เกษียร เตชะพีระ: เมื่อคุณไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย คุณทำอะไรได้บ้าง ?

มติชน 13 กรกฎาคม 2555 >>>




หลังสดับตรับฟังการไต่สวนและซักค้านพยานในการไต่สวนคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาขัดต่อมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ไปได้พักหนึ่ง ผมอดคิดไม่ได้ว่าที่ตรงรากของปมขัดแย้งใหญ่ทางการเมืองหลายเรื่องในเมืองไทยปัจจุบันคือสิ่งที่วงวิชาการจิตเวชศาสตร์เรียกว่า กลุ่มอาการขี้ฟ้องหวาดระแวง (Querulous or Litigious Paranoia Syndrome) ที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยมีต่อเสียงข้างมากในระบบรัฐสภาและสังคมการเมือง
กลุ่มอาการขี้ฟ้องหวาดระแวงดังกล่าวแสดงออกโดยเสียงข้างน้อยรู้สึกหมกมุ่นฝังใจว่าตนถูกเสียงข้างมากข่มเหงรังแกในเรื่องเล็กน้อยหยุมหยิม จนเสียงข้างน้อยยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อทางการ หรือฟ้องร้องทางกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งที่เห็นชัดว่ากรณีเหล่านั้นไม่มีมูล
ฐานคิดของเสียงข้างน้อยซึ่งนำไปสู่อาการดังกล่าวนี้ก็คือการรับไม่ได้กับบางมิติแง่มุมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ สำหรับมิติแง่มุมที่ว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครอง ของประชาชนและเพื่อประชาชน (democracy = goverment of the people and for the people) นั้น เสียงข้างน้อยรับได้ไม่มีปัญหา
แต่มิติแง่มุมที่ว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยประชาชน (democracy = government by the people) ด้วยนี่สิ เสียงข้างน้อยมิอาจรับได้ เพราะมันแปลว่าจะต้องยอมรับการปกครองโดย "พวกมึง" ซึ่งเป็นเสียงข้างมาก แล้วจะปล่อยให้คนเลวคนโง่ คนถูกเขาหลอกเขาซื้อ คนทุจริต คอร์รัปชั่น คนซื้อสิทธิขายเสียง คนขายชาติเห็นแก่ตัวอย่าง "พวกมึง" มาปกครองคนดี คนฉลาด คนรักชาติอย่าง "พวกกู" ได้อย่างไร?
เอางี้ดีกว่าให้พวกกูซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยปกครองพวกมึงซึ่งเป็นเสียงข้างมากเพื่อพวกมึงก็แล้วกัน เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยของพวกมึงและเพื่อพวกมึงแต่ปกครองโดยพวกกู ดังที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร คปค. 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นต้น
และสุดท้ายเมื่อจนแล้วจนรอดพวกมึงดันชนะเลือกตั้งเพราะเป็นเสียงข้างมากกลับมาปกครองบ้านเมืองโดยพวกมึงเองอีก พวกกูก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก "ค้านแหลก" และ "ขี้ฟ้องหวาดระแวง" เท่านั้นเอง
นี่แหละครับที่ทำให้การเมืองแบบทำลายล้างกันไม่นิ่ง และการเมืองแบบช่วยกันสร้างสรรค์ ไม่เดิน ทั้งที่ยูโรโซนอาจจะแตก ส่งออกอาจจะตก โลกกำลังร้อนและอากาศวิปริตแปรปรวนขึ้นเรื่อยๆ น้ำก็อาจจะกลับมาท่วมอีก ฯลฯ ขณะเพื่อนบ้านอย่างพม่าและเวียดนามจ้ำพรวดๆ ไปถึงไหนต่อไหน
คือเราต้องให้ชัดครับว่าจะเป็นการเมืองแบบไหน? ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยที่นานาอารยประเทศเขาเป็นกัน มันก็มีแบบนี้แบบเดียวแหละ คือปกครองโดยเสียงข้างมาก ส่วนเสียงข้างน้อยมีสิทธิคัดค้านถ่วงทาน แต่ต้องยอมรับอำนาจเสียงข้างมากเพื่อบ้านเมืองเดินหน้าต่อได้ แล้วก็สู้กันต่อไปตามกฎเกณฑ์กติกา เผื่อแข่งขันเลือกตั้งรอบหน้า เสียงข้างน้อยอาจชนะใจชาวประชาได้เป็นเสียงข้างมากบ้าง ก็เท่านั้นเอง
ไม่มีหรอกประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ปกครองโดยเสียงข้างน้อยเพื่อพวกมึงซึ่งเป็นเสียงข้างมาก มิฉะนั้นก็เป็นเผด็จการแบบพม่าหรือเวียดนามให้รู้แล้วรู้แรดไปเลย ซึ่งเราก็ไม่อยากเป็นอีกนั่นแหละ อายฝรั่งมัน
ทีนี้ในระบอบเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยสามารถทำอะไรได้บ้างในการคัดค้าน ถ่วงทานเสียงข้างมาก ? โดยหลักทั่วไปทางรัฐศาสตร์ ทำได้ดังนี้ครับ
