ปชป. ยื่น​ให้​การ​เพิ่ม มัดรัฐบาล ​แก้ รธน. จ้องล้มล้าง

แนวหน้า 3 กรกฎาคม 2555 >>>


เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และอดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นหนึ่งในผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 กล่าวถึงการเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นพยานฝ่ายผู้ร้องว่า ตนจำเป็นต้องเสนอเพราะศาลรัฐธรรมนูญให้ส่งรายชื่อพยานภายในวันที่ 29 มิถุนายน ซึ่งตนไม่มีเวลาพิจารณามากนัก
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การที่ตนเสนอชื่อนายอานันท์ เป็นพยานที่จะขึ้นให้การต่อศาลเนื่องจากเห็นว่าท่านเป็นอดีตประธานร่างแก้ไข รธน. ปี 2540 ต้องการความคิดเห็นของท่านประกอบว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่อย่างไร อีกทั้งท่านเป็นผู้ใหญ่เราก็ต้องให้เกียรติ

“สมเจตน”ถอนชื่ออานันท์พ้นพยาน

   “ผมขอกราบขออภัยที่ไม่ได้ติดต่อแจ้งท่านล่วงหน้า ก่อนส่งรายชื่อพยานขึ้นให้การไปก่อน ตลอดวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมพยายามหาทางติดต่อท่านตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่มีช่องทางสามารถติดต่อท่านได้เนื่องจากต้องส่งคำให้การพยาน ดังนั้นจำเป็นต้องขอถอนรายชื่อนายอานันท์ ออกจากการเป็นพยาน ส่วนตัวต้องขออภัยท่านอานันท์จริงๆ โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอถอนนายอานันท์ ออกจากบัญชีพยานแล้ว" พล.อ.สมเจตน์ ย้ำ

ศาล รธน. รับยื่นคำร้องวันสุดท้าย

ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่าว่าวันที่ 2 กรกฏาคมเป็นวันสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ยื่นเสนอบันทึกถ้อยคำ ยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลเพิ่มเติมในกรณีคำร้องร่างการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในเบื้องต้นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือตอบกลับมาแล้ว ส่วนพยานคนอื่นๆคาดว่าจะทยอยยื่นเพิ่มเติมเข้ามาอีกมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
ขณะนี้ฝ่ายผู้ถูกร้องขอเบิกพยานนัดไต่สวน รวม 4 ปาก ส่วนฝ่ายผู้ร้องที่ขอเบิกพยานจากเดิมทั้งหมด 16 ปาก ขณะนี้ยังเหลือ 15 ปาก เนื่องจากผู้ร้องที่อ้างพยานชื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา เป็นซื่อที่ซ้ำกัน ทั้งนี้หากยื่นรายชื่อมาเพิ่มเติมภายหลังจะต้องนำเสนอต่อองค์คณะตุลาการอีกครั้งว่าจะรับไว้เพื่อรวมเป็นสำนวนเดียวกันหรือไม่

ยันศาล รธน. ไม่มีตั้งธงล่วงหน้า

ทั้งนี้ นายพิมลยืนยันว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีธงหรือเขียนคำวินิจฉัยไว้ล่วงหน้าอย่างที่ถูกกล่าวหาเพราะขณะนี้ศาล ยังไม่ได้เขียนคำวินิจฉัยแต่อย่างใด เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องฟังการไต่สวนจากพยานทั้งผู้ร้องและผู้ถูกต้อง เพื่อดูข้อเท็จจริงอีกทั้ง นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีธงในการวินิจฉัย

ย้ำ 5-6 ก.ค. ไม่ชี้ขาดปมร่างแก้ รธน.

ส่วนการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 ก.ค. นี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคงได้พิจารณาอีกครั้งว่าจะให้พยานปากใดเข้าเบิกความต่อหน้าองค์คณะได้หรือจะตัดพยานคนใดออก
ในส่วนกำหนดการนัดไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค. นี้ขอย้ำว่ายังไม่ใช่การนัดแถลงฟังคำวินิจฉัยแต่เป็นการนัดไต่สวนคู่ความฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องเท่านั้น ทั้งนี้ ตามกระบวนการต้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงก่อนจึงยังไม่มีคำวินิจฉัยในช่วงนี้

เครือข่ายฯปกป้องสถาบันยื่นหลักฐาน

ต่อมาเวลา 14.15 น. นายบวร ยสินธร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันได้ยื่นลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดกับมาตรา 68 ซึ่งเป็นการมายื่นบันทึกคำให้การ มี 3 ประเด็น ทั้งนี้ นายบวรยื่นคำร้องขอให้ตนเองเป็นพยานในการเข้าไต่สวนและจะนำนายสุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต เข้าร่วมเป็นพยาน

