เปิดจะๆ คำเบิกความ "ตู่" จตุพรคดีหมิ่น "อภิสิทธิ์ " หนีทหาร โชว์หลักฐานยุค "ธานินทร์-ชาติชาย"

โพสท์ทูเดย์ 27 กรกฎาคม 2555 >>>




นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลย คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดงและประชาชนที่รับชมสถานีโทรทัศน์ ช่องพีเพิ่ล แชนแนล กล่าวหาว่าโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งปราบปรามประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ขึ้นเบิกความเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม มีสาระสำคัญดังนี้
ขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปลายปี 2551-พฤษภาคม 2554 พยานปราศรัยถึงโจทก์รวม 2 วัน คือ กรณีที่โจทก์หนีเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ใช้เอกสารเท็จเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) และการปราศรัยที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการป้องปรามโจทก์ไม่ให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชน
เรื่องหนีเข้ารับการเกณฑ์ทหารชายไทย เมื่ออายุครบ 17 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกิน เมื่ออายุครบ 20 ปี ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี หลังจากจบคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษแล้ว กลับมายังต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผบ.กรม (ขณะนั้น) ไปพบและสอบถามทราบว่าจบเนติบัณฑิตที่ประเทศอังกฤษ จึงนำตัวมาช่วยราชการที่กรม ดังนั้นชายไทยทุกคนจะต้องรับใช้ชาติโดยการเกณฑ์ทหาร พยานตรวจสอบตั้งแต่เป็นโฆษกพรรคไทยรักไทยเรื่อยมาจนกระทั่งเป็น ส.ส.เพื่อไทย
สมัยพรรคพลังประชาชน มีการเปิดผลการสอบสวนของจเรทหารบก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 กรณีที่มีการร้องเรียนว่าโจทก์เลี่ยงการเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จมาเผยแพร่ เพราะพยานต้องการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อโจทก์ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าได้เลี่ยงเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยจปร.หรือไม่ เพราะผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีความสง่างามและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนไทยได้ โจทก์ไม่ชี้แจงทั้งในการอภิปรายในสภาและนอกสภา
โจทก์เกิดวันที่ 3 สิงหาคม 2507 เมื่อมีอายุครบ 17 ปี ย่างเข้า 18 ปี โจทก์ต้องเข้ารับการขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินในปี 2524-2525 และต้องได้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 20 ปี ในปี 2527 ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารในปี 2528
แต่ปี 2524 โจทก์อ้างว่าไปศึกษาต่อที่อังกฤษจึงไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกิน รอจนกระทั่งเรียนจบในเดือนมิถุนายน 2529 จึงไปขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินที่จะได้ใบ สด.9 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ขณะที่โจทก์มีอายุ 22 ปี
โดยสัสดีเขตพระโขนงเขียนเป็นลายมือให้โจทก์มารับใบ สด.9 ในเดือนมกราคม 2530 โจทก์จึงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารในวันที่ 7 เมษายน 2530 แต่วันที่ 7 เมษายน 2530 โจทก์ไม่ได้ไปเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ จึงเป็นคนขาดการตรวจเลือก ที่โจทก์ไปขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จึงเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว เพราะเป็นเวลาที่โจทก์เรียนจบจึงมาขึ้นทะเบียน จึงไม่มีเหตุผลใดขอผ่อนผันเกณฑ์ทหารได้อีก ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497
