ศิริโชคแจกเอกสารแจงข้อกล่าวหามาร์คหนีทหาร

แนวหน้า 23 กรกฎาคม 2555 >>>




เอกสารคำชี้แจงของนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกพรรคเพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวหาว่าใช้เอกสารเท็จเพื่อสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ร.ร.นายร้อยจปร.) เป็นเอกสารที่แจกให้สื่อมวลชนประกอบการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2555
เนื้อหาของเอกสารดังกล่าว ชี้แจงประเด็นการถูกกล่าวหาว่าใช้เอกสารเท็จสมัครรับราชการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีรายละเอียดดังนี้
1) รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กระทรวงกลาโหมที่มี พล.อ.อ สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2555 ก็ยังอิงผลการตรวจสอบเบื้องต้นของคณะกรรมการสอบสวนในปี  42 โดยสรุปได้ใจความว่า นายอภิสิทธิ์สมัครรับราชการทหาร เมื่อตอนอายุ 22 ปีโดยหลักฐานที่ต้องใช้คือ ใบ สด.49 (ลงทะเบียนเป็นทหารกองเกิน)และใบ สด.43 (ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร) หรือต้องใช้หลักฐานการผ่อนผัน (ใบ สด.41 ตามมาตรา 27 (2)) กรณีไปศึกษาต่างประเทศ) แต่นายอภิสิทธิ์ขาดหลักฐานสำคัญดังกล่าวจึงทำให้ไม่มีคุณสมบัติในการสมัครรับราชการ
คณะกรรมการสอบสวนในปี 42 จึงได้สรุปว่าเป็นความบกพร่องของ กพ.ทบ และเจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้องที่บรรจุนายอภิสิทธิ์เป็นข้าราชการโดยขาดหลักฐานสำคัญ อันได้แก่ ใบ สด.43 หรือหลักฐานการผ่อนผัน ใบ สด.41 จึงมีการเสนอให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้องประเด็นที่ต้องถามก็คือว่า นายอภิสิทธิ์ขาดคุณสมบัติเพราะเป็นบุคคลที่ขาดการตรวจเลือก เนื่องจากไม่ได้ไปเกณฑ์ทหารในช่วงเมษายน ปี 30 อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานการผ่อนผันไปศึกษาต่อต่างประเทศ จริงหรือไม่
ตอบ: นายอภิสิทธิ์ ได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 11 ปี และเมื่อจบการศึกษาปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษก็ได้กลับมาประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายน 2529 และได้ไปลงทะเบียนเป็นทหารกองเกินและได้รับใบ สด 9 เมื่อวันที่ 4กรกฎาคม 2529 และมีกำหนดการ ต้องไปรับใบสด 35 (หมายเกณฑ์) เพื่อเกณฑ์ทหารในปีถัดมาคือเมษายน 2530 แต่ในช่วงที่รอการไปเกณฑ์ทหารนายอภิสิทธิ์ก็ตัดสินในการที่จะไปสมัครเป็นข้าราชการทหารโดยได้ยื่นใบสมัครไปในช่วงกันยายน ปี 2529 แต่ในขณะที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหารพร้อมๆกันนั้นก็มีข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดให้ไปศึกษาต่อปริญญาโท ในช่วงปี  30-32 จึงได้ทำการผ่อนผันไปศึกษาต่อตามใบ สด 41 เลขที่ 4892/29ลงวันที่ 4 พ.ย. 2529 โดยสำนักงานดูแลนักเรียนอังกฤษในต่างประเทศภายใต้ กพ.เป็นผู้ดำเนินการ และยังมีชื่อปรากฎในทะเบียนบัญชียกเว้นหรือผ่อนผันกรณีไปศึกษาต่างประเทศ (สด.20) และอนุมัติให้ได้รับการผ่อนผันตั้งแต่ ปี 30-32 ดังนั้นนายอภิสิทธิ์จึงได้รับการยกเว้น ไม่ต้องไปตรวจเลือกในเดือนเมษายนปี 30 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 27 (2) ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ จึงไม่ได้ขาดคุณสมบัติ และยังมีหลักฐานครบสมบูรณ์ในการสมัครรับราชการทหารมิได้เป็นไปตามรายงานผลสอบสวนเบื้องต้นเนื่องจากตามหลักเกณฑ์นั้น ชายไทยอายุตั้งแต่ 21 ปีเป็นต้นไปถ้าจะสมัครรับราชการทหารจะต้องมี ใบ สด.9 และใบ สด.43 หรือใบ สด.9 และ หลักฐานการผ่อนผัน ใบ สด.41 สำหรับกรณีนายอภิสิทธ์นั้นเนื่องจากอายุเกิน 21 ปี และยังมิได้ไปตรวจเลือกเนื่องจากได้รับการยกเว้น จึงเข้าเกณฑ์การใช้ใบสด 9 และใบ สด.41