พท. เพิ่ม 'คณิน-อุดมเดช' ขึ้นพยาน

และเวลา 18.00 น. นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญแถลงว่าวันนี้ได้มีการยื่นบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริงและความเห็นของพยานทั้ง 2 ฝ่าย ในฝ่ายผู้ถูกร้อง พรรคเพื่อไทยได้เพิ่มพยานอีก 2 ปาก จากเดิม 4 ปาก คือนายนายคณิน บุญสุวรรณ อดีต สสร.2540 นักวิชาการกลุ่มคนเสื้อแดง กับนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล รวมแล้วฝ่ายผู้ถูกร้องมีพยาน 6 ปาก ซึ่งส่งบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริง และความเห็นครบทุกคน

สรุปพยานผู้ร้อง 15 ปากยื่นให้ศาล

ส่วนฝ่ายผู้ร้อง พยานในส่วนของฝ่ายผู้ร้องที่ยื่นบันทึกชี้แจงเข้ามาแล้วมี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายสมชาย แสวงการ, นางพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายคมสัน โพธิ์คง, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายถาวร เสนเนียม, นายวัชรา หงส์ประภัศร, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง,นายบวร ยสินทร, นายวรินทร์ เทียมจรัส นายวันธงชัย ชํานาญกิจ รวมทั้ง นายสุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นพยานเพิ่มเติม รวมพยานที่ยื่นบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริงและความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 15 คน

แจ้งถอน ”อานันท์” เป็นพยาน

ส่วนกรณีนายอานันท์ ปันยารชุนนั้น ทาง พล.อ.สมเจตน์ ได้มีหนังสือถอนชื่อออกจากการเป็นพยานแล้วให้เหตุผลว่าผู้ร้องไม่ติดใจที่จะอ้างนายอานันท์ เป็นพยานจึงขอถอนพยานปากดังกล่าว ทั้งนี้ พยานที่ยังไม่ยื่นบันทึกคำชี้แจงนั้นหากศาลอนุญาต และผู้ถูกร้องไม่คัดค้าน ก็สามารถยื่นประกอบการพิจารณาได้ แต่หากมีการคัดค้าน ก็ต้องตกไป

สยามสามัคคีอัดแดงขู่ศาล

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว. แกนนำกลุ่มสยามสามัคคีกล่าวว่าขณะที่ฝ่ายผู้ร้องพร้อมจะต้อนรับทุกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างมีวุฒิภาวะไม่ว่าผลจะออกมาในทิศทางใดแต่ฝ่ายผู้ถูกร้องก็เต้นเป็นเจ้าเข้าราวกับว่าโลกจะถล่มลงในวันนี้พรุ่งนี้ออกอาการลนลานและข่มขู่ว่าบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟเป็นรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์ หรือขู่ว่าเสื้อแดงออกมาแน่ ถ้าไม่ถูกใจแสดงว่าฝ่ายผู้ถูกร้องไม่อาจยอมรับได้หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เป็นโทษต่อเขาแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินบนพื้นฐานของกฎหมายที่อนุญาตไว้ตามตัวบทไม่ได้นั่งเทียนเขียนเองตามอำเภอใจใดๆเลย

มุ่งรื้อ ม.309 ปลดล็อกแม้วพ้นผิด

   “ขอถามว่าถ้าไม่มีปรารถนาของทักษิณที่จะยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นสารพัดความผิดจะมีข้าทาสคนไหนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญบ้างในภาวะที่พรรคเพื่อไทยและนปช.ยึดครองอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติไปแล้วนี้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลสถิตยุติธรรมอื่นจะต้องเป็นอิสระสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จึงเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างเที่ยงธรรมเป็นที่ยอมรับของประชาชน” นายประสาร ย้ำ

“ปริญญา” งง ! มีชื่อโผล่เป็นพยาน

ขณะที่ นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งใน 16 ที่ผู้ร้องให้มาเป็นพยาน ในคำร้อง ร่างการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่เป็นการล้มล้างการปกครอง ยอมรับว่ายังไม่ทราบเรื่องที่จะต้องไปเป็นพยานในคำร้องเรื่องนี้เพราะยังไม่ได้รับหนังสือจากศาลหรือถูกติดต่อมาจากผู้ร้องแต่อย่างใด ซึ่งกรณีดังกล่าวก็มีการร้องเข้ามาให้กรรมการสิทธิ์ฯตรวจสอบเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงเกรงว่าถ้าไปเป็นพยานนั้นจะเป็นการเหมาะสมหรือไม่รวมถึงยังไม่แน่ชัดว่าจะไปชี้แจงในประเด็นไหนอย่างไรในฐานะอะไรก็ต้องกำหนดประเด็นให้ทราบแต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีหมายเรียกมาให้ไปชี้แจงก็ต้องเคารพคำสั่งศาล

แม้วสั่งยอมถอยรักษารัฐบาลปูไว้

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า เมื่อเร็วๆนี้ 7 ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อฉลองชัยชนะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุดรธานีที่ นายวิเชียร ขาวขำ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้รับการเลือกตั้ง
โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พูดกับ ส.ส. ที่ไปพบถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า “หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ระงับจริงๆเราก็ถอย อย่าไปดื้อเพราะดื้อไปก็เกิดปัญหากับรัฐบาล รอฟังศาลโดยภาพรวมไม่อยากให้กระทบกระเทือนรัฐบาล ต้องรักษารัฐบาลไว้ เพราะถ้าดื้อไปก็เป็นภาระรัฐบาล ศาลก็จะพุ่งเป้าไปที่รัฐบาล ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาฯ”

“ปู” รับไร้แผนสำรองรับคำชี้ขาด

ในส่วนของซีกรัฐบาลโดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คงต้องแล้วแต่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญแต่เจตนารมณ์ของรัฐบาล เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่มีการชี้แจงต่อรัฐสภาอยู่แล้ว และทั้งหมดนี้ได้ผ่านขั้นตอนไปสู่รัฐสภา ขอให้รอผลจะดีกว่า  และ นายกฯ ยอมรับว่ารัฐบาลยังไม่มีมีแผนสำรองเพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งต้องรอฟังผลคำวินิจฉัยออกมาก่อน เราไม่ยัง ไม่อยากก้าวล่วง ทั้งนี้ นายกฯก็หวังและเชื่อมั่นว่าผู้ตัดสิน คงจะให้ความเป็นธรรมและพิจารณาจากข้อเท็จจริง

วอนทุกฝ่ายอยู่ในกรอบ กม.

ส่วนสถานการณ์การเมืองจะกลับมาร้อนแรงอีกเพราะขณะนี้กลุ่มต่างๆออกมาเคลื่อนไหวทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านรัฐบาล นายกฯตอบว่าวันนี้อยากขอวิงวอนทุกภาคส่วนข้อคิดเห็นที่แตกต่างสามารถทำได้ภายใต้ขอบเขตสิทธิเสรีภาพและข้อกฎหมา แต่อยากให้แสดงออกทางความคิดเห็นให้เกิดความสงบและเกิดความเชื่อมั่น ถ้าเราร่วมกันในการสร้างความเชื่อมั่นในการแสดงออกให้ประเทศชาติก้าวพ้นไปได้ อันนี้จะทำให้ประเทศของเราสามารถเดินต่อไปได้
ในกรณีนี้พรรคเพื่อไทยจะดูแลคนเสื้อแดงกลุ่มสนับสนุนของพรรคอย่างไรเพื่อไม่ให้ก่อความวุ่นวาย นายกฯย้ำว่าต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การที่แสดงความคิดเห็นเราเคารพสิทธิและความคิดเห็น ขอให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการชุมนุมอะไรต่างๆขอให้เป็นไปโดยสงบ

“ยงยุทธ” ยันไม่ได้ล้มล้างการปกครอง

ด้าน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าพร้อมไปชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ 6 ก.ค. นี้พรรคเพื่อไทยได้ทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วโดยเนื้อหาที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีข้อความใดที่ชี้ว่าเป็นการล้มล้างสถาบันหรือการปกครอง ส่วนที่ตนไปเพื่อที่จะไปตอบคำถามเพิ่มเติม หากศาลรัฐธรรมนูญ ต้องการที่จะซักถาม อีกทั้งยังมีทีมกฎหมายของพรรคไปชี้แจงขอยืนยันในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนในมาตรา 291 ไม่มีเรื่องเหล่านี้อยู่เลย อีกฝ่ายอาจคิดเอาเองทั้งที่มันยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญเลย และการแก้ทั้งฉบับก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เราต้องชี้แจง ต้องยืนยันความบริสุทธิ์ของเรา

ให้ท้ายแดงชุมนุมกดดันศาล รธน.

