ประชาไท 7 กรกฎาคม 2555 >>>
‘สรรเสริญ แก้วกำเนิด’ เบิกความไต่สวนการตาย ‘พัน คำกอง’ จากกรณียิงรถตู้ที่ราชปรารภ กลางดึก 14 พ.ค. 53 ระบุไม่รู้เรื่องทางปฏิบัติ ย้ำ 10 เมษา ศอฉ. สั่งทหารออกตั้งแต่ 5 โมงเย็นแต่ออกไม่ได้โดนบล็อก ปัดไม่มีบันทึกคำสั่งเป็นหนังสือ ด้านทหารยศพันโทระบุเสียงปืนในคลิปที่เกิดเหตุเป็นเสียง ‘M16’ และลูกซอง ขณะที่พยานทหารคนอื่นบอกไม่สามารถระบุชนิดปืนได้เพราะเสียงก้อง 5 ทหารยืนยันตรงกันไม่พบชายชุดดำในบริเวณที่เกิดเหตุ
5 ก.ค. 55 ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของานาย พัน คำกอง คนขับแท็กซี่ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ซึ่งเป็นจุดประจำการของทหาร เมื่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 พ.ค. ต่อกับวันที่ 15 พ.ค. 53 จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยในวันนี้มีการไต่สวนทหารจาก ปราจีนบุรี 2 นายซึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เบิกความในส่วนของเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 ซึงหนึ่งในทหารผู้เบิกความถูกยิงที่บริเวณเหนือเข่า เหตุเกิดในการปะทะระหว่างทหารและผู้ชุมนุมรอบแรกช่วงบ่ายบริเวณถนนตะนาว และเห็นชายคนหนึ่งควักปืนมายิงจนตนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว
ในช่วงบ่าย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. ขึ้นเบิกความระบุว่าไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ยิงรถตู้ในวันที่ 15 พ.ค. 53 เพราะรับผิดชอบในส่วนนโยบาย พร้อมเบิกความไล่เรียงตั้งแต่กลุ่ม นปช.เริ่มการชุมนุมเมื่อ 12 มี.ค. 53 และเหตุที่ต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพร้อมเปลี่ยน ศอรส. เป็น ศอฉ. เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่มีแนวโน้มความรุนแรง เนื่องจากผู้ชุมนุมบุกรัฐสภาและมีการยื้อแย่งอาวุธเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ชุมนุม และยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึงท้ายที่สุดหากจะมีการใช้กระสุนจริงจะเป็นการยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ ถ้าไม่ได้ผลจะยิงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ และจะยิงต่อเป้าหมายต่อเมื่อบุคคลนั้นจะทำร้าย ประทุษร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่เท่านั้นและมุ่งให้หยุดกากระทำไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต
สั่งถอนทหารก่อน 5 โมงเย็น สั่งทางวิทยุ
นอกจากนี้เข้ายังเบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งมีการ “ขอคืนพื้นที่” จากผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าว่า ในวันดังกล่าวมีการปะทะกันแต่ไม่มีใครเสียชีวิต กระทั่งก่อนเวลา 17.00 น. เริ่มมีการปะทะกันมากขึ้นขณะที่แสงสว่างกำลังจะหมด ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ทุกหน่วยหยุดปฏิบัติการและถอนตัว เพราะในยามคำคืนอาจมีคนสวมรอยมาทำร้ายผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ได้ แต่บริเวณสี่แยกคอกวัวเจ้าหน้าที่ถอนกำลังไม่ได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมทั้งด้านหน้าด้านหลัง ขณะที่ชายชุดดำที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธยิงเข้ามาจนทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว รวมถึง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ด้วย