ฉะนั้นการสอบสวนเบื้องต้นของคณะกรรรมการชุดปี 42 และการยืนยันของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของ พล.อ.อ.สุกำพล ซึ่งตั้งเมื่อเดือน มิถุนายน 55 ตามใบสั่งของฝ่ายการเมืองนั้นจึงขาดความรอบคอบ และจงใจที่จะไม่พิจารณา ทะเบียนบัญชียกเว้นหรือผ่อนผันกรณีไปศึกษาต่างประเทศ (สด.20) ซึ่งนายอภิสิทธิ์เคยชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วนั้น อีกทั้งเอกสารหลายๆชิ้นก็ถูกทำลายทิ้งไปหมดแล้วเนื่องจากราชการเก็บเอกสารไม่เกิน 10 ปีทำให้ไม่ทราบว่านายอภิสิทธิ์นั้นได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 27 (2)  ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ พ.อ.สมโชค เจรทหารบกซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯเมื่อปี 42 เมื่อถูกซักค้านจากทนายของนายอภิสิทธิ์ก็ยอมรับอย่างสดุดีว่า “พยานไม่ทราบว่าการไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษของนายอภิสิทธิ์จะมี ก.พ. เป็นผู้ดูแลทำหนังสือผ่อนผันโดยตรงและไม่ต้องมารับการตรวจเลือกฯ แต่ถ้าเป็นกรณีแบบนี้จริงยอมรับว่าไม่ใช่การหนีทหาร แต่เป็นเรื่องที่ได้รับการผ่อนผัน และเมื่อนายอภิสิทธิ์ได้เป็นอาจารย์ สอนหนังสือที่ โรงเรียนนายร้อย จปร. แล้วจึงไม่ต้องถูกเรียกเข้าประจำการ ตามมาตรา 14 วรรค 7 “เพราะฉะนั้นคณะกรรมการฯทั้งสองชุดจึงมีบทสรุปที่ผิดพลาด และอคติไม่เป็นไปตามหลักสากล เพราะมีการตั้งโจกท์เพื่อเอาผิดนายอภิสิทธิ์ตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งข้อเสนอที่ให้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้องจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดี หรือลงโทษทางวินัยสักรายเลย
2) กรณีที่ กระทรวงกลาโหมกล่าวอ้างว่า “ในครั้งนี้ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ขั้นตอนการบรรจุมีหลักฐานใบสำคัญทางทหาร คือหนังสือรับรองการผ่อนผันไม่เรียกเข้ากองประจำการในยามปกติตามหนังสือแผนกสัสดีกรุงเทพมหานคร ที่ กห 0481.62/5053 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2530 ซึ่งเป็นหลักฐานที่ขัดต่อพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 เนื่องจากเป็นการรับรองว่านายอภิสิทธิ์ได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 29 (3) และเข้าบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2525 ได้รับการผ่อนผันไม่เรียกเข้ากองประจำการในยามปกติซึ่งตามความจริง นายอภิสิทธิ์จะต้องไม่ได้รับการผ่อนผันเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้กำลังศึกษาหรือมีสิทธิขอผ่อนผันตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 29 (3) ทั้งยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินจึงไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบบุคคลในราชการทหารทำให้ไม่ต้องขอหรือไม่สามารถขอรับการผ่อนผันในการเข้ารับราชการทหารได้หรือหากได้ขอรับการผ่อนผันกรณียังศึกษาอยู่ต่างประเทศโดยมีหนังสือรับรองจากสถานศึกษาต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต จะต้องได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 27 (2) เป็นแบบ สด.41 อีกทั้งยังมีหลักฐานต้นขั้วแบบ สด.9 และเอกสารแบบ สด.1 ฉบับจริงยืนยันว่านายอภิสิทธิ์เข้าบัญชีทหารกองเกิน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2529
