'เต้น' โวเสนอโค่นยาง 6 แสนไร่ทำราคาเพิ่ม

คมชัดลึก 17 สิงหาคม 2555 >>>




'ณัฐวุฒิ' แจ้งมติ 'ไอทีอาร์ซี' เสนอโค่นต้นยางพาราเพิ่มกว่า 6 แสนไร่ แก้ราคาตกต่ำ โวหลังคลอดมาตรการทำราคาเพิ่ม 1 บาท ชง ครม. ขอ 1.5 หมื่นล้าน

17 ส.ค. 55 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโบยายยางธรรมชาติ (กนย.) ว่า ที่ประชุม กนย. รับทราบมติที่ประชุมไตรภาคีสภายางพารา(ไอทีอาร์ซี) ที่ประกอบด้วยรัฐบาล 3 ประเทศ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อสรุปสถานการณ์ราคายางที่ตกต่ำ และกระทบต่อเกษตรกรทั้ง 3 ประเทศ จึงมีการกำหนดมาตรการลดปริมาณการส่งออกยางพาราให้ได้ 3 แสนตัน ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกและปริมาณการส่งออกมามากที่สุด จะรับผิดชอบในสัดส่วนที่สูงกว่าคือ 45-50 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาจะเป็นอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทั้งนี้ในส่วนของการส่งเสริมให้มีการโค่นต้นยางเพิ่ม เพื่อลดปริมาณการผลิต มติจากที่ประชุมไอทีอาร์ซีให้ 3 ประเทศโค่นต้นยาง 625,000 ไร่ จะลดผผลิตยางลงมาเหลือ 150,000 ไร่ จะมีผลให้ยางพาราหายจากตลาด 450,000 ไร่
ทั้งนี้ประชาชนอย่าตื่นตกใจกับมาตรการให้โค่นยางทิ้ง เพราะการโค่นยางที่มีอายุมาก เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว จากเดิมประเทศไทยมีการโค่นปีละ 3 แสนไร่ แต่เกษตรกรโค่นจริงประมาณ 250,000 ไร่ จะเป็นสัดส่วนที่ไทยโค่นทิ้งจากเดิมไม่มาก มาตรการเหล่านี้ที่ประชุมไอพีอาร์ซีเห็นชอบพร้อมด้วยบริษัทร่วมทุน 3 ประเทศ คือ เออร์โก้ ได้มีการแถลงการณ์ออกไปยังสื่อมวลชนทั่วโลกแล้ว ตนได้สั่งการให้เชิญผู้ประกอบการส่งออกยางพาราของไทยมาหารือกันในวันที่ 24ส.ค.เพื่อรับทราบและชี้แจงมาตรการ สถานะการดำเนินการธุรกิจแต่ละราย จากนั้นวันที่ 29ส.ค.ที่ ไอทีอาร์ซีจะประชุมอีกครั้งที่อินโดนีเซีย เพื่อสรุปความคืบหน้าตามข้อตกลงดังกล่าว ทั้งนี้หากทำให้ราคาขยับตัวสูงขึ้น ก็จะรักษามาตรการนี้ไว้ แต่หากสถานการณ์ราคาไม่สูงขึ้นต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการขึ้นไปอีก แต่หลังจากที่มีมาตรการดังกล่าวออกไปทำให้ราคายางขยับขึ้น 1 บาทเศษ
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวคิดการนำยางพารามาแปรรูปเพิ่มมูลค่านั้น ตนได้หารือในที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจว่ายางพาราสามารภนำไปผลิตเป็นยางมะตอยลาดถนนได้ ซึ่ง รมว.คมนาคม ได้ให้ความสนใจ และจะจัดเวทีหารือร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยยางกับกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท หากแนวทางนี้ทุกฝ่ายรับได้ อาจจะเป็นอีกทางที่ทำให้เกิดการบริโภคยางในประเทศมากขึ้น ส่วนที่จะของบประมาณเพิ่มในการซื้อยางนั้นได้มีการหารือในที่ประชุม กยน. และจะเสนอ ครม. ในวันอังคารนี้เพื่อขออนุมัติกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจาก ธกส. อีก 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ถ้าถึงเวลาต้องใช้ก็เบิกสินเชื่อ ธกส. ตามจริง หากยังไม่ใช้ก็อยู่ที่ธกส.ทั้งนี้หากฝ่ายค้านโจมตีเรื่องดังกล่าวตนยินดีให้ตรวจสอบโดยละเอียด ยืนยันทำทุกอย่างโปร่งใสและการรักษาเสถียรภาพราคายางโดยการรับซื้อในราคานำตลาดเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านช่วงเป็นรัฐบาลดำเนินการมาแล้วและการโค่นยางก็เคยดำเนินการมา เพียงต่วันนี้สถานการณ์เท่านั้นที่แตกต่าง วิธีการก็เคยทำมาแล้ว 