พ.อ.สรรเสริญ ตอบทนายถามว่า มีมติสั่งให้ถอนกำลังจริง ซึ่งในที่ประชุมมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่ด้วย ส่วนตนเองนั้นเดินเข้าๆ ออกๆ สำหรับการออกคำสั่งของ ศอฉ. นั้นไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่จะใช้วิธีสั่งการทางวิทยุทหาร โดยแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่วิทยุเข้าไปอยู่ในที่ประชุมอยู่แล้วและสามารถสั่งการได้เลย นอกจากนี้ยังระบุว่าคำสั่งกระชับวงล้อมนั้นอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ตามเอกสารที่นำส่งศาล ส่วนจะใช้กำลังเท่าไร อาวุธอะไรบ้างนั้นตนไม่ทราบในรายละเอียด
ปืนหายหลายกระบอก
วันเดียวกันในช่วงบ่ายแก่ที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าและถนนดินสอมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าแย่งยึดอาวุธของทหาร มีการนำไปแสดงบนเวทีปราศรัยแต่ไม่ได้ส่งคืน ทหารสามารถยึดคืนไดจำนวนมากแต่ก็ยังมีบางส่วนสูญหาย ซึ่งได้มีการแจ้งความไว้ที่ สน.บางยี่ขัน ได้แก่ ปืนทราโวล 12 กระบอก ปืนลูกซอง 35 กระบอก
นอกจากนี้ พ.อ.สรรเสริญ ยังกล่าวถึงการปรับกำลังพลหลังจากที่พยายามผลักดันผู้ชุมนุมมานานแต่ไม่สำเร็จว่า ได้มีการปิดเส้นทางต่างๆ มากขึ้น และปรับกำลังในการรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ โดยกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จำนวน 22 กองร้อย รักษาความสงบ และจำนวน 19 กองร้อยปราบจลาจล ได้เข้าปิดเส้นทางบริเวณถนนราชปรารภ เพชรบุรี พญาไท ราชวิถี ศรีอยุธยา แต่ก็ยังไม่สำเร็จนักเนื่องจากมีตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งวันที่ 19 พ.ค. 53 ศอฉ. มีคำสั่งกระชับวงล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาทหารถูกชายชุดดำโจมตีด้วย M79 แต่กำลังทหารเข้าไปได้ไม่ถึงจุดที่มีการตั้งเวทีปราศรัย
5 ทหารเบิกความ 4 ก.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 55 ก็มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนาย พัน คำกอง เช่นเดียวกัน โดยมีทหารจากกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งประจำการบริเวณดังกล่าวขึ้นเบิกความ 5 นาย ต่อจากวันที่ 3 ก.ค. ที่มีการเบิกความไปแล้ว 4 นาย
จัดกำลัง รปภ. สถานที่ และการควบคุมฝูงชน
พ.ท.พงศกร อาจสัญจร (ขณะนี้ยศ พ.อ.) ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 (ผบ.ร.1 พัน 3 รอ.) เบิกความโดยสรุปในช่วงแรกว่า วันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 11.00 น. ได้มีเหตุรื้อกระสอบทรายบริเวณแยกจตุรทิศ ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ให้ไปที่เกิดเหตุเนื่องจากการจราจรอัมพาตมากเข้าไปเพื่อไปเคลียสถานการณ์ให้เรียบร้อย โดยมีรองผู้บังคับกองพัน (พ.ท.ทรงสิทธิ ไชยยงค์) เป็นผู้คุมกำลังไป 1 กองร้อย หรือ 150 นาย ซึ่งที่เกิดเหตุนั้นมีกลุ่มประชาชนจำนวนมากได้รื้อกระสอบทรายที่เอาไว้ตั้งจุดตรวจ กำลังที่จัดไปนั้นเป็นกำลัง รปภ. สถานที่ และการควบคุมฝูงชน ที่กฎเกณฑ์การใช้อาวุธเป็นการใช้จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อะไรได้เพราะห้อมล้อมไปด้วยผู้ชุมนุมจำนวนมาก ตนจึงได้รายงานไปยังผู้บังคับการกรมฯ ขอไปที่เกิดเหตุ นำกำลังไปเสริมอีก 1 กองร้อยหรือ 150 นาย ในเวลาประมาณ 13.00 น. โดยได้นำกำลังไปลงที่ปากซอยรางน้ำฝั่งราชปรารภและนำกำลังเดินเข้ามายังแยกจตุรทิศ โดยในขณะนั้นมีรถบรรทุกของทหารจอดอยู่บริเวณดังกล่าวแล้วมีผู้ชุมนุมเข้าไปแย่งยึดและกระชากกำลังพล 2 คนที่อยู่บนรถลงมา ทีมของตนได้เข้าไปช่วยกำลังพลมาได้ แต่ไม่สามารถนำรถออกมาได้เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ล้อมไว้
พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความต่อว่า ขณะนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 700 คน อยู่บนสะพานจตุรทิศและด้านล่างก็มีทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สัญจรเนื่องจากการจราจรขณะนั้นยังไม่ได้มีการปิด หลังจากนั้นตนพยายามแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ปิดการจราจรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ออกจากพื้นที่ไปเพื่อความปลอดภัย สุดท้ายไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าทีมาปิดหรือไม่แต่สัก 20 นาที ถนนก็ไม่มีรถเข้ามาแล้วขณะนั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. หลังจากที่ตนไปถึงก็ประเมินว่าคนจำนวนมากกำลังตนมีน้อยเมื่อเทียบกับผู้ชุมนุม เกรงว่าจะมีการกระทบกระทั่งได้จึงได้แจ้งขอกำลังเพิ่มเติมไปกับผู้บังคับบัญชา โดยหลังจากนั้นมีกำลังของกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31 รอ.) เข้ามาประมาณ 2 กองร้อย โดยอยู่คนละฝั่งกับชุดของตนชุดของตนอยู่ทางด้านขวา และของ ป.พัน.31 รอ. อยู่ทางด้านซ้าย และตนเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในบริเวณพื้นที่อีกด้วย
ประชาชนฝั่งหนึ่งตะโกนด่า ฝั่งหนึ่งเอาน้ำมาให้
พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความว่า เวลา 16.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 53 สถานการณ์คลี่คลายลงไปในทางค่อนข้างที่จะดี ตนได้รับคำสั่งให้อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา ประจำอยู่ใต้สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 โดยตนดูจากสถานการณ์และรายงานผู้บังคับบัญชาว่า 1 กองร้อยจะอยู่ที่ถนนศรีอยุธยาและอีก 1 กองร้อยที่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ นำมาจะอยู่ที่แอร์พอตลิงก์ ซึ่งตนประจำอยู่บริเวณดังกล่าวจนเสร็จสิ้นภารกิจในวันที่ 22 พ.ค. 53 หลังจากที่ไปประจำจุดดังกล่าวบริเวณซอยที่เชื่อมไปซอยรางน้ำก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาตะโกนต่อว่า โดยฝ่ายทหารไม่ได้มีการตอบโต้อย่างใดแต่ได้นำเอารั้วลวดหนามไปวางกันไว้ จริงๆแล้วในพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดตรวจมาก่อนเพราะว่ามีการประกาศ พรก. ไปแล้ว มีการต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ซึ่งพื้นที่บริเวณตรงที่ตนอยู่ก็พยายามอยากให้ผู้ชุมนุมออกจะได้ปลอดภัย เพราะฉะนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็พยายามทำให้ปลอดภัย โดยสภาพโดยรวมบริเวณที่ตนอยู่ฝั่งรางน้ำก็จะมีคนมาตะโกนด่า แต่อีกฝั่งถนนพญาไทมีประชาชนเอาน้ำมาให้ทหาร เป็นภาพความแตกต่าง
ได้ยินเสียงระเบิดคล้าย M203 แต่ไม่ทราบเสียงปืนเพราะเสียงก้อง
พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความอีกว่า ช่วงค่ำมีข่าวแจ้งเตือนให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีการยิงมาในพื้นที่ และได้ยินเสียง M203 เป็นปืนเครื่องยิงลูกระเบิดยิงมาตกตรงไหนไม่แน่ชัด แต่ได้ยินเสียงแน่นอนเพราะเสียงมันก้อง เสียงดังมาจากทางประตูน้ำ ในช่วงประมาณ 19.00-21.00 น. ประมาณ 6-8 นัด และจากการรายงานทางวิทยุโดย พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ทำให้ทราบว่าตกอยู่ตรงสะพานลอยแถวถนนราชปรารภ หน้าโรงแรมอินทรา ได้รับรายงานทางวิทยุสื่อสารเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง มีเสียงปืนดังติดต่อกันประปราย ทราบว่ามีรถวิ่งผ่านมา ตนอยู่ในมุมที่ไม่ได้ยินมากเพราะเสียงมันก้องๆ หลังจากเสียงปืนสงบลง
อัยการสอบถามเพิ่มเติมว่าพยานหรือ พ.ท.พงศกร อาจสัญจร แยกออกไหมว่าเสียงปืนนั้นคือเสียงอะไร ในเมื่อเสียงระเบิดพยานทราบว่าเป็นเสียงระเบิดอะไร พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ไม่แน่ใจเพราะว่าว่าเสียงก้อง และได้แจ้งกับ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ว่าหากมีสิ่งใดให้ปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาที่อยู่ตรงนั้นได้เลย เนื่องจากตรงจุดเกิดเหตุมีผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าตนอยู่ด้วย คือ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร
อัยการถามต่อว่าพยานทราบหรือไม่ว่าที่มีการยิงรถตู้มีการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บกี่ราย พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ได้ยินรายงานทางวิทยุว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บและนำส่งโรงพยาบาล ตนรับทราบเพียงเท่านั้น
ไม่มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ จนเสร็จสิ้นภารกิจ
ตั้งแต่วันที่ 14-22 พ.ค. 53 เสร็จสิ้นภารกิจ พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ยืนยันว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
ส่วนในการจัดกำลังพลนั้น พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความว่า 1 กองร้อยจะมี โล่ ตะบอก ปืนลูกซองกระสุนยาง ปืนลูกซองมี 30 กระบอก และมีลูกกระสุนยางกระบอกละ 10 นัด รวมเป็น 300 นัด กระสุนยางคนละอย่างกับลูกแบงก์ ลูกแบงค์ใช้ซ้อมรบจะมีแต่เสียงเพื่อให้เกิดความสมจริง ลูกแบงก์หัวจะเป็นจีบ แต่ถ้าอยู่ในระยะ 1 เมตร ความแรงของดินปืนจะทำให้เกิดการไหม้ได้ แต่ไม่มีหัว ส่วนกระสุนยางใช้กับปืนลูกซอง ในระยะ 10 เมตร ก็จะจุกแต่ไม่ถึงแก่ชีวิต ไม่สามารถทะลุแผ่นเหล็กหรือไม้ได้
ทนายถามว่าตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 22 พ.ค. 53 ที่บริเวณพยานปฏิวัติหน้าที่ พญาไท ราชปรารภ นั้น นอกจากหน่วยของพยานแล้วมีหน่วยอื่นหรือไม่ พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ไม่แน่ใจว่ามีหน่วยไหนบ้าง แต่ทราบว่ามี ป.พัน.31 (กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์) และทนายถามอีกว่าในการสังการตอนนั้นในฐานะที่พยานเป็นผู้บังคับบัญชาสังการอย่างไร พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่าใช้วิทยุสั่งการ
สามารถใช้กระสุนจริงได้บางกระบอก
พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ รองผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 พัน 3 รอ.) เบิกความอีกว่า การใช้กระสุนจริงกับกระสุนยางแตกต่างกัน เช่น ลักษณะการบรรจุกระสุน ทิศทางการเล็ง เทคนิคก็จะต่างกัน จะยิงเพื่อให้เขาหนีหรือหยุดการกระทำ อัยการถามต่อถึงปืนที่ใช้กระสุนยางกับกระสุนจริงสามารถใช้ร่วมกันได้หรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ตอบว่าใช้ได้บางกระบอก บางกระบอกใช้ไม่ได้ใช้เฉพาะกระสุนยาง
มี M16 จำนวน 20 กระบอก และไม่ถูกปล้น
พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความว่าหน่วยของตนมีปืนลูกซอง 30 กระบอก มี M16 ไปด้วย 20 กระบอก โดยมีกำลังพลที่กำหนดตัวเป็นผู้ใช้ แต่มีข้อแม้อยู่คืออาวุธปืน M16 จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก่อน โดย พ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร และ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความต่อว่าปืน M16 กับปืนลูกซองจะแตกต่างกัน ปืนลูกซองจะติดตัว ส่วนปืน M16 จะเก็บไว้ในที่มีกำลังพลรับผิดชอบดูความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแย่งชิงซึ่งการที่จะนำปืน M16 มาใช้ตนซึ่งเป็นรองผู้พันก็ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและตัดสินใจก่อน สำหรับ M16 จะเป็นกระสุนซ้อมรบคือลูกแบงค์ ซึงจะแยกกันไประหว่างปืนกับกระสุนซึ่งมี 400 นัด โดยจะมีการบรรจุเหมือนกับลูกจริงคือมีซองกระสุน 20 นัดต่อกระบอก ลักษณะใช้จะเป็นการยิงเตือน แต่สามารถยิงต่อเนื่องอัตโนมัติได้
มี M79 และ RPG ปริศนาลงใกล้ทหาร
อัยการซักต่อว่าอาวุธและกระสุนของหน่วยถูกปล้นไปหรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยืนยันว่าไม่มีใครปล้นไป และคืนวันที่ 14 พ.ค. 53 พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความว่าตนอยู่กับผู้การ พ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร บนชั้น 2 แอร์พอร์ตลิงก์ และมีกำลังพลอยู่ชั้น 3 ของแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย ส่วน พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความอีกว่าในช่วงกลางคืนมีเสียงปืนดังทุกทิศทุกทาง มีกระสุน M79 มาตกด้านหน้าแอร์พอร์ตลิงก์หลายลูก นอกจากนี้เห็นระเบิดไม่ทราบชนิดแต่มาเห็นตอนเช้า โดยดูจากร่องรอยแล้ววิเคราะห์เอา ว่าเป็น RPG บริเวณตึกแถวฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา
อัยการถามถึงเหตุการณ์ต่อจากนั้นเกิดอะไรขึ้น พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความว่า ทราบจากรายงานทางวิทยุสื่อสารจากส่วนกลางหรือส่วนควบคุมว่ามีรถตู้วิ่งเข้ามาจากทางประตูน้ำ ในเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว หลังจากรถตู้เข้ามาได้ยินเสียงอาวุธปืนดังขึ้น หลังเหตุการณ์ได้ลงไปดูกับผู้บังคับบัญชา มีรถมูลนิธิมารับผู้บาดเจ็บ แต่ตนไม่เห็นผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ทราบภายหลังว่ามีนายพัน คำกอง ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้ง คนขับรถตู้ (สมร ไหมทอง) และเด็ก (ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ)
เปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่น ทหารชี้เสียงปืนลูกซองและ M16
หลังจากนั้นอัยการได้เปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่นที่ถ่ายเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ [เป็นคลิปเต็มที่ยังไม่ได้ตัดต่อดังที่นำมารายงานข่าว-ประชาไท ] มีความยาวประมาณ 10 กว่านาที ถ่ายหลังทหารที่ยืนหลบอยู่ข้างเสาไฟฟ้า ห่างจากรถตู้ประมาณ 50-100 เมตร มีเสียงปืนดังขึ้นเพื่อหยุดรถตู้ติดต่อกันเกือบ 20 นัด จนรถตู้หยุดสนิท ปิดไฟหน้า และมีทหารเข้าไปดู มีการนำคนเจ็บลงจากรถเพื่อปฐมพยาบาล และมีภาพการลำเลียงคนเจ็บอื่นๆ จากรถพยาบาลทหารขึ้นรถหน่วยกู้ชีพ โดยอัยการได้สอบถามถึงเสียงปืน 20 นัดดังกล่าวต่อ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เพื่อจำแนกว่าเป็นปืนชนิดใด โดยพ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ตอบว่ามีทั้งลูกซองและ M16 ส่วน 2 นัดสุดท้ายเป็นปืนยาวแต่เสียงไกลมากไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มั่นใจว่าเสียงที่ได้ยินเป็นลูกซ้อมหรือลูกจริง พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยังได้เบิกความอีกว่ากระสุนซ้อมปืนเล็กยาวจะมีแสงประกายไฟได
