ประชาไท 23 สิงหาคม 2555 >>>
การที่ ‘ศาลอาญา’ มีคำสั่งเพิกถอน ‘การปล่อยตัวชั่วคราว’ เฉพาะ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ (นายยศวริศ ชูกล่อม) นั้น ในทางหนึ่งย่อมมองได้ว่าศาลทำงานละเอียด แยกแยะการกระทำของ แกนนำ นปช. แต่ละคนอย่างมีเหตุผล โดยมิได้เหมารวมว่าใครขึ้นเวทีแสดงความเห็นอะไร ก็ผิดเงื่อนไขต้องกลับเข้าคุกทั้งหมด
ส่วนกรณี ‘คุณเจ๋ง’ นั้น ศาลเห็นว่าได้กระทำผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งห้ามการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม อันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ศาลกำหนดเพื่อป้องกันการก่อให้เกิดภัยอันตรายหรือความเสียหาย
คนทั่วไป (รวมถึงตัวผู้เขียน) คงไม่พอใจมาก หากมีคนนำที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของครอบครัวตนไปกล่าวปราศรัยทำนองชักชวนให้ผู้ฟังช่วยไป ‘จัดการ’ ไม่ว่าจะเพื่อติดตามสอบถามหรือรังควาญด้วยเหตุผลใด และย่อมหวังให้กฎหมายต้องเป็นฝ่ายไป ‘จัดการ’ ให้เข็ดหลาบ
แต่หากมองทะลุความรู้สึกให้เข้าไปถึงแก่นของตรรกะ น่าคิดว่า สังคมไทย โดยเฉพาะนักกฎหมายไทย กำลัง ‘มองข้าม’ ความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏจากกรณี ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ หรือไม่ ?
สมมติมี ‘ประชาชนคนหนึ่ง’ ที่ไม่ได้เป็น ‘จำเลย’ ในคดีอาญาและมีอิสระอยู่ตามปกติ แต่มาวันหนึ่ง ประชาชนคนดังกล่าวได้ขึ้นเวทีปราศรัย พร้อมแจกที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของครอบครัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนพูดและทำทุกอย่างเหมือนที่ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ได้ทำไป
ถามว่า ‘ประชาชนคนหนึ่ง’ คนนั้น จะสามารถถูก ‘จับเข้าคุก’ เพราะการพูดและแจกข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินว่าทำผิดได้หรือไม่ (และแม้จะถูกพิพากษาว่าทำผิด โทษก็อาจไม่ถึงขั้นจำคุกเสียด้วยซ้ำ) ?
หากผู้ใดตอบว่า กรณีไม่เหมือนกัน เพราะ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ เป็น ‘จำเลย’ ในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง แถมมีเงื่อนไขการปล่อยตัวผูกมัดไว้ ผู้เขียนก็ขอถามต่อว่า การคิดเช่นนั้นขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ที่ว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด...จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้” หรือไม่ ?
ถามให้ง่ายขึ้น ก็คือ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ในฐานะประชาชนที่ตกเป็น ‘จำเลย’ ในคดีอาญานั้น เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะยังมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคเท่ากันกับ ‘ประชาชนคนทั่วไป’ หรือไม่ ?
หากตอบว่า เสมอภาคเท่ากัน แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัว คำถามก็คือ สาระของ ‘เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว’ ที่ห้าม “ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ...” นั้น มี‘หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์’ มาเป็นฐานในการกำหนดขอบเขตและชั่งวัดอย่างไร และอะไร คือ ‘ภัยอันตรายหรือความเสียหาย’ ที่ทำให้ ‘ประชาชนคนหนึ่ง’ ต้องเข้าคุกทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ?
หรือสังคมไทยพร้อมที่จะยอมรับว่า ศาลสามารถอาศัย ‘ดุลพินิจ’ ตาม ‘สายตา’ และ ‘จิตใจ’ ของผู้พิพากษารายบุคคลเป็นสำคัญ ขอให้พอมีเหตุผล ก็ยอมรับได้ กระนั้นหรือ ?
ผู้เขียนเห็นว่า กรณี ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ทำให้เห็นว่า ‘ศาลอาญา’ กำลังสร้างแนวการตีความกฎหมายที่เป็นปัญหา และสะท้อนถึงความไม่พัฒนาของวงการนิติศาสตร์ไทย ดังที่ผู้เขียนจะขอวิพากษ์ไว้ 3 ขั้น ดังนี้
1. ‘ดุลพินิจ’ ที่ดี ต้องมี ‘หลักเกณฑ์’
ในขั้นแรก ผู้เขียนย้ำว่า ไม่ว่าศาลจะมี ‘เหตุผล’ ในการเพิกถอนการปล่อยตัว ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ที่น่าฟังหรือน่าคล้อยตามเพียงใด แต่หาก ‘เหตุผล’ ที่ว่านั้นเป็นเหตุผลที่ถูกสร้างขึ้นเฉพาะกรณีและไร้ ‘หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์’ ที่เป็นมาตรฐาน ก็เท่ากับว่าระบบกฎหมายไทยยอมรับให้ ศาลมี ‘ดุลพินิจ’ ใช้อำนาจ ‘เลือกเหตุผล’ ได้ตามอำเภอใจ
ผลก็คือ ความยุติธรรมที่ ‘จำเลย’ จะได้รับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘กฎหมาย’ แต่กลับขึ้นอยู่กับ ‘เคราะห์ดวง’ ว่าจำเลยผู้นั้นจะได้องค์คณะผู้พิพากษาที่ใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผลหรือไม่
เป็นต้นว่า หาก ‘คุณเจ๋ง’ เจอผู้พิพากษาที่เข้มงวดเรื่องความเป็นส่วนตัว เข้มงวดในเรื่องครอบครัว ไม่ชอบการแสดงความเห็นทางการเมือง ไม่ชอบการต่อว่าวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะ คุณเจ๋งก็อาจ ‘ดวงกุด’ มิพักต้องพูดถึง ‘ผู้บริหาร’ ของศาลในเวลานั้น เช่น อธิบดีและรองอธิบดีศาล ว่ามีแนวคิด นโยบาย หรืออิทธิพลต่อองค์คณะในคดีอย่างไร
ศาลต่างประเทศเอง เช่น สหรัฐฯ ก็เจอปัญหาลักษณะเดียวกัน และใช้เวลาร่วมร้อยปีเพื่อพัฒนา ‘หลักเกณฑ์’ มาเป็นแนวทางการใช้ดุลพินิจ เช่น การพัฒนาหลัก ‘Clear and Present Danger’ มาสู่หลัก ‘Imminent Lawless Action’ ซึ่งล้วนตีกรอบให้ศาลสหรัฐฯ พิจารณาว่า การแสดงความคิดเห็นใด ถือเป็นการปลุกปั่นยุยงให้เกิดการทำผิดกฎหมายซึ่งรัฐสามารถห้ามหรือลงโทษการแสดงความเห็นนั้นได้
ดังนั้น เมื่อผู้พิพากษาแต่ละคนล้วนเป็นมนุษย์ผู้ไม่อาจละทิ้งอคติและความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวได้ทั้งหมด การทวงถาม ‘หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์’ ที่ศาลไทยจะนำมาใช้เป็นมาตรฐานพิจารณา “การยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ...” เช่น กรณีคุณเจ๋งนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายว่า เหตุผลที่ศาลอาญาอธิบายในการอ่านคำสั่งนั้น ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่จับต้องได้ชัดเจนนัก
2. ‘กฎหมายอาญา’ ต้องอยู่ภายใต้ ‘รัฐธรรมนูญ’
ในขั้นที่สอง ‘การปล่อยตัวชั่วคราว’ เป็น ‘สิทธิตามรัฐธรรมนูญ’ ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 และเกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักกฎหมายสากลที่ว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
ยิ่งไปกว่านั้น กรณีการปราศรัยของ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ นั้น เกี่ยวพันโดยตรงกับ ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’ ซึ่งหากแสดงไปเพื่อตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน เสียดสี หรือต่อต้าน บรรดาผู้ใช้อำนาจรัฐ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะดุดัน หยายคาย หรือน่ารังเกียจเพียงใด ก็อาจมี ‘ความจำเป็นในทางประชาธิปไตย’ ที่กฎหมายต้องไม่เข้าไปข่มกดเช่นกัน
สมควรชมว่าศาลอาญาไทยเอง ก็ไม่ได้มองข้ามประเด็นนี้ เห็นได้จากคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับ ‘คุณจตุพร พรหมพันธุ์’ ที่ศาลอธิบายว่า แม้คุณจตุพรจะปราศรัยเสียดสี และตำหนิตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างหยาบคายและไม่สมควร แต่ก็ไม่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม กระทบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลอื่น และไม่ก่อให้เกิดการคุกคามและการกดดันต่อการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังพอถือได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และติชมการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะรุนแรงไปบ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ที่จะเป็นการผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว
แต่ศาลก็มิได้วางหลักเกณฑ์ที่จับต้องได้ชัด และหากกฎหมายถูกตีความไปในทางที่อิงดุลพินิจศาลจนทำให้ ‘ประชาชนต้องคิดหนัก’ ก่อนจะแสดงความเห็นต่อผู้ที่กำอำนาจรัฐไว้ในมือ ว่าสิ่งที่จะพูดไปนั้น จะทำให้ตนต้องเข้าคุกหรือไม่ ก็จะเป็นการทำให้สิทธิเสรีภาพใช้ได้อย่างลำบาก อีกทั้งเพิ่มต้นทุนในทางประชาธิปไตย สุดท้ายประชาชนทั่วไปก็จะกลัวหรือรู้สึกไม่คุ้มค่า ที่จะมาร่วมติดตาม ต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์ และประชาชนก็ย่อมตกอยู่ในกำมืออำนาจรัฐได้ง่ายยิ่งขึ้น
ผู้เขียนมองว่า วันนี้สังคมไทยยังเคราะห์ดี ที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แม้จะตัดสินคดีไม่ถูกใจทุกคน แต่ก็เป็นคนดีมีคุณธรรมพื้นฐานในระดับหนึ่ง แต่หากวันใดที่สังคมไทยต้องเผชิญกับผู้มีอำนาจที่ทำการชั่วร้าย แต่ประชาชนกลับกลัวการถูกจับเข้าคุกเพราะการแสดงความเห็นเสียแล้ว สังคมไทยก็จะอ่อนแอ และสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยไปในที่สุด
ที่น่าวิตกก็คือ เหตุผลที่ศาลอาญาอธิบายในการอ่านคำสั่งไปนั้น ไม่ได้มีการวิเคราะห์แง่มุมในทางรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดแต่อย่างใด ว่าการตีความกฎหมายเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น จะเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ในลักษณะที่เกินความจำเป็นและไม่สมสัดส่วนหรือไม่ ?
3. ศาลไทยต้องพัฒนา ‘หลักเกณฑ์’ เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ตามมาตรา 108 ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
หากพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนที่ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวนั้น จะพบว่า มาตรา 108 ได้ให้ศาลมีอำนาจกำหนด “เงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี...ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว...”
บทบัญญัติที่กว้างเช่นนี้ ย่อมทำให้มีผู้หลงคิดว่า ศาลจะกำหนดเงื่อนไขและบังคับตีความการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่เป็นไปเพื่อป้องกัน “ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว”
ความคิดดังกล่าวเกรงว่าอาจหยาบและง่ายเกินไป ผู้เขียนเสนอว่าศาลไทยควรพัฒนาการตีความเงื่อนไขตาม มาตรา 108 ให้อยู่ในขอบเขตที่เชื่อมโยงกับเหตุไม่ให้ปล่อยตัวชั่วตราวตาม มาตรา 108/1 เช่น ปัญหาการหลบหนี การยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน การก่อเหตุอันตราย หรือก่อเกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ สาระของเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว มิได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ ‘จำเลย’ เป็นคนดี หรือไม่ทำความผิดใดๆ ตรงกันข้าม อำนาจของศาลในการกำหนดและบังคับเงื่อนไขตาม มาตรา 108 จะต้องเป็นเหตุจำเป็นเพื่อป้องกัน “ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว” อันเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีที่ผู้ถูกปล่อยตัวตกเป็น ‘จำเลย’ ตามความมุ่งหมายของ มาตรา 108/1 เท่านั้น
ดังนั้น หากพิจารณาจาก ‘หลักเกณฑ์’ ที่นำเสนอมานี้ จะเห็นได้ว่า การกระทำของ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ซึ่งอาจละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของครอบครัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ดี กดดันตุลาการก็ดี หรือยุยงปลุกปั่นให้มีการไปรังควาญหรือทำสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ดี ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับคดีการก่อการร้ายที่คุณเจ๋ง ตกเป็นจำเลยอยู่แต่เดิม ศาลจึงไม่ควรมีอำนาจตีความให้การกระทำของคุณเจ๋งซึ่งแยกออกจากกัน กลายเป็นเหตุให้ต้องกลับมาเข้าคุกในฐานะจำเลยในคดีการก่อการร้ายได้ (ทั้งนี้ หากตุลาการ หรือ ครอบครัวตุลาการ จะติดใจดำเนินคดี ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ก็เป็นสิทธิที่ผู้เสียหายดำเนินการได้ แต่กฎหมายต้องแยกกรณีออกจากกัน)
สาเหตุที่ผู้เขียนเสนอ ‘หลักเกณฑ์’ เช่นนี้ ย่อมโยงกลับไปที่ข้อพิจารณาสองขั้นแรกที่กล่าวมา โดยเฉพาะเมื่อการจำกัด ‘สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ’ ถูกกฎหมายเปิดช่องให้ถูกตีความได้อย่างกว้างขวาง ศาลจึงมีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการพัฒนา ‘หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์’ เพื่อทำให้บทบัญญัติที่กว้าง สามารถนำมาใช้ได้อย่างสมสัดส่วน เป็นมาตรฐาน และเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
มิเช่นนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ที่ว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด...จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้” ก็จะไร้ความหมาย เพราะเท่ากับ ‘จำเลย’ ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว กลับตกใต้ตราบาปที่ทำให้ต้องจำคุกได้ง่ายยิ่งกว่าประชาชนคนธรรมดาทั่วไป แม้การกระทำนั้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อหาในคดีเดิมก็ตาม
ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้เขียนจึงมองว่า การที่ศาลอาญา ‘ปรับเพิ่ม’ เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของ ‘จำเลย’ บางราย ให้กินความกว้างไปถึงการห้ามดูหมิ่นให้กระทบต่อ ‘เกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัว’ ของบุคคลอื่น หรือ ‘ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ นั้น ยิ่งเป็นการใช้อำนาจตุลาการที่เกินเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของ ‘จำเลย’ ประหนึ่งมองว่าเป็นมนุษย์ที่มีความชั่วช้ามาแต่เดิม และควรมีเงื่อนไขให้ถูกจับเข้าคุกได้เสียง่ายๆ ทั้งที่มนุษย์ทั่วไปในสังคม ที่กระทำการกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กลับถูกปล่อยให้ลอยนวลอยู่ถมไป