'ณัฐวุฒิ' ชี้ 'ผบ.ทบ.' อัด 'ดีเอสไอ' แค่ปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชา

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกมาติติงผลการสอบสวนคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ชี้การเสียชีวิตหลายศพเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า การพูดเพื่อปกป้ององค์กรของตัวเองเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะขณะนี้คดีความต่างๆยังไม่ถึงที่สุด ศาลยุติธรรมยังไม่คำตัดสิน ฉะนั้นทุกฝ่ายก็ต้องใช้ความระมัดระวัง ฝ่ายที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนก็ต้องละเอียดอ่อนในการให้ข้อมูล ส่วนฝ่ายที่ถูกกล่าวหา หรือผู้เสียหายก็ต้องรอบคอบในการแสดงความเห็น เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าได้ต่อไป โดยไม่มีคำครหา เพราะความจริงเป็นอย่างไรก็หนีไม่พ้น ใครเป็นบงการ ใครเป็นคนสั่งการทหาร ซึ่งขณะนี้เรื่องทั้งหมดกำลังเดินเข้าใกล้คนพวกนั้นเข้าไปทุกที
เเกนนำ นปช. กล่าวอีกว่า ล่าสุดทราบว่าวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้ออกหมายเรียกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เป็น 2 คนสำคัญที่มีพยานหลายปากชี้ว่าเป็นคำสั่งการให้ทหารออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมขึ้นให้การในชั้นศาล เมื่อถึงขั้นตอนนั้นก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าอย่างชัดเจนในคดีนี้ ดังนั้นทุกฝ่ายทุกฝ่ายต้องละเอียดรอบคอบในการแสดงความเห็น ขณะนี้รอดูว่าจะให้ปากคำต่อศาลอย่างไร และศาลจะมีคำวินิจฉัยสั่งการอย่างไร
เมื่อถามว่าความเห็น ผบ.ทบ. ออกมาค่อนข้างรุนแรงจะเป็นการกดดันการทำงานของดีเอสไอ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ดีเอสไอ คงไม่กดดัน เพราะการทำคดีแบบนี้ต้องรู้ว่าจะต้องเจอแรงเสียดทานตลอดทางอยู่แล้ว ฉะนั้นท่าทีที่ ผบ.ทบ. แสดงออกเป็นเพียงสัญญาณที่จะทำให้ทุกฝ่ายรอบคอบมากขึ้นในการสื่อสารข้อมูล
สำหรับตนในฐานะทั้งผู้เสียหาย และผู้ถูกกล่าวหาเมื่อเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเดินหน้ามาชัดเจนอย่างนี้จนเข้าใกล้ตัวคนที่เราเชื่อว่าเป็นผู้บงการ ตนก็ยินดีที่จะรอคอย ให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ไป ส่วนตัวต้องการพุ่งเป้าไปที่คนสั่ง คนบงการ ถือว่าสำคัญเพราะทหารจะเอากำลังออกมากลางเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะอ้าง พรก.ฉุกเฉิน ก็ตาม ทหารก็อยู่ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน โดยมีตำรวจเป็นเจ้าพนักงานหลัก ฉะนั้นคนที่จะสั่งการอย่างนี้ได้ ก็ต้องเป็นฝ่ายบริหารในช่วงเกิดเหตุ ซึ่งก็หมายถึงนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เชื่อว่าภายในเดือนนี้จะเรียกให้ปากคำ