พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล: การเข้าสู่ตำแหน่ง "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"

ประชาไท 26 สิงหาคม 2555 >>>


สภาพการณ์ของสถาบันกษัตริย์ในช่วงปลายรัชกาล คงหลีกเลี่ยงมิได้ที่จะพิจารณาถึงความจำเป็นต้องมี "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ขึ้น ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนด "เงื่อนไขก่อตั้งเหตุ" ที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ไม่ใช่อำนาจดุลยพินิจในการเลือกที่จะแต่งตั้งผู้สำเร็จฯ หรือไม่ก็ได้) ถึงกระนั้นก็ตาม ความดำริที่จะแต่งตั้ง "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ก็ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมไทยมองข้ามหรือเมินเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงตามกาลสมัยให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บทความนี้ จึงหยิบยก "ประเด็นการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ขึ้นพิจารณาภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญไทย (ปัจจุบัน) ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้ใช้ประกอบการพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อันเป็นการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญ) ของสถาบันการเมืองทั้งปวง ตามครรลองแห่ง "นิติรัฐ-ประชาธิปไตย" อีกด้วย
ผู้เขียนจะอธิบาย "เหตุในการเข้าสู่ตำแหน่ง, การเข้าสู่ตำแหน่ง และการสิ้นสุดลง" ของตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นลำดับโดยสังเขป ดังนี้

ตอนที่ 1 "เหตุ" ในการแต่งตั้ง "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" แบ่งเป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1: กษัตริย์จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม

คำอธิบายประกอบ: จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ หรือ บริหารพระราชภาระ ไม่ได้นั้น มีลักษณะอย่างไร ? ในทางตำรายกตัวอย่างว่า "ทรงพระประชวร" (โดยดู หยุด แสงอุทัย. คู่มือรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร : มงคลการพิมพ์, 2505. หน้า 26.) ลักษณะดังกล่าวต้องถึงขนาดเพียงใด ? เช่น ทรงประชวรมีพระอาการมากซึ่งทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้เป็นเวลาช้านานเกินปกติ หรือ เคลื่อนไหวอิริยาบถของร่างกายไม่สะดวก เป็นต้น (โดยดู ไพโรจน์ ชัยนาม. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม 2 ตอน 1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2495. หน้า 176.)ในทางภาวะวิสัยโดยสภาพเช่นว่านั้น กษัตริย์ย่อมไม่อาจบริหารพระราชภาระได้ เช่น การเข้าสู่ตำแหน่งของ "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" จะต้องถวายสัตย์ต่อกษัตริย์อันเป็นเงื่อนไขในการเข้ารับหน้าที่, การลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายก่อนประกาศใช้ (เช่น เกิดเหตุฉุกเฉินรัฐบาลต้องตราพระราชกำหนด เหล่านี้ต้องมีผู้ลงพระปรมาภิไธย) เป็นต้น เพื่อกิจการของรัฐจะดำเนินสืบเนื่องต่อไปไม่สะดุดชะงักลงโดยเหตุจากตัวบุคคล (พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์กร : ดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องไม่ขาดสาย เพราะเป็นตำแหน่ง)

กรณีที่ 2: พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร

คำอธิบายประกอบ: เนื่องจากพระมหากษัตริย์มีเขตอำนาจในทางพื้นที่-พระมหากษัตริย์เป็นผู้แสดงเจตนาของรัฐ ในการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย : ตำแหน่งประมุขของรัฐจึงต้องการความสืบเนื่อง, เช่นเดียวกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกนอกเขตจังหวัด ก็ต้องแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ ทำหน้าที่รักษาการแทน เป็นต้น

ตอนที่ 2 รัฐธรรมนูญบัญญัติหน้าที่ไว้ดังนี้

ทางที่ 1: ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

คำอธิบายประกอบ: จะทรงแต่งตั้งใครเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ตามพระราชอัธยาศัย (รัชทายาท, พระราชินี, นาย ก. หรือ นาย ข. ก็ได้)

ทางที่ 2: ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งได้

1. ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
2. ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปให้
3. รัฐสภาให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้หนึ่งผู้ใดนั้น

คำอธิบายประกอบ:

ก. คณะองคมนตรี เป็นผู้มีอำนาจตีความว่า ลักษณะเช่นใดที่พระมหากษัตริย์อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถแต่งตั้งใครได้ (ตามทางที่หนึ่ง) กรณีที่ตีความโดยอาศัย "มติของคณะองคมนตรี" ว่า ในสภาวะเช่นว่านั้นพระมหากษัตริย์แต่งตั้งใครไม่ได้แล้ว ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว โดยผลของรัฐธรรมนูญ
ข. คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอรายชื่อใครก็ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (รัชทายาท, พระราชินี, นาย ก. หรือ นาย ข. ก็ได้) และผู้ชี้ขาดคือ รัฐสภาให้ความเห็นชอบ
   ข.1) กรณีรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบรายชื่อดังกล่าว คณะองคมนตรีต้องกลับไปคัดเลือกบุคคลผู้เหมาะสมคนใหม่
   ข.2) กรณีรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ก็ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งบุคคลนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
   ข.3) กรณีได้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้ "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว" กลับมาดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีดังเดิม และผู้รักษาการตำแหน่งประธานองคมนตรี ก็กลับไปเป็นองคมนตรีดังเดิม
ค. หากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยความเห็นชอบของรัฐสภา อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรี ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปชั่วคราวไปพลางก่อน จนกว่าคณะองคมนตรีจะเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมไปยังรัฐสภาเห็นชอบเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่ (ตีความโดยเทียบเคียงกฎหมายลายลักษณ์อักษร ให้นำข้อ ก, ข มาใช้โดยอนุโลม)
ง. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ดำรงตำแหน่งจนกว่า :
   ง.1) พระมหากษัตริย์กลับมายังพระราชอาณาจักร (หรือ)
   ง.2) พระมหากษัตริย์กลับมาสามารถบริหารพระราชภาระได้ (หรือ)
   ง.3) มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

ตอนที่ 3 ผลบังคับตามรัฐธรรมนูญ

ตามที่กล่าวใน ตอนที่ 2 ว่าเมื่อปรากฏ "เหตุ" ในสองกรณี (ดังกล่าวในตอนที่ 1) เป็น "หน้าที่" ของพระมหากษัตริย์ หรือคณะองคมนตรี ในการ "แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" (ในกรณีกษัตริย์ตั้งเอง) หรือ "เสนอรายชื่อไปยังรัฐสภาให้ความเห็นชอบ" (ในกรณีกษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งเองได้)
เมื่อเป็น "หน้าที่" แต่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทำที่ "ขัดรัฐธรรมนูญ" และทำให้ "บทรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวไม่มีผลบังคับ" ในที่สุด กล่าวคือ บุคคลดังกล่าวกำลังละเมิดรัฐธรรมนูญ และอาจกระทำผิดตามกฎหมายอาญา เช่น ปลอมลายเซ็นต์ในเอกสารราชการ (ลงพระปรมาภิไธยปลอม-ลงในกฎหมายก่อนบังคับใช้ หรือตามตัวบทรัฐธรรมนูญเรียกว่า "ร่างพระราชบัญญัติ") เป็นต้น