ทิศทางการเมือง-หลังวิกฤต 'รธน.'

ข่าวสด 2 กรกฎาคม 2555 >>>


สังคมกำลังจับตาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครอง
คาดกันว่าศาลฯ น่าจะมีคำวินิจฉัยในไม่ช้า หลังนัดไต่สวนวันที่ 5-6 ก.ค. นี้
มีคำถามว่าถ้าศาลฯ วินิจฉัยว่าการแก้ไขไม่ขัดมาตรา 68 ขั้นตอนจากนี้จะเป็นอย่างไร หรือหากชี้ว่าขัดมาตรา 68 รัฐบาลและรัฐสภาต้องทำอย่างไรต่อไป มีผลกระทบต่อบุคคล องค์กรใดบ้าง มีคำตอบจากฝ่ายสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.

นิคม ไวยรัชพานิช
รองประธานวุฒิสภา

หลังการไต่สวนวันที่ 5-6 ก.ค. ศาลฯน่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาก่อนวันเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป 1 ส.ค. เชื่อว่าศาลน่าจะมีคำวินิจฉัยโดยเร็วอยู่แล้ว เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินอาจกลายเป็นข้อครหาของสังคมได้
ถ้าผลคำวินิจฉัยออกมาว่าไม่ขัดมาตรา 68 แล้ว ก็ไม่มีปัญหา ศาลฯจะแจ้งมายังสำนักงานเลขธิการสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว ก่อนที่รัฐสภาจะเปิดลงมติวาระ 3 ต่อไป
หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบ นายกฯต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เลย
เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแล้วจากนั้นก็ให้มีดำเนินการตรา พ.ร.ฎ. ภายใน 15 วัน เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ภายใน 90 วัน
โดย กกต. จะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. มีผลบังคับใช้
หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งก็ให้นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว. มาใช้บังคับ
และประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง จำนวน 99 ส.ส.ร. ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง
ส.ส.ร. มีเวลาทำงานอีก 240 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมครั้งแรก ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จและเสนอต่อประธานรัฐสภา โดย กกต. ต้องกำหนดวันทำประชามติด้วย ภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน เพื่อถามความเห็นของประชาชนก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้ง
ครั้งนี้ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวายด้วยตัวเอง และยังเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งนำความตามบัญญัติ มาตรา 150 และ 151 มาบังคับใช้โดยอนุโลม
แต่หากศาลฯ ตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีข้อความทั้งหมดขัดหรือแย้งแล้ว ให้ถือว่าร่างดังกล่าวเป็นอันตกไปตามมาตรา 154 (2) วรรค 3 ทันที รัฐสภาก็ไม่สามารถเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไปได้
รัฐสภาอาจจะมีวิธีแก้ไข โดยการขอแก้ไขบางมาตราเพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลฯ
เพราะหากยังดึงดันเดินหน้าต่อก็เท่ากับเข้าสู่วรรค 2 ของมาตรา 68 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยอาจมีผู้ร้องขอศาลฯ ให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองได้
ซึ่งจะไม่กระทบต่อสมาชิกภาพ ส.ส. เท่านั้น แต่อาจกระทบต่อ ส.ว. ที่ร่วมโหวตผ่านร่างแก้ไขในวาระ 1 และ 2 ด้วย ในอีกภาพหนึ่งจำนวนสมาชิกในสภาก็จะไม่ถึงครึ่งจนสามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้อีก
อย่างไรก็ตาม เรื่องการฟ้องร้อง ส.ส. ส.ว. ที่ร่วมลงมติ ต้องมองว่ากระทำในนามฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน ไม่ใช่ในนามของพรรคการเมือง ดังนั้น ก็ต้องถูกตัดสิทธิ์ด้วยกันทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ผู้ขอเสนอแปรญัตติก็ถือว่าร่วมเดินหน้ามาด้วยกันนั่นเอง แล้วอย่างนี้ใครจะฟ้องใครได้
ในส่วนของนายกฯ เชื่อว่าจะรอดพ้น รวมไปถึงผู้ไม่ได้ออกเสียงลงมติ เพราะนายกฯไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค ตามที่วรรค 3 มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

