ประชาติธุรกิจ 16 สิงหาคม 2555 >>>
ทันทีที่สภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุม ก็เกิดประดาบ ระหว่างตัวแทนของตัวจริง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อ้างอิงเอกสาร "ฉบับจริง"
ว่าด้วยคดี "ฆ่าตัดตอน" ยุคถุงมือกำมะหยี่ และกำปั้นเหล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในนโยบาย "ประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด"
ฝ่ายค้านอภิปรายว่า นโยบายดังกล่าวเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการ "ฆ่าตัดตอน" มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นเกือบ 3 พันศพ ในช่วงเวลาแค่ 3 เดือน "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทน ตอบข้ออภิปรายปฏิเสธแทนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และแทนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ในวันที่ 30 มิถุนายนว่า
"การแก้ปัญหายาเสพติดทำได้ผลมากที่สุดสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วก็มีคนตาย 2,500 คน ก็ถูกกล่าวหาว่าฆ่าตัดตอน ในความเป็นจริงแล้วหลังการปฏิวัติมีการตรวจสอบเรื่องนี้ถึงสองครั้ง ท่านอาจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ก็เป็นประธานตรวจสอบ ยืนยันว่าไม่มีการฆ่าตัดตอน"
17 วันหลังจากนั้น "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็สำทับคำพูดนั้นอีกครั้งว่า "ยืนยันในสิ่งที่ผมเข้าใจว่ามีการตายจริง แต่รัฐบาลไม่ได้สั่ง และ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร. ได้สอบสวนแล้วทำรายงานผลการสอบสวนมาเสนอผมว่าไม่มีการฆ่าตัดตอน"
การประดาบ ประชันฝีปากระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิม กับนายอภิสิทธิ์ มีการอ้างถึงเอกสารลับที่ ดร.คณิต ณ นคร ส่งถึง ร.ต.อ.เฉลิม ด้วยเอกสารลับที่ถูกทำเป็นรายงานการศึกษาเบื้องต้นของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน" หรือ "คตน."
เอกสารดังกล่าวลงนามโดย "ดร.คณิต ณ นคร" ในฐานะอดีตประธาน "คตน." ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ถึง "ร.ต.อ.เฉลิม" ใจความว่า
"ข้าพเจ้าใคร่ขอเรียนต่อท่านว่า "รายงานการศึกษาเบื้องต้น" ของ คตน. นั้น คตน. ได้ระบุไว้ชัดว่า ในนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นของ คตน. กรณีน่าเชื่อว่า "ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" (Crime against Humanity) ได้เกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติด และการนำนโยบายไปปฏิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการนี้เป็นจำนวนมาก"
"ในทางวิชาการแล้ว การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่างหรือระดับปฏิบัติ ที่น่าเชื่อว่าทำให้เกิดการตายของคนจำนวนมากนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐโดยแท้เท่านั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างหรือในระดับปฏิบัติจึงไม่ใช่การกระทำอัน ถือว่าเป็นการกระทำของตนเอง หากแต่เป็นการกระทำอย่างเป็นการกระทำของผู้อื่น"
"เหตุนี้ในทางวิชาการจึงอาจถือว่าผู้อยู่ "เบื้องหลัง" ต่างหากที่เป็นผู้กระทำความผิด ในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่างหรือปฏิบัตินั้น เป็นเพียง "ผู้สนับสนุน" การกระทำความผิดของผู้อื่นในฐานความผิดดังกล่าวเท่านั้น"
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่เป็นผู้ได้วางนโยบายและสั่งการตามขั้นตอนโดยขาดความรอบคอบ ทั้งไม่มีการตรวจสอบใด ๆ และผลปฏิบัติเกิดการสูญเสียชีวิตและการสูญหายของบุคคลเป็นจำนวนมากต่างหาก ที่เป็น "ผู้กระทำความผิด" หนังสือระบุ นอกจากนี้ในหนังสือชี้แจงของ "ดร.คณิต" ยังระบุถึงสิ่งที่ค้นพบ และข้อเสนอแนะ 4 ประเด็น
1. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้นโยบายแข็งกร้าว เป็นที่ทราบกันว่าเป็น "การประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด" กระบวนการมอบนโยบายของผู้บริหารประเทศเป็นไปในทิศทางที่สร้างความเข้าใจผิด ให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ว่า ตนมีอำนาจที่ที่จะจัดการทุกรูปแบบเพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไป และหากผู้ปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายได้ ย่อมต้องได้รับผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