1) แนวทางเสรีประชาธิปไตย (liberal democratic opposition):การต่อต้านคัดค้านอำนาจรัฐ ที่บุคคลหรือกลุ่มไม่เห็นด้วยโดยยึดแนวทางเสรีประชาธิปไตย คือต่อสู้ในกรอบของกฎหมาย ใช้ สิทธิเสรีภาพของบุคคลและกลุ่มในกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้เต็มที่ถึงที่สุดเท่าที่กฎ-หมายเปิดช่องให้ เพื่อโน้มน้าวเปลี่ยนใจเสียงข้างมากให้มาเห็นด้วยกับฝ่ายตน
ในความหมายนี้เส้นแบ่งสำคัญที่ตีกรอบจำกัดการเคลื่อนไหวต่อสู้กับอำนาจรัฐของแนวทางเสรีประชาธิปไตยคือกฎหมาย
2) แนวทางอารยะขัดขืน (civil disobedience) หรืออหิงสาของคานธี:กรอบไม่ใช่กฎหมาย กล่าวคือพร้อมจะสู้ในกรอบกฎหมาย แต่ก็พร้อมจะสู้นอกกรอบกฎหมายด้วย เพราะหลักการที่สำคัญคือสัจธรรม ซึ่งถือว่าสูงส่งเหนือกว่ากฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีข้อแม้สำคัญคือต้องสู้อย่างสันติวิธี แปลว่าผู้ประท้วงพร้อมจะถูกทำร้ายจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายตรงข้าม แต่จะไม่ยอมยกมือทำร้ายคนอื่นกลับเด็ดขาด
และเมื่อต่อสู้โดยล่วงละเมิดกฎหมาย ก็พร้อมจะให้ทางการลงโทษตามกฎหมายโดยไม่หนีไม่บ่ายเบี่ยงด้วย เพราะเป้าหมายสำคัญคือตีลงไปตรงจุดอ่อนที่สุดของอำนาจ ได้แก่จิตใจของผู้กุมอำนาจฝ่ายตรงข้าม
อาศัยการเสียสละยอมแบกรับความรุนแรงและการลงโทษจากรัฐ ด้วยเลือดเนื้อร่างกายและชีวิตของตน มาสะเทือนใจและเปลี่ยนใจคู่ต่อสู้ มาสะเทือนใจและเปลี่ยนใจประชาชนผู้ดูเพื่อให้พวกเขาละทิ้งอสัตย์อธรรม หันมาเห็นสัจธรรม และเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบกฎหมายที่ผิดร้ายเสีย
ในความหมายนี้เส้นแบ่งสำคัญที่ตีกรอบจำกัดการเคลื่อนไหวต่อสู้กับอำนาจรัฐของแนว ทางอารยะขัดขืนหรืออหิงสาคือสันติวิธี (ถือหลักวิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย) และการยอมเสียสละแบกรับความรุนแรงและการลงโทษจากรัฐไว้เอง (อภัยวิถี = อย่ากลัวเราเลย เราไม่ทำร้ายหรือเป็นภัยต่อท่านดอก)
3) แนวทางอนารยะ/อนาธิปไตย (anarchism): อย่างไรก็ตาม แนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนฝ่ายต่างๆ หลายปีหลังนี้กลับออกมาในลักษณะอนารยะ/อนาธิปไตย ไม่ เพียงล้ำเส้นกฎหมาย แต่ยังล้ำเส้นสันติวิธีและหลักอภัยวิถี มีการติดอาวุธ ทำร้ายกันไปมา และก่อความกลัวแก่ฝ่ายตรงข้ามและประชาชนผู้ดูทั่วไป ซึ่งขัดกับทั้งหลักเสรีประชาธิปไตยและหลักอารยะขัดขืนหรืออหิงสา-สันติวิธี อันกลับส่งผลเสียในระยะยาว คือทำให้ง่ายต่อการถูกป้ายสีจากฝ่ายตรงข้าม และโดดเดี่ยวจากสาธารณชน อาจเพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้ทางการเมือง แม้ว่าอาจบรรลุผลขัดขวางการดำเนินงานตามปกติของภาครัฐและภาคเอกชนในระยะสั้นก็ตาม
อนึ่ง แนวทางอนาธิปไตยนี้อาจล้ำเส้นไปสู่การก่อการร้ายทางการเมือง (political terrorism) ได้หากครบองค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการคือ :
ก) ใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่คุกคามว่าจะใช้ความรุนแรง (Violence)
ข) ต่อเป้าหมายพลเรือน (Civilian Targets)
ค) ก่อให้เกิดความหวาดกลัวสยดสยองทั่วไปในหมู่สาธารณชน (Fear)
ง) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง (Politics)
สรุปก็คือ Political Terrorism = V+C+F+P นั่นเอง
ฝ่ายค้านในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของอำนาจเสียงข้างมาก จึงสามารถต่อสู้คัดค้านถ่วงทานได้ตามแนวทางเสรีประชาธิปไตย หรือกระทั่งแนวทางอารยะขัดขืน/ อหิงสาสันติวิธี แต่ควรระวังป้องกัน หลีกเลี่ยงกระทั่งต่อต้านห้ามปรามการต่อสู้คัดค้านในแนวทางอนารยะ/อนาธิปไตยซึ่งก่อผลทำลายเสียหายอย่างร้ายแรงต่อส่วนรวมในรอบหลายปีที่ผ่านมา
แน่นอน หากมองนอกกรอบระบอบเสรีประชาธิปไตยออกไป คือไม่คิดหรือไม่แคร์ที่จะผดุงรักษาระบอบการเมืองนี้ไว้ การต่อต้านคัดค้านก็อาจออกมาในรูปล้มล้างระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตยโดยตรง เช่น รัฐประหารอย่างที่ คปค. ทำเมื่อปี 2549 และใครบางคนยังป่าวร้องให้ทำอีกๆ ไม่ขาดปากตราบเท่าถึงทุกวันนี้ เป็นต้น