เมื่อถามว่าจะมีคนเสื้อแดง เดินทางไปร่วมรับฟังการไต่สวนหรือไม่ นายยงยุทธ ตอบว่า ไม่ทราบ ไม่ใช่เรื่องของพรรคเพื่อไทย ส่วนคนเสื้อแดงจะไปหรือไม่ ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชน หากเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถทำได้ ส่วนมีผลสำรวจโพลล์ระบุว่าประชาชนต้องการให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อนนายยงยุทธตอบว่าเป็นสิ่งที่รับฟังอยู่แล้ว แม้เป็นเพียง 1 เสียงก็ต้องรับฟัง เราจะนำไปพิจารณาประกอบต่อไป

“เฉลิม” ยังเชื่อศาลยกคำร้องแน่

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวให้ความเห็นว่ายังมองสถานการณ์ในแง่ดีคิดว่าศาลคงยกคำร้อง ท่านคงฟังความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่ จะเห็นว่าผู้อาวุโสในศาลฎีกา นักรัฐศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ อดีตวุฒิสมาชิก ก็ออกมาทางเดียวกันว่าเรื่องนี้ไม่เข้าเกณฑ์ ม.68 และที่ชัดเจนคืออัยการที่เป็นทนายของแผ่นดินกรุณายืนยัน 2 ครั้งและเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไตร่สวนแล้วยกคำร้อง บ้านเมืองจะได้เดินหน้าไปได้

ประชดโดนยุบตั้งพรรคทักษิณ

   “ถามว่าเกิดมีคำสั่งยุบพรรคตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต้องอย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นคณะกรรมการในพรรค ยุบพรรคได้ แต่ยุบรัฐบาลไม่ได้ หากคิดว่าจะให้นายกรัฐมนตรีพ้นหน้าที่ ก็ไม่เกี่ยวกัน เราหาพรรคสังกัดใหม่ได้ใน 60 วัน รัฐธรรมนูญเขียนชัด อย่าไปคิดว่าจะเกิดโกลาหลแบบสมัยไทยรักไทย พลังประชาชน ถ้าใครคิดอย่างนี้คิดผิด รัฐบาลจะยังอยู่แน่” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวพร้อมย้ำว่าให้ตั้งชื่อพรรคใหม่ว่าพรรคทักษิณไปเลยหมดเรื่อง ไหนๆก็ไหนๆให้มันรู้แล้วรู้รอดไปและมั่นใจไม่มีสัมภเวสีเร่รอนย้ายพรรคแน่นอน

จี้ศาล รธน. ถ่ายสดวันไต่สวนแก้ รธน.

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย แถลงเรียกร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญถ่ายทอดการไต่สวนบุคคล ในกรณีการพิจารณาคำร้องของบุคคล ที่ขอให้ศาลพิจารณาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ในวันที่ 5 และ 6 ก.ค. นี้ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชน นอกจากนั้นขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ดูในรายละเอียดของฝ่ายผู้ถูกร้องที่จะชี้แจง ซึ่งตนไม่อยากให้มีการตัดบุคคลที่จะมาเป็นพยาน นอกจากนี้ยังตอบโต้การปราศรัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ล้มองค์การอิสระ ว่า การพูดดังกดล่าวเป็นการเสี้ยม ยั่วยุให้ประชาชนเห็นภาพว่าการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ จะมีการยุบองค์กรอิสระ และสร้างประชาธิปไตยใหม่

ก่อแก้วพาล ! ด่า มธ. จิตวิญญาณตกต่ำ

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงที่รัฐสภา ตอบโต้กรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ออกมาระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ได้ทั้งฉบับโดยยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ทั้งฉบับเพราะได้ยกหมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญปี 50 มาไว้ซึ่งที่นายสมคิดให้ความเห็นเพราะมีแนวคิดฝักใฝ่เผด็จการ เคยเป็นเลขาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 มาอีกทั้งยังทำเพื่อป้องกัน พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียวจึงมองไม่ออกว่าวันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำเพื่อประชาธิปไตยหรือไม่เพราะจิตวิญญาณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกต่ำอย่างน่าเสียหายแล้วแม้เคยเกรียงไกรในยุค อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ แต่สิ่งดีๆตอนนั้นหายไป

