่หน้าห้องพิจารณาคดี 801 ได้ยินเสียงปราศรัยได้สบายๆ และเข้าใจได้ว่า เสียงดังกล่าวอาจรบกวนการพิจารณาคดีนี้ และคดีอื่นๆ ของศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลอุทธรณ์ ศาลแขวงพระนครเหนือ ที่อยู่รวมกันในบริเวณริมถนนรัชดาภิเษก
นอกจากนี้ ผู้มาสังเกตการณ์จำนวนมาก ยังจอดรถยนต์ริมถนนรัชดาภิเษกกินพื้นที่จราจร 2 ช่องทาง เป็นแนวยาวตั้งแต่หน้าสำนักงานอัยการสูงสุดไปจนถึงศาลแขวงพระนครเหนือ ทำให้การจราจรสองข้างฝั่งติดขัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่จอดรถศาลอาญาไม่เพียงพอ
ในห้องพิจารณาคดี 801 ซึ่งปกติสามารถรองรับผู้สนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาได้ประมาณ 50-70 คนเล็กไปถนัด
เพราะนอกจากผู้ติดตามและผู้มาให้กำลังใจนายจตุพร ยังมีสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งนักข่าว ช่างภาพจากโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เคเบิลทีวี ทั้งในและต่างประเทศกว่า 200 คน มาเฝ้ารอฟังคำสั่งศาล
นักข่าวจากทุกสำนักต้องการที่เบียดเสียดเข้าไปฟังการพิจารณาคดี แม้เก้าอี้จะเต็มหมดแล้วแต่ได้เข้าไปยืนฟังก็ยังดี
และด้วยความที่สมัยนี้เป็นยุคการแข่งขันความฉับไวข้อมูลข่าวสาร นักข่าวทุกคนปิดเสียงโทรศัพท์มือถือไม่ให้รบกวนการพิจารณาคดี แต่หลายคนต้องเร่งส่งข่าวจึงควักโทรศัพท์มือถือมาพิมพ์ข่าวสั้นรายงานเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีเป็นระยะ ซึ่งผิดระเบียบของศาลที่กำหนดให้ปิดโทรศัพท์มือถือ เมื่อเข้าห้องพิจารณา
ในวันนั้น นางอรอุษา กฤษณะโลม จรัญรัตนศรี ได้พยายามกล่าวเตือนด้วยความสุภาพ แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืน ขณะที่ช่างภาพพากันปักหลักหน้าบันไดศาลอาญา และด้านหลังศาล ซึ่งเป็นห้องควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพื่อรอดักสัมภาษณ์และถ่ายภาพ
ช่างภาพบางสำนักยังถ่ายภาพนอกบริเวณที่ศาลอนุญาตอีกด้วย เมื่อนายประยุทธ ศิริล้น เข้าไปตักเตือน กลับถูกตวาดด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ
เหตุทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นที่มาในการออก "กฎเหล็ก" สำหรับกลุ่มคนเสื้อแดงและสื่อมวลชนที่จะไปทำข่าวในวันที่ 9 สิงหาคมนี้
สำหรับกติกาการทำข่าวของสื่อมวลชน ในส่วนของช่างภาพหนังสือพิมพ์ ที่จะขอถ่ายรูปทำข่าวด้านหลังศาลอาญา ซึ่งเป็นหน้าห้องควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือรถถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ
ต้องมาลงทะเบียนถ่ายภาพทำข่าวที่ศาลอาญาในวันที่ 7 สิงหาคม ก่อนเวลา 12.00 น.
ส่วนนักข่าวที่จะเข้าฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดีหรือตัวอาคารศาลจะต้องมาลงทะเบียนในวันที่ 8 สิงหาคม ก่อนเวลา 12.00 น. และมาลงทะเบียนแลกบัตรอีกครั้งในวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 08.00 น. โดยห้องพิจารณาได้มีการย้ายไปใช้ห้องที่มีความจุมากขึ้น
สำหรับกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะมาติดตามการพิจารณาคดี ศาลอาญาได้จัดพื้นที่ไว้บริเวณลานจอดรถด้านหน้าศาลอาญา โดยมีตำรวจและคอมมานโดกองปราบปรามกว่าร้อยนายมารักษาการณ์
เหตุการณ์ในวันที่ 9 สิงหาคม จะราบรื่นแค่ไหน อย่างไร ต้องติดตามข่าวกันต่อไป