ศาล รธน. ไม่รับคำร้อง 'ศรีสุข' ส.ว.สรรหา เพิกถอนคำสั่ง กกต.

ไทยรัฐ 2 สิงหาคม 2555 >>>




ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวผ่านเว็บไซต์ ไม่รับคำร้อง “เรืองไกร” ให้ตรวจสอบ 31 ส.ว.- "ศรีสุข" ส.ว.สรรหา ขอให้เพิกถอนคำสั่ง กกต. ...

เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 1 ส.ค. 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวบนเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ถึงผลการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 1 ส.ค. โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จำนวนทั้งหมด 3 คำร้อง คือ
1. คำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ว่าคณะกรรมการสรรหาของสมาชิกวุฒิสภา รวม 6 คน ที่ดำเนินการสรรหา ส.ว. และ ส.ว.สรรหา จำนวน 31 คน เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ไม่เป็นไปตามวิถีทางตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงการร้องว่า กระบวนการสรรหา ส.ว. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคำร้องไมพบว่า มีคำร้องส่วนใดแสดงถึงการใช้สิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 กรณีนี้ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
2. คำร้องของนายเรืองไกร กรณีที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องหรือเป็นพยานในคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาหรือไม่ ศาลพิจารณาเห็นว่า การยื่นคำร้องของนายวิรัตน์เป็นการใช้สิทธิของศาลโดยสุจริต และเรื่องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้ว กรณีนี้จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 68 ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้อง และ
3. คำร้องของ นายศรีสุข รุ่งวิสัย อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา 212 เพื่อเพิกถอนการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และให้ผู้ร้อง ยังคงสมาชิกภาพ ส.ว. ต่อไป หรือไม่นั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องได้ขอให้ศาลวินิจฉัยกรกระทำของ กกต. ตาม พ.รบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงขอให้ศาลเพิกถอนการกระทำดังกล่าว และวินิจฉัยให้ผู้ร้องเป็น ส.ว. ต่อไปนั้น เป็นการขอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระตาม รธน. และขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งที่ไม่ใช่บทบัญญัติของกฎหมาย จึงไม่ใช่กรณีที่ให้ศาลวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเป็นกรณีที่ไม่อาจจะใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นใดได้แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ตามข้อ 21 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย