'สดศรี' ย้ำ กกต. ยกคำร้อง 'สุเทพ' แทรกแซง ขรก. ถือว่ายุติแล้ว

ไทยรัฐ 28 กรกฎาคม 2555 >>>




"สดศรี" ระบุปม "สุเทพ" แทรกแซงการทำงานของข้าราชการใน ก.วัฒนธรรม กกต. เคยยกคำร้องและถือว่ายุติแล้วเพราะ กม. คนละฉบับกับ ป.ป.ช. ชี้อาจมีประเด็นทาง กม. ว่าวุฒิสภามีอำนาจถอดถอนตามมติ ป.ป.ช. ได้หรือไม่ เตือนอาจเป็นเหตุให้นักการเมืองไม่พอใจลดอำนาจองค์กรอิสระลงได้...

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีการส่งคนไปช่วยงานที่กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือว่า เป็นการก้าวก่ายและหาผลประโยชน์ ว่า ในเรื่องดังกล่าวเคยมีผู้ร้องมาที่ กกต. และ กกต. ก็ได้พิจารณาไปแล้ว โดยเสียงข้างมากเห็นควรให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า นายสุเทพ ได้มีการถอนเรื่องที่ส่งคนไปกระทรวงวัฒนธรรม ออกไปก่อนแล้ว จึงถือว่าความผิดยังไม่สำเร็จ ซึ่งกรณีดังกล่าวตนเห็นว่า เป็นการพิจารณาจากกฎหมายคนละฉบับกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย ป.ป.ช. มองในเรื่องของจริยธรรมของผู้ที่เป็นนักการเมือง เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการวินิจฉัยของ 2 องค์กรสามารถแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจขององค์กรนั้น ๆ ในส่วนของ กกต. จะมาพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะเป็น ส.ส. ต่อไปหรือไม่ และในส่วนของ กกต. ได้มีมติไปแล้วด้วยเสียงข้างมากให้ยกคำร้องจึงถือว่ายุติไป คงจะนำมาพิจารณาอีกไม่ได้
ทั้งนี้ หลังจากที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาพิจารณาถอดถอนแล้ว อาจจะมีประเด็นข้อกฎหมายให้พิจารณาว่า หากที่ประชุมมีมติถอดถอนนายสุเทพแล้วทางวุฒิสภาจะมีอำนาจถอนถอนตามมติได้เลยหรือไม่ หรือจะต้องส่งเรื่องกลับมาให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้สั่งเพิกถอนสิทธิทางการ เมืองเป็นเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ด้วยว่า การร้องเรียนดังกล่าวเป็นการร้องตั้งแต่นายสุเทพเป็น ส.ส. เขตในการเลือกตั้ง ใหญ่ทั้งประเทศ ที่ได้ลาออกไปแล้ว จะถือว่านายสุเทพได้สิ้นสภาพไปก่อนแล้วหรือไม่ และจะส่งผลถึงสถานะปัจจุบันที่นายสุเทพรับการเลือกตั้งจากการเลือกตั้งซ่อมหรือไม่
ส่วนการออกมาของ ป.ป.ช. ขณะนี้ ยิ่งทำให้พรรคการเมืองมีความพยายามที่จะลดอำนาจองค์กรอิสระลงหรือไม่นั้น การดำเนินการของ ป.ป.ช. เป็นการทำให้เห็นว่า ป.ป.ช. ไม่ได้เข้าข้างใคร ถือเป็นการประจวบเหมาะพอดี อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เขาจะยุบองค์กรอิสระลงเร็วขึ้นก็ได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะการกระทำของนักการเมืองจะเข้าไปก้าวก่ายงานประจำไม่ได้ เมื่อตรวจสอบแล้วว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวต้องดำเนินการไป ถ้าจะทำให้นักการเมืองไม่พอใจก็เป็นเรื่องของเขา แต่อาจจะเป็นเหตุให้มาลดอำนาจองค์กรอิสระได้
   "องค์กรอิสระจะอยู่หรือไม่เป็นเรื่องของพรรคการเมือง แต่การทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระต้องทำอย่างตรงไป ตรงมา และทำหน้าที่ให้เห็นว่าเป็นกลางจริง เมื่อมานั่งตรงนี้จะต้องปิดตาแล้วพิจารณาโดยไม่สนว่าคุณเป็นใคร และคนที่เป็นองค์กรอิสระจะต้องไม่มีอคติในใจว่าพรรคนั้น พรรคนื้ หรือคนนั้น คนนี้ไม่ได้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยว่าจะให้องค์กรอิสระมาจากการเลือกตั้ง เพราะจะมีการล็อบบี้ได้ง่าย"