ผวาตายหมู่-ขู่ลั่นพร้อมแตกหัก

อย่างไรก็ตามนายก่อแก้วกล่าว่า จากสถานการณ์ที่ออกมาสอดรับกันของฝ่ายที่ต่อต้านการแก้รัฐะรรมนูญ ก็เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาทางลบต่อรัฐสภา รัฐบาลชุดนี้ พรรคเพื่อไทย และตัวเองในฐานะคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเป็นเช่นนั้นจริงก็เชื่อว่าจะมีการยื่นถอดถอน ส.ส. ที่ลงมติสนับสนุนตั้งแต่วาระแรก ตลอดจนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และการถอดถอนคณะรัฐมนตรี แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบแต่เมื่อีการถอดถอน ส.ส. ของพรรคได้สำเร็จก็เหมือนกับพรรคถูกยุบ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบิดเบือนกฎหมายก็น่าจะเกิดความวุ่นวาย เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่มีใครกลัวใคร และจนไปสู่ความแตกหักของสองฝ่ายที่มากขึ้นกว่าเดิม

ทีมกฎหมาย ปชป. ยื่นบันทึกคำให้การ

ในวันเดียวกัน นายราเมศ รัตนเชวงและนายชัยยุทธ ชาญณรงค์ ทนายผู้ได้รับมอบอำนาจ รวบรวมบันทึกคำให้การของบุคคลที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น 1 ในผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยบันทึกคำให้การที่ยื่นต่อศาลในวันนี้ โดยประกอบด้วย คำให้การของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพยานและนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพยาน

แนบคำปราศรัย ”ทักษิณ” โยงเจตนา

มีประเด็นที่น่าสนใจคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวระบุให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ อีกทั้งยังให้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยที่รัฐสภาไม่มีโอกาสพิจารณาเนื้อหาใดๆของร่างรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ประธานรัฐสภาจะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเปลี่ยนแปลงรูปรัฐหรือเปลี่ยนแปลงหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เท่านั้นจึงจะส่งรัฐสภาพิจารณา อีกทั้ง นายถาวรยังทำคำให้การไว้3เหตุผล คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 ขัดรัฐธรรมนูญเพราะตามมาตรา 291 ประกอบมาตรา 68 ให้แก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้นไม่ใช่ล้มล้าง หรือ ฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นต้น
ทั้งนี้คำให้การของนายถาวรยังแนบคำปราศรัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในหลายโอกาส ที่สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมามีอำนาจปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงขัดมาตรา 68 ชัดเจน จึงของให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว ด้วยการเลิกแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ชี้อานันท์-สมคิด เป็นพยานอยู่ที่ศาล

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพยานบุคคลฝ่ายผู้ร้องในคดีดังกล่าวว่าได้ให้ทีมกฎหมายพรรคในฐานะตัวแทนไปยื่น บันทึกถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วและได้จะนำมาเผยแพร่ต่อสื่อเพื่อไม่ให้มีใครสามารถกดดันศาลรัฐธรรมนูญได้ และไม่ทราบ กรณีมีชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีกับนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกอ้างเป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง อาจผู้ร้องรายหนึ่งรายใดใน 5 รายที่ได้ระบุชื่อของบุคคลทั้ง 2 เพื่อเป็นพยาน
“หากศาลท่านเห็นว่าบุคคลใดที่มีความรู้หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องเฉพาะด้านที่ศาลต้องการทราบ ข้อมูลก็สามารถออกหนังสือเชิญท่านผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆมาให้ถ้อยคำในชั้นการไต่สวนเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลได้ ซึ่งศาลที่ใช้ระบบการไต่สวนใช้วิธีนี้ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและเรื่องที่เกี่ยวข้องกันทั่วโลก”

ยิ่งลักษณ์หม่ำข้าวถกกับผู้นำเหล่าทัพ

ในช่วงเที่ยงวันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้พบปะหารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพอย่างไม่เป็นทางการ ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ให้การต้อนรับและได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันแบบเป็นกันเองกับผบ.เหล่าทัพทั้งพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กห. พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัด กห. และผู้บัญชาการเหล่าทัพคนอื่นๆท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่กำลังรุมเร้าทุกด้าน

ยันเป็นเอกภาพ-เคลียร์ข่าวขัดแย้ง

ทั้งนี้ ได้ร่วมรับประทานอาหารใช้เวลาประมาณ 30 นาที หลังมีกระแสข่าวในเรื่องความขัดแย้งที่กองทัพไม่เห็นด้วยและให้คำแนะนำกรณีที่องค์การนาซาจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงข่าวความคิดเห็นของรัฐบาลกับกองทัพที่ไม่ตรงกันในเรื่องระยะเวลาการถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทไทยและกัมพูชาพร้อมทั้งโยง 2 เรื่องให้เป็นประเด็นทางการเมือง ผบ.สส. จึงให้ ผบ. เหล่าทัพมีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจกับนายกฯโดยแสดงให้เห็นว่ากองทัพกับรัฐบาลทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหาและเป็นเอกภาพ ไม่มีความขัดแย้ง