ปฏิรูปการเมืองเรื่องประชาธิปไตย ฝ่าห้วงมืด ? ความขัดแย้ง แดง-เหลือง

มติชน 13 สิงหาคม 2555 >>>




เป็นเวลา 80 ปีพอดิบพอดีที่ประเทศไทยก้าวเดินไปบนเส้นทาง "ประชาธิปไตย" เส้นทางที่บางครั้งก็โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่บางครากลับโรยด้วยขวากหนาม บางครั้งมองเห็นปลายทางสว่างสดใส แต่บางครากลับมืดมิดไม่เห็นหนทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่เข้าขั้นวิกฤต
คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ หากจะกล่าวว่าเป็นอีกครั้งที่เราต้องมะงุมมะงาหราไปบนหนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามและความมืดมิด แต่ก็ใช่ว่าจะมืดมิดไปเสียทั้งหมด
เพราะเมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง และปัญหาที่ยากจะคลี่คลายคล้ายเดินมาถึงทางตัน เรามักจะได้ยินคำว่า "ปฏิรูปการเมือง" ปรากฏเป็นวาระสำคัญของสังคม เช่น การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 ที่เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งออกแบบมาเพื่อสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และยึดโยงกับประชาชน การปฏิรูปในครั้งนั้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในระบบด้วยการสร้างบทสนทนาที่ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และที่สำคัญ คือเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยสันติ แต่ในครั้งนี้การ "ปฏิรูปการเมือง" จะเป็นทางออกได้มากแค่ไหน ? ในหนทางใด ? คือสิ่งที่ต้องติดตาม
ดังที่ผ่านมา มูลนิธิสัมมาชีพ ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดอบรม "โครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change) รุ่นที่ 3"ที่สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์
หนึ่งในหัวข้อการอภิปรายที่น่าสนใจนั้นคือ "ปฏิรูปการเมืองเรื่องประชาธิปไตย" โดยมีวิทยากรร่วมบรรยายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เชี่ยวชาญเหตุบ้านการเมืองชนิดเรียกว่าหาตัวจับยาก
อธึกกิต แสวงสุข บรรณาธิการอาวุโสวอยซ์ทีวี หรือ "ใบตองแห้ง" คอลัมนิสต์ชั่วโมงบินสูง ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวเริ่มต้นการเสวนาอย่างน่าคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ เกิดรัฐบาลที่มีการยึดโยงกับประชาชนสูง เช่นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งพรรคเดียวเป็นครั้งแรก แต่ก็เกิดปัญหารัฐบาลอำนาจนิยม โดยเฉพาะตัวผู้นำ กระทั่งปีช่วง พ.ศ. 2549 เกิดการต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง
   "ช่วงเวลานั้น ผมเห็นว่าเป็นเวลาเหมาะสมที่จะต้องปฏิรูปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อคานรัฐบาลที่มีอำนาจมาก แต่สุดท้ายกลับเกิดรัฐประหารทำให้การเมืองถอยหลังไป จนเกิดการเมืองแบบแบ่งขั้วแบ่งข้างในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่เราต้องพูดกันต่อไปคือ เราจะไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะการปฏิรูปที่แท้จริงต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง และไม่อาจทำได้ฝ่ายเดียว" นายอธึกกิต กล่าวเริ่มรายการ
ก่อนที่จะเชิญ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มานำเสนอโจทย์สำคัญทางการเมืองที่สังคมไทยจะต้องตอบให้ได้ซึ่งศิโรตม์ได้เตรียมมาพูด 2 โจทย์
1. เราจะทำให้ประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานของสังคมกลับมาได้อย่างไร ? และ
2. เมื่อประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานกลับมาแล้ว เราจะพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นได้อย่างไร ?
