ทีมข่าว นปช.
12 สิงหาคม 2555
อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และ พีระ ลิ้มเจริญ ร่วมออกรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2555
อ.ธิดา เล่าว่า ปชป. ครอบงำ ก.ศึกษาธิการ มานาน ที่ผ่านมาเคยปฏิรูป ก.ศึกษาธิการ แต่ก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง อาจารย์ไม่ได้สนใจตำแหน่งในอนุกรรมการฯดังกล่าว เนื่องจากในเร็วๆนี้เตรียมจะเปิดโรงเรียน นปช.
อ.ธิดา แฉว่า แผนการปฏิรูปของ ปชป. ในขณะนั้นต้องการจะยกเลิกอาชีวะ ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องทำ นอกจากนี้อำมาตย์ยังพยายามผูกขาดอำนาจในกระทรวงต่างๆ ด้วยการตั้ง "คณะกรรมการ" ของแต่ละกระทรวง จนทำให้นักการเมืองไม่สามารถสั่งงานข้าราชการได้
ทุกวันนี้สภาการศึกษามีลักษณะคล้ายสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคือ แทบไม่มีอำนาจอะไรเลย เพราะมีคณะกรรมการชุดต่างๆมากมาย สภาการศึกษาจึงทำหน้าที่เพียงเสนอความเห็นเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการเหล่านั้นอาจไม่จำเป็นต้องเชื่อก็ได้
อ.ธิดา เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องปฏิรูป ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ไทยหลายอย่างไม่สามารถเขียนความจริงทั้งหมดได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงส่วนใหญ่เป็นพวก "อนุรักษ์นิยมในระบอบอำมาตย์"
หลายครั้งคณะกรรมการเหล่านี้ก็ทำการบางอย่างเองทั้งที่ไม่มีอำนาจ โดยที่รัฐมนตรีของกระทรวงไม่รู้เรื่องหรือไม่สนใจ จึงทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้กลายเป็นผู้กุมอำนาจในกระทรวงแทนรัฐมนตรี
ทุกวันนี้คุณภาพการศึกษาไทยมีแต่ลดลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่างที่ตนเองกลับมาเป็นอาจารย์อีกครั้งหลังออกจากป่าจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า นักศึกษายุคใหม่มีคุณภาพการศึกษาลดลงอย่างมาก เพราะไม่สามารถจับประเด็นการสอนของตนเองได้
ที่ผ่านมานักเรียนสอบตก O-Net และ A-Net จำนวนมาก ซึ่งไม่เชื่อว่าจะเกิดจากนักเรียนอย่างเดียว แต่น่าจะเกิดจากระบวนการศึกษาทั้งหมด หลังสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาเขียนแผนเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 ให้กับประเทศไทย และรัฐบาลได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ระบอบทุนนิยม แต่กลับให้ความสนใจต่อระบบการศึกษาน้อย
ที่ญี่ปุ่นครูเป็นบุคคลากรที่สำคัญมาก และเป็นผู้ที่ผลักดันแนวคิดที่ก้าวหน้าของประเทศญี่ปุ่น ต่างจากประเทศไทยที่ในยุคสงครามเย็น ก.ศึกษาธิการ ถูกปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์นิยมเพื่อต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ จนส่งผลมาถึงทุกวันนี้
โรงเรียนสาธิตต่างๆเป็นตัวอย่างของการศึกษาแบบ "เสรีนิยม" เพราะครู-นักเรียนมีความเป็นกันเองมากจนทำให้ผลการศึกษาออกมาดี ต่างจากโรงเรียนทั่วไปที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยมจนทำให้ครู-นักเรียนเกิดความเหินห่าง
(รับชมรายการย้อนหลัง: สถานี นปช.)