เหวงนำทีมยื่นหนังสือ รมต.ต่างประเทศ ขอให้ประกาศยอมรับอำนาจ ICC

Facebook นพ.เหวง โตจิราการ 1 สิงหาคม 2555 >>>


วันนี้ (1 ส.ค. 2555) นพ.เหวง โตจิราการ เล่าถึงบรรยากาศในการยื่นหนังสือถึง รมต.ต่างประเทศ เพื่อขอให้รัฐบาลยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในกรณีการฆ่าประชาชนกลาง กทม. เมื่อเมษา-พฤษภา 2553 ดังนี้

เพื่อนๆครับ

วันนี้ (1 ส.ค. 55) ผมกับก่อแก้ว เงาะ หมอเชิดชัย ได้ยื่นหนังสือให้ท่าน รมต.ต่างประเทศ คุณสุรพงษ โตวิจักขณ์ชัยกุล เพื่อขอให้ท่านส่ง ”คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในกรณีการฆ่าประชาชนกลาง กทม. เมื่อเมษา-พฤษภา 53” เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถเข้ามาดำเนินการกับฆาตกร ”ทำลายล้างมนุษยชาติ” ที่ฆ่าวีรชนของเราจำนวนเกือบ 100 ศพได้ถนัดมือ เพราะเข้าองค์ประกอบทางกฏหมายของธรรมนูญกรุงโรมที่ว่า “เป็นการดำเนินการอย่างกว้างขวาง อย่างเป็นระบบ ต่อประชาชนพลเมือง และรู้ในกระทำ” ของการ “ฆ่าฟัน ทำลายล้าง” ท่าน รมต. ก็รับเรื่องและได้รับปากให้กรมสนธิสัญญาและกฏหมายระหว่างประเทศของทางกระทรวงไปดูรายละเอียดหากดำเนินการได้โดยไม่เสียหายอะไรท่านก็จะดำเนินการต่อไปโดยไม่ช้า นี่ก็ต้องตามเรื่องต่อไปอย่างใกล้ชิดนะครับ แล้วท่านก็ท้า ปชป. ว่า ถ้าต้องการเอาเรื่อง”ฆ่าตัดตอน 2,500 ศพก็ส่งเรื่องมาคราวเดียวกันเลย” แล้ว ปชป. จะทำหรือไม่เล่าครับ
ผมอยากจะเรียนเพื่อนๆสักนิดนะครับว่า “การลงนามให้สัตยาบรรณ” กับ “การประกาศยอมรับอำนาจศาล” ต่างกันมากนะครับ และผลต่อประเทศก็จะต่างกันด้วยครับ กล่าวคือการให้สัตยาบรรณ ต้องผ่านรัฐสภาตามมาตรา 190 ของ รธน.50 ซึ่ง ปชป. ต้องขวางสุดจิตสุดใจแน่นอน กว่าจะผ่านก็อาจจะใช้เวลาหลายปี แล้วหากผ่านได้ ก็ทำให้” ฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนกลาง กทม. เมื่อเมษา-พฤษภา 53 ลอยนวล เพราะธรรมนูญกรุงโรมระบุชัดว่า “ห้ามเอาโทษกับความผิดย้อนหลัง” แต่การประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลสามารถเอาฆาตกรเมษา-พฤษภา 53 มาลงโทษได้ครับ เพราะเขาให้ระบุอาชญกรรมที่ต้องการให้เขาดำเนินการลงไป ดังนั้นในเฉพาะหน้านี้ การประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเป็นประโยชน์กว่าแน่นอน และการลงสัตยาบรรณกลับทำให้รัฐบาลชุดที่แล้วลอยนวล ส่วนเรื่องการลงสัตยาบรรณขอให้เป็นเรื่องของอนาคตก็แล้วกัน คงเข้าใจตามนี้นะครับ พร้อมกันนี้ผมขอนำเอาหนังสือที่ส่งมอบท่าน รมต.ต่างประเทศให้เพื่อนๆได้ศึกษากันดูครับ

รัฐสภา อู่ทองใน ดุสิต กทม.

1 สิงหาคม 2555

เรื่อง ขอให้ พณฯส่งมอบคำประกาศ “ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญกรรมสังหารประชาชนกลางกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนเมษายน,พฤษภาคม 2553” ให้แก่นายทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ

เรียน พณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อ 12 เรื่อง เงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับการใช้เขตอำนาจศาล ในข้อย่อย 3 ระบุไว้ว่า “หากการยอมรับอำนาจของศาลฯโดยรัฐซี่งมิได้เป็นภาคีของธรรมนูญศาลฯ นี้ มีความจำเป็นตามวรรค 2 รัฐนั้นอาจยอมรับการใช้อำนาจของศาลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชญกรรมที่เป็นปัญหา โดยส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียน รัฐที่ยอมรับเขตอำนาจศาลต้องร่วมมือกับศาลฯโดยไม่ชักช้า หรือไม่มีข้อยกเว้นใดตามภาค 9”
การดำเนินการทางกฏหมายกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบการสังหารประชาชน อย่างกว้างขวาง อย่างเป็นระบบ เมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 ซึ่งนับเป็นการก่ออาชญกรรมต่อมนุษยชาติ ตามคำนิยมในข้อ 7 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่าประเทศ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ ความเป็นนิติรัฐ นิติธรรมของรัฐไทย และจะเป็นการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งที่ได้เกิดขึ้นมาซ้ำซากไม่ต่ำกว่า หกครั้งในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ผมและเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรดังที่มีรายนามแนบท้ายมาด้วยแล้วนี้ จึงกราบเรียนมายังฯพณฯเพื่อโปรดส่งมอบคำประกาศ “ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญกรรมสังหารประชาชนกลางกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนเมษายน,พฤษภาคม 2553” ให้แก่นายทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศจะได้มีเขตอำนาจศาลในการดำเนินการพิจารณาตามอำนาจที่ตราไว้ในธรรมนูญกรุงโรมอันประเทศไทยได้รับรองไว้แล้ว (แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรอง) กับบรรดาผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญกรรมต่อมนุษยชาติดังกล่าว
พณฯจะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และงดงามให้แก่สังคมไทยในการหยุดยั้งการรัฐประหารที่สร้างความพินาศวอดวายซ้ำซากให้กับสังคมไทยมาโดยตลอด


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามที่ พณฯจะเห็นสมควร



(นพ.เหวง โตจิราการ)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หมายเลข 442