จากรายงานการสอบสวนของจเรทหารบก ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 ปรากฏชัดเจนว่าโจทก์ไม่เคยได้รับการผ่อนผันหรือเคยเกณฑ์ทหาร แต่พยายามขึ้นทะเบียนทหารกองเกินในภายหลัง มีการประสานกระทรวงกลาโหมและโรงเรียนนายร้อย จปร. โดยทำหนังสือจากกรมสารบัญ ทหารบก (สบ.ทบ.) ทำเรื่องถึงโรงเรียนนายร้อย จปร. ให้รับโจทก์เป็นอาจารย์ โรงเรียนนายร้อย จปร. ทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2529 ให้โจทก์เข้ารับราชการ
ต่อมาโจทก์ไปสมัครเป็นอาจารย์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 12 มกราคม 2530 แต่ขาดหลักฐานสำคัญ คือคนที่จะสมัครรับราชการทหารหากมีอายุ 18-20 ปี ต้องมีใบ สด.9 หากอายุ 21 ปี ต้องใช้ใบ สด.9 ใบผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร (สด.41) หรือ ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.43)
ขณะที่โจทก์สมัครเป็นอาจารย์มีอายุ 23 ปี จึงต้องใช้เอกสารดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร จึงไม่มีเอกสารประกอบการสมัคร ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2530 เขียนใบสมัครใหม่อีกครั้ง แต่โจทก์ไม่สามารถใช้เอกสารหลักฐานได้แม้แต่เพียงชิ้นเดียว เพราะถ้าใช้ สด.9 ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 โรงเรียนนายร้อย จปร.จะตรวจพบว่าโจทก์เป็นคนขาดการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารในวันที่ 7 เมษายน 2530 เมื่อโจทก์ไม่เข้ารับการตรวจเลือกเอกสาร สด.43 จะถูกทำลาย
อีกทั้งโจทก์ยังไม่ได้รับการผ่อนผันเกณฑ์ทหารเพราะไม่ได้ไปศึกษาต่างประเทศ การอ้างเรื่องการศึกษาต่างประเทศว่าได้รับการผ่อนผันโดยใช้ใบรับรองของผู้ช่วยสัสดี กรุงเทพฯ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 ซึ่งภายหลังกระทรวงกลาโหมมาตรวจสอบอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 พบว่าเป็นเอกสารที่ผิดกฎหมาย เพราะผู้ที่จะอนุญาตได้จะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้เอกสารยังมีพิรุธหลายประการพิมพ์ผิดแม้กระทั่งชื่อมารดาของโจทก์วันขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน และเหตุผลที่อนุญาต ระบุตาม มาตรา 29 (3) พ.ร.บ.รับราชการทหาร ซึ่งเป็นกรณีที่เรียนในต่างประเทศ หากเป็นกรณีศึกษาต่างประเทศเช่นกรณีของโจทก์จะต้องใช้ มาตรา 27 และเอกสารดังกล่าวยังขัดแย้งกับ สด.20 ที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์นำมาแสดง อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นเอกสารเท็จหรือไม่
นอกจากนี้พยานตรวจสอบพบพิรุธอีกว่า เมื่อโรงเรียนนายร้อย จปร.บรรจุโจทก์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2529 หลังจากนั้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 กลับมีชื่อโจทก์ขอลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในปี 2530-2532 แต่ข้อเท็จจริงพบว่าโจทก์ไปเขียนใบสมัครเป็นอาจารย์ในวันที่ 12 มกราคม 2532
ถ้าไปเรียนต่อต่างประเทศจริง จะมาเขียนใบสมัครได้อย่างไร ฉะนั้นเอกสารที่รับรองโดยผู้ช่วยสัสดีกรุงเทพฯ และ สด.20 จึงมีข้อความที่เป็นความเท็จและผิดกฎหมาย และหลังจากโจทก์เขียนใบสมัครครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2530 หลังการตรวจเลือก 2 วัน ปรากฏว่าโจทก์ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนทหารบกในวันที่ 7 สิงหาคม 2530 โดยที่ยังไม่มีเอกสาร เพราะยังเป็นคนขาดการตรวจเลือกอยู่ดี และเอกสาร สด.9 ที่ใช้สำแดงจึงผิดกฎหมาย กระทั้งวันที่ 7 เมษายน 2531 ยังเป็นคนขาดการตรวจเลือกเป็นปีที่ 2 ไปจนกระทั่งถึงปี 2536 ซึ่งมีอายุครบ 29 ปี
โจทก์ไปขอใบ สด.9 ฉบับใหม่อ้างว่าฉบับเดิมสูญหาย โดยแก้ข้อความให้ ทั้งที่ความจริงเมื่อสัสดีพระโขนงพบโจทก์จะต้องจับกุมดำเนินคดีข้อหาหลบเลี่ยงไม่เกณฑ์ทหาร และพาตัวไปเกณฑ์ทหารจนครบกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.
ผลสอบสวนของจเรทหารบกลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 เห็นว่ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนบางคนเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล จึงไม่สามารถลงโทษทางวินัยได้ แต่ทำได้เพียงลงทัณฑ์พันเอกหญิงคนหนึ่ง และให้ดำเนินคดีอาญากับสัสดี โดยเป็นการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับข้าราชการผู้ให้ความช่วยเหลือโจทก์แต่ไม่เน้นการดำเนินคดีโจทก์เพราะอะไรพยานไม่ทราบแต่ขณะนั้นมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โจทก์เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อบรรจุโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนทหารบกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2530 เป็นผลมาจากการใช้ สด.9 อันเป็นเท็จ การบรรจุโจทก์เป็นว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531 ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองประจำการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 และได้ยศร้อยตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2531 จึงได้มาจากเอกสารที่เป็นเท็จ
วันที่ 5 กันยายน 2532 โจทก์ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากราชการ อ้างว่าไปศึกษาต่างประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับ สด.20 ที่อ้างว่าได้รับการผ่อนผันไปศึกษาต่างประเทศในปี 2530-2532 ถ้าอยู่ต่างประเทศจะมาเป็นอาจารย์ได้อย่างไร และระหว่างรับราชการ 331 วัน มาปฏิบัติงานเพียง 110 วัน ลาเดินทางไปต่างประเทศถึง 221 วัน
พยานเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ และให้โจทก์ฟ้องร้องเพื่อให้มีการพิสูจน์เอกสารในคดีนี้และพฤติการณ์ของโจทก์ว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงการเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารหรือไม่
กรณีการปราศรัยเมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2553 ที่หน้า กกต. เพื่อป้องปรามไม่ให้โจทก์ใช้กำลังปราบปรามประชาชน ดังเช่นกรณีสงกรานต์เลือดเมื่อเดือนเมษายน 2552 พยานได้รับเอกสารจากนายทหารผู้หวังดีกับกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นเอกสารเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารในปี 2553 รวม 37 หน้า ขณะนั้นมีการนัดหมายกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันในวันที่ 14 มีนาคม 2553 จึงได้พูดปราศรัยเพื่อป้องปราม เนื่องจากรู้สึกกังวลใจและมีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เกรงว่าจะมีการสร้างสถานการณ์ คือ กรณีที่มีผู้ขับรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ เบียดเข้าขบวนรถยนต์ของโจทก์ แต่ปรากฏว่าไม่มีการสอบสวนหรือดำเนินคดีกับผู้ขับรถยนต์
พยานเห็นว่าอาจเป็นการสร้างสถานการณ์ เพราะเมื่อเดือนเมษายน 2552 เหตุการณ์เผารถเมล์ พยานทั้งคนขับรถเมล์และพนักงานเก็บค่าโดยสารรวม 104 คน ไม่สามารถชี้ได้ใครเป็นคนปล้นและเผารถเมล์ รวมทั้งกรณีที่โจทก์อ้างว่าถูกทุบรถยนต์ที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 เหตุการณ์นำรถก๊าซจากสามเหลี่ยมดินแดง ไปจอดที่คิงเพาเวอร์ เหตุยิงใส่มัสยิดถนนเพชรบุรีซอย 5 และ 7 เหตุฆาตกรรม 2 ศพ ที่บริเวณนางเลิ้ง เหตุฆาตกรรมการ์ด นปช.ทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ศพ เหตุยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ใส่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เหตุวางระเบิดซีโฟร์ห่างศาลฎีกาสนามหลวง 200 เมตร เหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งพยานสงสัยในเหตุการณ์เหล่านี้ จึงได้สอบสวนจนทราบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ พยานมีข้อมูลหลักฐานบางเรื่องที่สามารถตรวจสอบได้ อาทิ เหตุเผารถก๊าซ เผารถเมล์ ทุบรถยนต์โจทก์ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งผลการสอบสวนเหล่านี้พยานได้นำไปอภิปรายในสภาด้วย
ส่วนกรณีการสลายการชุมนุมในปี 2553 มีหลักฐานจากรายงานของเจ้าหน้าที่ทหารว่าได้รับคำสั่งจากโจทก์ให้นำกำลังทหารขึ้นไปบนดาดฟ้าตึก
โดยมอบหมายให้กำลังทหารจาก พล.ม.2 รอ. ควบคุมพื้นที่ ลุมพินี ถนนราชดำริ ถนนวิทยุ ถนนสารสิน ซึ่งการยิงสไนเปอร์ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมก็เกิดจากคำสั่งนี้ ลงนามโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งขณะนั้น ในฐานะ ผอ.ศอฉ. โดยกำหนดนโยบายชัดเจนว่าให้ใช้มาตรการทางทหาร เริ่มต้นปฏิบัติการในวันที่ 12 พฤษภาคม ให้ทหารเริ่มต้นตามแผนยุทธการทางทหาร จึงทำให้เกิดมีคนเสียชีวิตถึง 98 ศพ เป็นประชาชน 89 ศพ และเป็นทหาร 9 ศพ
ที่มีการอ้างว่ารัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีกฎหมายรองรับ ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งแพ่งและอาญานั้นอ้างไม่ได้ เนื่องจากโจทก์แต่งตั้งนายสุเทพเป็น ผอ.ศอฉ. จึงไม่สามารถปฏิเสธได้
ส่วนที่ปราศรัยเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2553 นั้น ไม่ได้มีเจตนาใส่ความโจทก์ เพราะได้รับรายงานจากทหารว่ามีการเบิกกระสุนปืนจริงถึง 500,000 นัด และยิงไปกว่า 150,000 นัด เบิกกระสุนสไนเปอร์ 3,000 นัด ใช้ยิงไปถึง 2,520 นัด ในฐานะ ส.ส. และแกนนำกลุ่ม นปช. ต้องออกมาพูด เพราะความเห็นต่างทางการเมืองไม่ควรจบด้วยการตายของประชาชน ทั้งนี้ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองส่วนตัวกับโจทก์มาก่อน แต่เป็นการทำหน้าที่เท่านั้น