ฝ่ายค้านระส่ำ ก่อนทำศึกใหญ่

มติชน 19 สิงหาคม 2555 >>>




ศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ในสภาวาระ 2 และ 3 ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงการตีรวน จุกจิก ไร้สาระจะยังมีให้เห็น แต่ก็ไม่ถึงกับดุเดือดเลือดพล่าน ภาพรวมจึงถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานทั้งในส่วนของฝ่ายค้านและรัฐบาล
การอภิปรายของฝ่ายค้านมุ่งไปที่ 3-4 เรื่องหลักๆ คือ การกู้เงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาล เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ที่ทำให้ประเทศต้องแบกภาระหนี้สินสูงขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ
การปรับลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือ 23 ที่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้นับแสนล้าน ขณะที่กลุ่มนายทุนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว
ความไม่โปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณที่อาจกระทบวินัยการเงิน การคลังของประเทศ โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินมากกว่าแสนล้านบาท แต่ถึงมือเกษตรกรแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีแนวโน้มนำไปสู่การทุจริตในระดับปฏิบัติ
รวมถึงงบแก้น้ำท่วม 3.5 แสนล้านที่ไม่มีแผนการใช้จ่ายที่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้การตรวจสอบลึกลงไปในรายละเอียดเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญเกรงจะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้ ส.ส. นำเงินไปลงในพื้นที่ตัวเอง โดยไม่ได้นำไปบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยอย่างแท้จริง
โดยมีการหยิบยกความเคลื่อนไหวของ "ทักษิณ" ตามแผนโลกล้อมไทย ขึ้นมาอภิปรายแซมบ้างนิดหน่อยในส่วนของงบกระทรวงการต่างประเทศ
สรุปแล้วการที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านสภาไปได้โดยไร้เหตุการณ์ความวุ่นวาย ก็เพราะรัฐบาลวาง "เกมรับ" มาดี ใช้ความอดทน อดกลั้นรับมือกับการอภิปรายเป็นต่อยหอยของฝ่ายค้าน โดยไม่ประท้วงตอบโต้จนเกินงาม
สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือการพยายามปล่อยให้ฝ่ายค้านพูดไปเรื่อยๆ มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้างโดยไม่กำหนดกรอบเวลา แต่พออภิปรายเรียงตามมาตราในวาระ 2 จบ รัฐบาลก็ใช้เสียงข้างมากให้เป็นประโยชน์โหวตผ่านวาระ 3 ทันที
กับอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่ค่อยซีเรียสกับศึกงบประมาณหนนี้ เพราะรู้ว่าฝ่ายค้านไม่กล้าตีรวนมาก เพราะต้องกอบกู้ภาพลักษณ์ตัวเองจากที่เสียหายป่นปี้ไปเมื่อครั้งอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในสมัยประชุมสภาที่แล้ว และที่สำคัญฝ่ายค้านยังต้อง "กั๊ก" ข้อมูลบางส่วนไว้ สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือศึกซักฟอก ที่มีเดิมพันทางการเมืองสูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ หรือการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลคือ กลไกอย่างหนึ่งของฝ่ายค้านในสภา ในการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารตามกฎกติกาการ เมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับและเคารพ
ไม่เพียงแต่รัฐบาล พรรคฝ่ายค้านเองก็ต้องยอมรับและเคารพต่อกลไกดังกล่าวเช่นกัน ไม่ว่าผลการทำหน้าที่ตรวจสอบจะออกมาอย่างไร
กระนั้นก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าจากสถานการณ์แวดล้อมทางการเมืองตอนนี้ ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงความได้เปรียบของรัฐบาลที่มีอยู่เหนือฝ่ายค้านแทบทุกมิติ ทั้งในสภาและนอกสภา
ในสภานั้น รัฐบาลเพื่อไทยมีเสถียรภาพมั่นคงแข็งแกร่งด้วยเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วม ที่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาไม่มีพรรคใดแสดงอาการงอแงให้เห็น
ยิ่งไปกว่านั้นฝ่ายค้านบางส่วนโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย กลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ยังแสดงความโอนเอียงเข้าหาพรรคเพื่อไทยจนออกนอกหน้า หรือแม้แต่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ว่าที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนใหม่ บางช่วงบางตอนก็เผยท่าทีที่เป็นมิตรกับฝั่งรัฐบาลเพื่อไทยออกมาให้เห็น เช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม แกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์กลับถูกทิ้งให้ต้องเผชิญกับ "มรสุมกรรมเก่า" ซัดกระหน่ำจนต้องเป็นฝ่ายถอยร่นเสียเอง
กรรมเก่าของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไล่กวดตามหลังมาติดๆ ตอนนี้ เป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากกรณี 98 ศพ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เดือน เม.ย.-พ.ค.2553
ภายใต้ความรับผิดชอบในการคลี่คลายของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในรัฐบาลชุดนี้ คดีได้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันมี 19 ศพที่อยู่ระหว่างการไต่สวนชันสูตรพลิกศพในชั้นศาล รอการวินิจฉัยว่าการตายทั้ง 19 ศพเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
โดยเฉพาะคดีการตายของ นายพัน คำกอง แท็กซี่เสื้อแดง ซึ่งถูกยิงตายหน้าคอนโดฯ ถ.ราชปรารภ ย่านมักกะสัน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เป็นคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีแรกที่ศาลมีคำสั่งเรียก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้มาขึ้นเบิกความวันที่ 21 ส.ค. นี้
นอกจากนี้ ยังมีคดีสำคัญน่าจับตาไม่แพ้กัน กรณีมีผู้ถูกยิงบาดเจ็บ 2 รายในเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2553 เข้าร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในข้อหาพยายามฆ่า
ทั้งนี้ จุดเชื่อมโยงข้อหาดังกล่าว พยานปากสำคัญอยู่ตรงเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ได้รับคำสั่งให้ออกมาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเกิดเหตุ
พนักงานสอบสวนดีเอสไอเตรียมออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดังกล่าวมาให้การภายในเดือน ส.ค. นี้ เพื่อสอบสวนว่าได้รับคำสั่งมาจากใคร
ต้องไม่ลืมว่า นอกจาก 98 ศพแล้ว ในเหตุการณ์การเมืองนองเลือดเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเกือบ 2,000 คน
ในจำนวนนี้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้สั่งการในข้อหาพยายามฆ่า หรือเจตนาทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสได้ทั้งสิ้น
ผลแห่งกรรมเก่าที่กำลังรุกไล่กระชั้นชิด จะกระทบถึงใคร ในรูปแบบใด หนักหน่วงขนาดไหน และจะมีผลต่อการยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาล รวมถึงร่างกฎหมายปรองดองที่ค้างอยู่ในสภาหรือไม่ น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง