สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาเปิดงานวิจัย ระบุคนไทยชัดแย้งการเมือง เหตุสัญญาประชาคมฉบับเก่า 'เสื่อม' แนะทุกฝ่าย ยอมเสี่ยง สร้างข้อตกลงใหม่ เรียกความไว้วางใจกันกลับคืน
เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดการประชุมสัมมนา “เราจะเจรจาสัญญาประชาคมฉบับใหม่อย่างไร แนวทางเพื่อหลุดพ้นจากวิกฤติการเปลี่ยนผ่าน” โดยมีการนำเสนอรายงาน สัญญาประชาคมใหม่ทางออกจากความขัดแย้งช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองของไทย โดย ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล จากสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงพลวัตของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองว่า ทุกๆการเปลี่ยนผ่านทางสังคมการเมืองจะเกิดขึ้นในลักษณะที่สังคมการเมืองเผชิญกับความแตกแยกร้าวลึกกินวงกว้างระดับประเทศ มีกลุ่มความคิดทางการเมืองสองกลุ่มที่ไม่สามารถเห็นพ้องต้องกันได้ในประเด็นพื้นฐานทางการเมืองปกติที่มีอยู่ เช่น การตัดสินโดยเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา
ในขณะเดียวกันก็มีการใช้วิธีการต่างๆเพื่อกำราบฝ่ายที่ได้ชัยชนะ เช่น การเดินขบวนเคลื่อนไหวมวลชน หรือแทรกแซงทางการเมืองรูปแบบอื่น เป็นต้น
“ในสถานการณ์ปัจจุบันฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายเสื้อแดงนั้นมีความคิดกันคนละแบบ ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดอ่อน โดยแนวคิดของเสื้อเหลือง มีลักษณะคล้าย รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แม้จะมีเสรีภาพแต่อำนาจการตรวจสอบไม่ได้อยู่ที่ประชาชน ในขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงในระดับหนึ่งคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้เสรีนิยมหายไปโดยมีประชาธิปไตยเข้ามาแทรกแซง ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า ประชาธิปไตยขณะนี้เป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรีและไม่มีประชาชนอยู่ร่วมด้วย”
ดร.ชาญชัย กล่าวต่อว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้บ่งชี้ว่า สัญญาประชาคมที่เคยกำกับความสัมพันธ์ของแต่ละฝ่ายนั้นในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถใช้การได้ และจำเป็นต้องมีการสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้สึกถึงความมั่นคงแน่นอนและคาดการณ์ได้ระดับหนึ่งว่า ใครควรทำอะไร มีขอบเขตเพียงใด หรือใครควรตอบสนองใครในเรื่องใดเพียงใด โดยอาศัยเวทีร่วมที่เป็นพื้นที่กลาง ซึ่งมีทั้งอำนาจหน้าที่ ที่ชอบธรรมพียงพอที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบและลักษณะการอยู่ร่วมกันของเราทุกฝ่ายในอนาคต และเป็นพื้นที่ที่รวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายที่ต้องการคงสภาพเดิมหรือฝ่ายอื่นๆ ด้วย โดยไม่มีการครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเสนอวาระเนื้อหาของตนเองได้เต็มที่
“สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องทำ คือ การฟื้นฟูและสร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่ให้ได้ โดยแต่ละฝ่ายจำเป็นจะต้อง ยอมเสี่ยง เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ชนิดใหม่กับผู้ที่เลิกไว้วางใจไปแล้ว" ดร.ชาญชัย กล่าว และว่า แม้กระบวนการดังกล่าวนี้ไม่ง่าย เต็มไปด้วยอุปสรรคและอาจถูก “ป่วน” ได้ตลอดเวลา จากการขัดแย้งกันในเชิงสิทธิอำนาจ และผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องอาศัยเวลาและความอดทนมุ่งมั่น และประคับประคองกระบวนการทั้งหมดนี้ให้เป็นไปอย่างสืบเนื่อง”
ขณะที่ รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับสัญญาประชาคมว่า การที่คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในเรื่องหนึ่งเรื่องใด นั่นเสมือนว่า เรามีคำสัญญาว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้ ในกรอบดังกล่าว โดยอาจจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
"สำหรับประเทศไทยแล้ว คำว่าสัญญาประชาคมในความหมายของตะวันตก เราไม่ได้ให้ความสำคัญกันมาก แต่เราก็อยู่กันได้ในประวัติศาสตร์มา 700 กว่าปีแล้ว นั่นคือที่ผ่านมาเรามีอะไรบางอย่างที่สามารถยึดเหนี่ยวสังคมนี้ร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้แปลว่า เราไม่มีปัญหา โดยมองว่าขณะนี้เรามัวแต่ทะเลาะกันมากเกินไป และมีความเสี่ยงที่จะเข่นฆ่ากันอีก ทั้งในถนนของกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนว่าความแน่นแฟ้นกลมเกลียวกันในสังคมของเราขณะนี้เปราะบางมาก"
นักสันติวิธี กล่าวถึงสังคมขณะนี้มองเห็นแต่ความแตกต่าง และมองข้ามสิ่งที่คิดเหมือนกัน เช่น ไม่มีใครเถียง คำว่า “ประชาธิปไตย” แต่เราเถียงกันในรายละเอียด เช่นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งไม่ดีชวนให้คนทะเลาะกัน ซึ่งในลักษณะเช่นนี้ก็ต้องมาคุยกัน เพื่อสร้างข้อตกลงภายใต้กรอบประชาธิปไตย โดยตัดความระแวงกันว่า ฝ่ายหนึ่งจะล้มล้างประชาธิปไตย หรือล้มเจ้า
ทั้งนี้ รศ.ดร.โคทม กล่าวถึงงานงานวิจัยของ ดร.ชาญชัยด้วยว่า จะมีการนำไปเผยแพร่ต่อ พร้อมจะสร้างพลังในทางปฏิบัติที่จะมาช่วยสนับสนุนแนวคิดที่จะสร้างประชาคมใหม่ แนวคิดที่จะเห็นร่วมและผลักดันให้เกิดเพื่อที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งที่รุนแรงไปได้
เมื่อถามถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้นั้น รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า ต้องเริ่มในทางความคิดผ่านนักวิชาการ ต่อมาคือเริ่มในทางปฏิบัติบางอย่างผ่านนักกิจกรรม โดยอาศัยสื่อมวลชนในการช่วยสร้างกระแสในสังคม ที่จะช่วยนำไปสู่การมีปณิธานทางการเมือง โดยผ่านกระบวนการจัดเสวนาในระดับรากหญ้าว่า อะไรที่เราเห็นพ้องกันในหลักการสำคัญ เพื่อให้เห็นภาพอนาคตที่พึงปรารถนาของสังคม ขณะเดียวกันคนข้างบนระดับผู้นำก็ต้องมาทำความเข้าใจกับปัญหาที่ค้างอยู่ ที่ทำให้บรรยากาศของความเข้าใจกันไม่เกิดขึ้นจนกลายเป็นบรรยากาศของความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ เอาเปรียบ มีการแข่งขันกันตลอดเวลา ซึ่งถ้ามีการพูดคุยกันทั้งสองระดับแล้วก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเห็นพ้องกันได้ และทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า สัญญาประชาคมใหม่