   "ในปัจจุบันโจทย์เรื่องประชาธิปไตยในบ้านเรามี 2 โจทย์ซ้อนกัน โจทย์แรกคือการทำให้ประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานของสังคมกลับคืนมานั่นคือระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่ยึดหลักนิติรัฐ และอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน โจทย์นี้เคยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่นายกฯต้อง มาจากการเลือกตั้ง แต่แนวโน้มนี้หายไปหลังเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 2549 การเมืองกลับมาถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ เช่น กองทัพและตุลาการ"
   "ส่วนโจทย์ 2 คือ หลังจากระบอบเสรีประชาธิปไตยเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ก้าวหน้าขึ้น สังคมไทยก่อนเกิดรัฐประหารเคยมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก อาทิ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามมีส่วนร่วมโดยการใช้กลุ่มองค์กรต่างๆ เป็นฐานของการพัฒนาประชาธิปไตย" ศิโรตม์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ต้องตอบโจทย์ใหญ่ทั้งสองข้อให้ถูกต้องศิโรตม์ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สังคมไทยต้องฝ่าข้าม "มายาคติ 4 ประการ" ที่แวดล้อมประชาธิปไตยไทยให้ได้อีกด้วยได้แก่
1. ประชาธิปไตยไม่เสรี ในบางประเทศแม้จะมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง แต่พรรคการเมืองอาจยังยึดโยงกับอำนาจนอกระบบบางอย่าง ดังนั้น ต้องทำให้ระบบต่างๆ ภายในพรรคยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น
เช่น สร้างกระบวนการไพรมารีโหวต (primary vote) ให้ประชาชนหรือสมาชิกพรรคเลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งใน ท้องที่นั้นๆ
2. ประชาธิปไตยไร้ความขัดแย้ง เรามักคิดว่าประชาธิปไตยหมายถึงสังคมซึ่งไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งที่จริงๆ แล้วสังคมประชาธิปไตยตั้งอยู่บนความแตกต่างหลากหลายในมิติต่างๆ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะกลุ่มใด ชนชั้นใด ก็เล่นการเมืองกันทั้งสิ้น ดังนั้น เราจะต้องรู้จักอดทนอดกลั้นและเคารพความแตกต่าง
3. ประชาธิปไตยจะต้อง นำไปสู่การบริหารที่ดีตลอดเวลา หรือที่นักปฏิรูปชอบเรียกว่า Good Governance รัฐบาลประชาธิปไตยมักถูกวิจารณ์ว่าคอร์รัปชั่น บริหารงานล้มเหลว ผิดพลาด ทั้งที่จริงความผิดพลาดเกิดขึ้นได้กับทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย
ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือ เราต้องสร้างระบบที่เอื้อให้แต่ละกลุ่มมีทางเลือกและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและ
4. ประชาธิปไตยคือการสร้างความเป็นปึกแผ่นและความเป็นเอกภาพ แต่ความเป็นจริงความเป็นเอกภาพมักจะพร้อมกับการกีดกันคนบางกลุ่มออกไป ซึ่งขัดกับหลักสำคัญของประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นในความเท่าเทียมของมนุษย์
ดังนั้น ทั้งโจทย์ใหญ่ 2 ข้อ และมายาคติ 4 ประการ จึงเป็นบททดสอบสำคัญที่สังคมไทยจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้ หากต้องการเดินไปข้างหน้าอย่างทัดเทียมนานาอารยประเทศ !
ด้าน ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมข้อเสนอของศิโรตม์ว่า สังคมไทยใน 20 ปีที่ผ่านมานั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โจทย์ทางการเมืองที่เราต้องตอบจึงมีพัฒนาการและแตกต่างจากเดิม โจทย์ในครั้งนี้นั้นเป็นผลมาจากนโยบายการกระจายอำนาจและกระจายรายได้ที่ส่ง ผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง คือ เกิดคนกลุ่มใหม่ที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ยุกติบอกว่า การกระจายอำนาจได้ทำให้ระบบการเมืองแบบตัวแทนฝังรากลึก การเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นจึงมีความหมายต่อชีวิตของ ประชาชน ขณะเดียวกันการกระจายรายได้และทุนก็ได้สร้าง homegrown entrepreneur หรือนายทุนน้อยที่เติบโตมาจากท้องถิ่น พวกเขากล้าคิด กล้าทำ คนกลุ่มนี้เองที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญในการรวมตัวแนวนอนของขบวนการเคลื่อน ไหวทางการเมืองในปัจจุบัน และบ่งชี้ว่าการเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว โดยตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2553
"ถ้ากลับไปดูที่นิติ ราษฎร์พูดเรื่องมาตรา 112 ช่วงแรกๆ ไม่มีใครสนใจ พูดง่ายๆ ว่ามาตรา 112 ไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมืองก่อนปี 2553 แต่มาเป็นหลังปี 2553 คนที่เห็นว่ามาตรา 112 เป็นปัญหา จึงไม่ได้มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มาจากหลายๆ กลุ่ม ประชาชนตระหนักรู้ ชนชั้นนำก็ตระหนักรู้ ดูการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ก็จะเห็นว่ามีใครต้านบ้าง ทหาร นักการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้าน คนที่อยู่ในแวดวงการเมืองจำนวนมากไม่เห็นด้วย
แสดง ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสี แต่เป็นเพราะผลประโยชน์ของประชาชนไม่สอดคล้องกับการดำรงอยู่ของ ม.112 ในลักษณะที่เป็นอยู่นี้อีกต่อไป" อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาวิเคราะห์
ยุกติ บอกอีกว่า ข้อสังเกตดังกล่าวนำมาสู่อีกหนึ่งคำถามสำคัญของสังคมประชาธิปไตยไทย คือ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง แต่หากต้องการปฏิรูปสังคมไทยให้เข้มแข็งในอนาคต เราย่อมต้องพัฒนาความสามารถในการเปิดใจรับฟังและแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วย ผล
   "การนำสถาบันมาเป็นประเด็นมันมีตั้งแต่ระดับชีวิตประจำวัน จนถึงการป้ายสีในทางการเมืองระดับใหญ่ อย่างน้อยการแก้ 112 ก็ช่วยให้การวิพากษ์ทำได้ชัดเจน พิสูจน์ให้ชัดเจน เพื่อปกป้องมิให้สถาบันกษัตริย์ถูกแอบอ้างไปใช้ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของ บุคคล พร้อมๆ กับทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง"
การปฏิรูปประชาธิปไตยนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมๆ กัน
ต้อง ปฏิรูปการเมืองสร้างเสรีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และไปให้ไกลกว่าเสรีประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปิด โอกาสให้ผู้คนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไปไกลกว่าเรื่องสีเสื้อ
ดังที่ศิโรตม์อ้างถึงหนังสือ ชื่อ "Identity and Violence" ของอมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอินเดียเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี พ.ศ.2541 และให้บทสรุปไว้อย่างน่าสนใจ
   "หนังสือ Identity and Violence บอกว่า ความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน หลายๆ เรื่องรุนแรงโดยไม่จำเป็น เพราะคนคิดว่าตนเป็นพวกนั้นพวกนี้มากเกินไป เสื้อแดงคิดว่าอยู่ตรงข้ามเสื้อเหลือง หรือเสื้อเหลืองต้องตรงข้ามเสื้อแดง ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราควรคิดคือ คนแต่ละคนมีอัตลักษณ์หลายอย่างในตัว คนเสื้อแดงที่ต้องการการปฏิรูปทางเศรษฐกิจก็อาจคิดเหมือนกับคนเสื้อเหลือง ที่ต้องการการกระจายทรัพยากรไปสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมก็ได้ เรามีเฉดของความต้องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เฉดของปฏิรูปทางสังคม"
   "ดังนั้น ความขัดแย้งมันจะไม่รุนแรงเลยถ้าเราเข้าใจว่าคนแต่ละคนมีอัตลักษณ์หลายๆ อย่างที่ซ้อนกันอยู่ในตัวเรา ผมคิดว่าทัศนคติแบบนี้เป็นทัศนคติสำคัญในการที่จะสร้างประชาธิปไตยในสังคม ไทยปัจจุบัน" ศิโรตม์ กล่าวทิ้งท้าย
เป็นบทสรุปจาก 2 นักวิชาการ และ 1 คอลัมนิสต์ เกี่ยวกับความจำเป็นในการ "ปฏิรูปการเมืองเรื่องประชาธิปไตย" ที่น่าสนใจ
เป็น อีกหนึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิสัมมาชีพ ร่วมด้วยบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ในภาวะที่ความขัดแย้งแดง-เหลืองเข้มข้นซึ่งบางคนบอกว่าทางออกนั้น "มืดมน" เหลือเกิน