สดศรี สัตยธรรม
กกต. อดีต ส.ส.ร.50

จุดประสงค์ที่แท้จริงของ มาตรา 68 หรือก็คือมาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ผู้ร่างคือ ส.ส.ร.50 ต้องการให้มาตรานี้เป็นมาตราหลักที่จะป้องกันการปฏิวัติรัฐประหารในอนาคต
มีการพูดคุยกันว่าในอดีตเกิดปัญหาการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายครั้งแล้ว ไม่ควรเกิดขึ้นมาอีก ควรมีบันไดหนีไฟไว้สักทางหนึ่ง จึงเกิดมาตรา 68 นี้ขึ้นมา
ช่วงของการแปรญัตติ มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 แม้จะเป็นมาตราเดียวกับมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็มีการถกเถียง อภิปรายแปรญัตติกันนานที่สุดมาตราหนึ่ง
ช่วงแรกมีการเสนอว่า นอกจากมี 'สภาผู้แทนราษฎร' แล้วก็ควรมี 'สภาผู้ใหญ่' เพื่อเป็นผู้ดูแลสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วิกฤต คือ ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่ากรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง
ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
แต่ก็เกิดกระแสต้านและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจนถูกแปรญัตติตกไป นี่คือที่มาของมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีประเด็นเชื่อมโยงถึงการยุบพรรคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 94 (1) ที่ระบุพรรคใดที่มีการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้
หากศาลฯ วินิจฉัยเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.3 เป็นการกระทำผิดตามมาตรา 68 การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดก็ต้องหยุดและล้มไปในทันที แม้จะผ่านวาระที่ 1 และ 2 มาแล้วก็ตาม
หลังจากนั้นก็จะมีการตีความผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะถือว่ามีความผิดไปด้วยหรือไม่ รวมถึงพรรคการเมืองที่ผู้เสนอนั้นสังกัดก็จะถือว่ามีความผิดตามไปด้วยหรือไม่ และ
หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะได้รับผลกระทบถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยหรือไม่
หากศาลฯวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นไปในแนวทางล้มระบอบการปกครองก็ต้องมีการวินิจฉัยต่อ
ส่วนนายกฯ แม้ว่าจะไม่เป็นหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากหนึ่งในผู้ถูกร้องในครั้งนี้มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย นายกฯที่ถือว่าเป็นหัวหน้าครม.ก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง
รวมถึงพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่อาจถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญก็ต้องได้รับผลกระทบทั้งหมด
แต่เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นเป็นเพียงการดูตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งหมดต้องรอศาลฯตีความ
หากจะมองลึกเข้าไปอีกก็ต้องมีการตีความว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องการกับแก้ไขครั้งนี้ทั้งหมดจะมีความผิดไปด้วยหรือไม่ นั้นก็คือ ส.ส. ที่ลงมติรับร่างแก้ไขในวาระ 1 และ 2 รวมถึง ส.ว. ที่มีส่วนร่วมในวาระ 2 ด้วย และอาจโยงไปถึงผู้แปรญัตติไว้ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องต้องรอการตีความในอนาคต
แต่หากศาลฯวินิจฉัยแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แล้วส่งผลให้เกิด ส.ส.ร. ไม่ขัดมาตรา 68 การดำเนินการของรัฐสภาก็จะไปต่อได้ ลงมติในวาระ 3 ได้ทันที
ซึ่งจะเป็นไปตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ เมื่อประกาศในราชกิจจนุเบกษาแล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีผลบังคับใช้ นำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร.
เมื่อได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เสร็จ แล้ว ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และคัดเลือก ส.ส.ร. ที่มาจากที่ประชุมของรัฐสภา
ส.ส.ร. ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 180 วัน เมื่อแล้วเสร็จส่งให้ประธานรัฐสภาเมื่อได้รับร่างแล้ว ให้ส่งร่างดังกล่าวไปยัง กกต. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาได้รับร่างนั้นจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่ และให้ กกต. ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติภายในไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน เมื่อทำประชามติแล้วเสร็จ กกต. ก็จะประกาศผลภายใน 15 วัน
หากประชาชนลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