'อัมสเตอร์ดัม' ออกจดหมายเปิดผนึกโต้ ผบ.ทบ.

กรุงเทพธุรกิจ 21 สิงหาคม 2555 >>>


"อัมสเตอร์ดัม" ออกจดหมายเปิดผนึกตอบโต้ "ประยุทธ์" ยันไม่แปลกใจที่ถูกฟ้อง อ้างนานแล้วกลุ่มอำนาจใช้ตุลาการปิดปากฝั่งตรงข้าม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ผ่านทางเว็บไซต์ของเขา  แม้ว่าข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งความดำเนินคดีอาญาหมิ่นประมาทต่อตน และล่ามอาจทำให้หลายคนรู้สึกตกตะลึง แต่สำหรับตนแล้วข่าวนี้ไม่ใช้เรื่องน่าแปลกประหลาดเลย เป็นเวลานานที่กลุ่มบุคคลซึ่งหวาดกลัวในระบอบประชาธิปไตยและความจริงในประเทศไทยใช้ระบบตุลาการเป็นเครื่องมือปิดปากและข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม
อย่างไรก็ตาม บทบาทการทำงานของตนในนามของเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์มีความสำคัญมากและไม่ทำให้ผมรู้สึกกลัว พล.อ.ประยุทธ์ และพวกพ้องของท่านในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรเข้าใจผิด ตนยังคงยืนกรานมุ่งมั่นเพื่อนำผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ปี 2553 มารับผิดทางกฎหมาย
หลังจากอ่านคำสัมภาษณ์ของท่านล่าสุดตามหน้าสื่อมวลชน ตนรู้สึกประหลาดใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าต้องการ “ปกป้องชื่อเสียงของทุกคนในกองทัพ” ตนขอพูดว่า เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในกองทัพเป็นชายหนุ่มซึ่งมีเกียรติ มีความซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ทหารบางนายต้องเสี่ยงชีวิตตนเองระหว่างการปฏิงานในภาคใต้และที่อื่นๆทุกวัน แน่นอนว่าชื่อเสียงของพวกเขามีคุณค่าและควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง
นายอัมสเตอร์ดัม ระบุด้วยว่า คำถามของตนถึง พล.อ.ประยุทธ์ คือ ใครคือผู้รับผิดชอบต่อการทำลายชื่อเสียงของทหารผู้มีเกียรติและรักชาติหลายพันนายในกองทัพไทย ? ตนขอบอกท่านว่าชื่อเสียงของชายหนุ่มเหล่านี้แปดเปื้อนอย่างมาก มิใช่เพราะคำพูดของกลุ่มบุคคลที่ต้องการนำตัวผู้บังคับบัญชาของพวกเขามารับผิดทางกฎหมาย แต่เกิดจากการกระทำของผู้บังคับบัญชาของพวกเขาในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเสวยสุขจากระบบการทำผิดแล้วลอยนวล ตลอดระยะเวลาดังกล่ว รวมถึงคำสั่งให้ใช้พลซุ่มยิงและพลแม่นปืนยิงพลเรือน เนื่องจากตนให้ความเคารพต่อทหารไทยอย่างมาก ดังนั้นตนจึงไม่พอใจที่พล.อ.ประยุทธ์พยายามจะใช้ทหารเหล่านี้เป็นเกราะกำบังเพื่อปกป้องระบบการทำผิดแล้วลอยนวลและผู้มีอำนาจ
   "หากท่านจริงจังในการปกป้องชื่อเสียงของทหาร ท่านไม่ควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในดำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหาข้ออ้างให้กับพฤติกรรมการกระทำอาชญากรรม แต่ควรสร้างกองทัพไทยให้เป็นสถาบันที่บุคคลซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับผิดทางกฎหมาย และขั้นตอนแรกที่จะเป็นประโยชน์คือ ปล่อยให้มีการสอบสวนอย่างเหมาะสม โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงสถานะของผู้กระทำความผิด และพนักงานสอบสวนนั้นจะต้องไม่ถูกขู่เข็ญให้ “ขอโทษ” ท่าน เพราะการทำงานของเขา การสอบสวนที่เปิดเผยและโปร่งใสควรจะรวมถึงการค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตของเหล่าทหารที่คอกวัวและที่อื่น แน่นอนว่าท่านคงไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะนำความยุติธรรมมาให้กับครอบครัวทหารซึ่งเสียชีวิตในปี 2553 เหมือนเช่นเหยื่อทุกคน ใช่หรือไม่ ?"