2. เมื่อผู้ปฏิบัติ ตามนโยบายมีความจำเป็นต้องดำเนินการ ไม่ว่าเพราะการถูกจูงใจหรือถูกบีบบังคับ เป็นผลให้วิธีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเกิดความผิดพลาดด้วย จึงเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายการปราบปรามยาเสพติดก่อให้เกิดผลหลายประการ และที่เห็นชัดที่สุดคือการสูญเสียชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมากในช่วงระยะ เวลาแค่ 3 เดือน
3. ผลผิดพลาดดังกล่าวทำให้ประเทศไทยต้องตกเป็นที่ วิพากษ์ของประชาคมโลก เป็นเหตุให้รัฐบาลไทยถูกเรียกร้องให้มีการไต่สวนหาผู้รับผิดชอบต่อผลที่เกิด ขึ้น
4. คตน. เห็นว่าอาจมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความรับผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้น ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แต่การจะหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จ จริงเพิ่มเติมต่อไปอีก
แม้ คตน. ของ "ดร.คณิต ณ นคร" จะไม่ได้รับการสานต่อจนเสร็จสิ้นภารกิจ เพราะรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มี "สมัคร สุนทรเวช" เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต่ออายุคณะกรรมการอิสระชุดนี้ แต่เมื่อศาลอาญาได้พิพากษาประหารชีวิตดาบตำรวจ 3 นาย สั่งจำคุก 2 นาย และยกฟ้อง 1 นาย กรณีที่นำตัว นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี
ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ ไปฆ่าแขวนคอในช่วงที่รัฐบาลทักษิณประกาศนโยบายแตกหักกับยาเสพติด ซึ่งเป็น 1 ในกรณีที่ถูกจัดเป็นคดี "ฆ่าตัดตอน" และเมื่อ "พรรคประชาธิปัตย์" ได้หนังสือชี้แจงถึง "ร.ต.อ.เฉลิม" ของ "ดร.คณิต" มาอยู่ในมือ คดี "ฆ่าตัดตอน" จึงถูก "พรรคสีฟ้า" นำมาปัดฝุ่นขึ้นอีกครั้ง
"พรรคประชาธิปัตย์" มอบหมายให้ "กษิต ภิรมย์" อดีต รมว.ต่างประเทศ เดินทางไปกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ยื่นเรื่องดังกล่าวสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน "พรรคประชาธิปัตย์" ตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมคดีฆ่าตัดตอนทั้งหมด และยังให้ญาติของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับพรรค
แต่การเดินทางไปกรุงเฮก ของ "กษิต" ก็เป็นเหมือนการเดินย่ำรอยเท้า "ธิดา ถาวรเศรษฐ-น.พ.เหวง โตจิราการ" แกนนำคนเสื้อแดง "สุนัย จุลพงศธร" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ ที่เดินทางไปยื่นคดี 98 ศพ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
คดีการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 รวม 98 ศพ ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับคดี "ฆ่าตัดตอน" ที่ปรากฏในแฟ้มของ คตน.ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนตั้งแต่กุมภาพันธ์-เมษายน 2546 มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น 2,604 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,873 คน
ปลายทางทั้ง 2 คดี ถูกนำไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศเหมือนกัน แต่คนที่ถูกกาหัวว่าเป็นจำเลยต่างกัน
คนหนึ่งคือ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เพราะเป็นต้นคิดนโยบาย "ประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด"
อีกคนหนึ่งคือ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกฯ ผู้ลงนามคำสั่งในการปฏิบัติการ "กระชับพื้นที่" ในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อกลางปี 2553
ที่สุดแล้วคือเกมที่ "พรรคประชาธิปัตย์" พลิกเกม "พรรคเพื่อไทย" และ "พ.ต.ท.ทักษิณ" จากที่เป็นจำเลยในคดี 98 ศพ มาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีฆ่าตัดตอน ต้องดูว่าสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์จะพลิกเกมสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นผู้ชี้ชะตา