ไม่มีรายงานเรื่องชายชุดดำ
อัยการสอบถาม พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ถึงเรื่องได้พบเห็นชายชุดดำ ตลอดที่ปฏิบัติภารกิจถึงวันที่ 22 พ.ค. 53 หรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยืนยันว่าไม่มีรายงานเรื่องชายชุดดำ
ปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง
ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว.อาวุธหนัก ร.1 พัน 3 รอ. ซึ่งเป็นผู้คุมกำลังอยู่ใต้แอร์พอร์ตลิงก์ บริเวณแยกจตุรทิศ เบิกความว่า กระสุนยางการบรรจุกระสุนเหมือนกับกระสุนจริง และปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ท่าการยิงใช้เหมือนกันไม่มีท่าเฉพาะ ส่วนเสียงปืนนั้น ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา เบิกความว่า เสียงลูกแบงก์หรือลูกซ้อมกับลูกจริงนั้นต่างกัน โดยลูกจริงจะดังแน่นกว่า
โดยเหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค. 53 ทาง ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ได้เบิกความว่าตนนำกำลังไปที่หน้าโรงหนังโอเอ อยู่ในซอยหลังกำแพงและช่วงเกิดเหตุการณ์รถตู้เข้ามานั้นตนอยู่ที่พักคอยจึงไม่ทราบเหตุการณ์ภายนอก มาทราบช่วงเช้าจากที่มีการรายงานทางวิทยุ และทราบแต่เพียงว่ามีคนเจ็บ โดยไม่ทราบว่ามีคนเสียชีวิต แต่มาทราบภายหลังจากหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว
อัยการมีการเปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่นอย่างเช่นเดียวกับพยานคนอื่นๆ โดยมาการสอบถามถึงประเภทของอาวุธที่ได้ยินเสียงกระสุน ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา เบิกความว่าไม่สารมารถแยกได้ว่าเป็นปืนหรือกระสุนชนิดใด
หลังจากนั้นทนายได้ถามถึงอาวุธที่หน่วยของพยานมี ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ระบุว่าทางหน่วยมี M16A1 และทราโว ส่วนปืนลูกซองที่นำไปใช้ไม่ใช่ของหน่วย พึ่งได้รับมาช่วงเหตุการณ์ และกระสุนที่ใช้กับ M16A1 ของทางหน่วยเป็นกระสุนหัวตะกั่วหุ้มทองแดง
ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ยังได้เบิกความว่า ไม่ทราบว่าหน่วยไหนอยู่บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์บ้าง ตนไม่ได้ประสานกับหน่วยข้างเคียงเลยเพราะเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา
มีอาวุธประจำกายเป็น M16 กระสุนซ้อมรบจำนวน 20 นัด
สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย จาก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงก์ หากหันหน้าไปทางประตูน้ำ หรือฝั่งคอนโด Ideao โดย สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่า ตนมีอาวุธประจำกายเป็น M16 กระสุนซ้อมรบจำนวน 20 นัด ซึ่งได้มาตั้งแต่ลพบุรี ต้องดูแลรักษาและเอาไปคืน มีหลักเกณฑ์การใช้อาวุธเมื่อตัวเองหรือคนอื่นจะได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และห้ามใช้กับ เด็ก สตรีและผู้ไม่มีอาวุธ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่า เวลา 19.00 น. วันที 14 พ.ค. 53 ถึงเช้าวันที่ 15 พ.ค. ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่หลงเข้ามา
ไม่เห็นชายชุดดำหรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร
ในช่วงเกิดเหตุยิงรถตู้ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่า เวลาประมาณเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประชาสัมพันธ์บอกให้รถตู้(คันเกิดเหตุ)กลับออกไป ให้ใช้เส้นทางอื่น เป็นเวลาประมาณ 10 นาที ต่อมาได้ยินเสียงคลายเสียงปืนไม่ทราบทิศทางเพราะเสียงก้อง ไม่ทราบจำนวนนัด โดยรถตู่หยุดอยู่ที่ใต้สะพานแอร์พอร์ตลิงก์ ใกล้กับรถประชาสัมพันธ์ และขณะนั้นไม่เห็นชายชุดดำหรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่าตนไม่ได้เข้าไปที่เกิดเหตุเนื่องจากไม่ได้รับคำสั่ง และเห็นรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 1 คนเป็นคนขับรถตู้ และไม่ทราบว่าคนเสียชีวิตอยู่บนรถตู้หรือไม่
สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่าชุดของตนไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บและอาวุธไม่มีการถูกช่วงชิง และทนายได้ถามความเข้าใจของ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย ถึงชายชุดดำว่าเป็นอย่างไร สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย ตอบว่า คือชายชุดดำที่ถืออาวุธ หากใส่ชุดดำแต่ไม่ถืออาวุธไม่ใช่ชายชุดดำ
ได้รับ M16 แจกเป็นอาวุธประจำกาย แต่ไม่ได้รับแจกกระสุน
สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก จาก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี เบิกความว่าได้รับคำสังจากผู้บังคับบัญชาให้อยู่บริเวณฟุตบาท หน้าคอนโด Ideao แอร์พอร์ตลิงก์ ใกล้ตู้โทรศัพท์ ตรงร้านอินเดียฟู้ดส์ ซึ่งอยู่กับ ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ผู้บังคับการกองร้อยจนถึงเช้า สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก ยงได้เบิกความต่ออีกว่า รถตู้ที่เกิดเหตุมาเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่าออกมาจากซอยวัฒนวงศ์ (ราชปรารภ 8) มีเสียงประกาศให้รถตู้ถอยกลับไปประมาณ 10 นาที แต่ไม่มีใครลงจากรถหรือถอยกลับไป จุดดังกล่าว สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าชุดของตนเองอยู่ใกล้สุด ห่างประมาณ 80 เมตร โดยปากซอยมีรั้วลวดหนามวางไว้ด้วย โดยปกติหากมีรั้วลวดหนามจะผ่านไม่ได้ อัยการถามว่าได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงหรือไม่ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าตนไม่ได้เข้าไปเตือนเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นรถอะไร และหลังจากนั้นรถตู้คันดังกล่าวออกจากซอยเลี้ยวซ้ายไปทางแอร์พอร์ตลิงก์ รถประชาสัมพันธ์ก็ยังประกาศเตือนต่อแต่รถตู้ก็ยังวิ่งเข้ามา หลังจากนั้นจึงได้ยินเสียงคลายเสียงปืนดังขึ้นไม่ทราบทิศทาง ตัวสิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกวามว่าขณะนั้นตนเองหลบเข้าที่กำบังนอนหมอบราบกับพื้น ไม่ได้มองว่าอะไรเกิดขึ้น เสียงปืนดังไม่นาน หลังเสียงปืนสงบก็ไม่ได้เข้าไปดูและไม่ได้ยินวิทยุสื่อสารว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ส่วนกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
อัยการได้สอบถามถึงชายชุดดำ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก ยืนยันว่าตลอดเวลาที่อยู่ไม่พบชายชุดดำ โดยไม่พบหน่วยอื่นนอกจากทหาร ส่วนฝั่งตรงช้ามบริเวณโรงแรมอินทราไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่มายืนอยู่เป็นใคร อัยการสอบถามว่าหากไม่ทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นใครแล้วได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าไม่มีการแจ้ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้บังคับการกองร้อย