แต่ใบสำคัญ (แบบ สด.9) แทนฉบับที่ชำรุดสูญหายลงวันที่ 8 เม.ย. 2531 ยังกำหนดข้อความผิดจากการเข้าบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2529 เป็นเข้าบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2531 ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลฉบับเดิมที่ตรวจสอบพบเพิ่มเติม
ดังนั้นใบสำคัญ (แบบ สด.9) แทนฉบับที่ชำรุดสูญหายลงวันที่ 8 เม.ย. 2531 จึงไม่อาจใช้เป็นหลักฐานใบสำคัญทางทหารที่ถูกต้องได้
ตอบ: กรณีนี้ก็เช่นกัน เป็นการสรุปที่มาจากความอคติหรือได้รับแรงกดดันทางการเมือง เพราะตั้งโจทท์ผิดตั้งแต่ต้นก็เลยมีความพยายามจับแพะมาชนแกะ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือนายอภิสิทธิ์ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหารเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2530 โดยใช้หลักฐานในการสมัครอันได้แก่ใบสด 9 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 และใบ สด.41 เลขที่ 4892/29 ลงวันที่ 4 พ.ย. 2529 ซึ่งปรากฎในทะเบียนบัญชียกเว้นหรือผ่อนผันกรณีไปศึกษาต่างประเทศ (สด.20) มิได้ใช้หนังสือรับรองการผ่อนผันไม่เรียกเข้ากองประจำการในยามปกติ ตามหนังสือแผนกสัสดีกรุงเทพมหานคร ที่ กห 0481.62/5053 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2530 หรือใบสำคัญ (แบบ สด.9) แทนฉบับที่ชำรุดสูญหายลงวันที่ 8 เม.ย. 2531 แต่อย่างใด
แต่เหตุที่ต้องไปขอใบสำคัญ (แบบ สด.9) แทนฉบับที่ชำรุดสูญหาย ลงวันที่ 8 เม.ย. 2531 ก็เพราะเมื่อต้องมีการติดยศให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรนั้นปรากฎว่าโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. ได้ทำเอกสารดังกล่าวหายก็เลยจำเป็นต้องไปขอใบสำคัญ (แบบ สด.9) แทนฉบับเดิมสำหรับเอกสารรับรองการผ่อนผันตามหนังสือแผนกสัสดีกรุงเทพมหานคร ที่ กห. 0481.62/5053 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2530 นั้นเป็นเอกสารที่ไม่ปรากฎในรายงานคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้นปี 2542 แต่เป็นเอกสารที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่ตั้งเมื่อ มิถุนายน 55 เพิ่งหยิบยกขึ้นมาอ้าง อีกทั้งเอกสารฉบับนี้ยังปรากฎในหนังสือ redpower ซึ่งเป็นหนังสือของเครือข่ายคนเสื้อแดงแต่เมื่อดูตามข้อเท็จจริงแล้วไม่มีความจำเป็นที่นายอภิสิทธิ์ต้องใช้เอกสารผ่อนผันของสัสดีลงวันที่ 31 ก.ค. 2530 เพราะนายอภิสิทธิ์ได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 27 (2) ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 2529 ซึ่งปรากฎในทะเบียนบัญชียกเว้น หรือผ่อนผันกรณีไปศึกษาต่างประเทศ (สด.20)
3) ในหนังสือที่ทำถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่อ้างถึงผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 55 นั้นมีการเสนอ พิจารณาดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอมเอกสารและนำเอกสารไปใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ตอบ เป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองในการโยนความผิดให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพราะในข้อเท็จจริง เอกสารทั้งหมดเป็นเอกสารภายในของราชการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีการรับรองโดยนายอภิสิทธิ์ แม้แต่คณะกรรมการฯชุดปี 42 ซึ่งมีความบกพร่องในการสอบสวน ยังมีบทสรุป เพียงแค่ว่ากองทัพมีความบกพร่อง ที่ปล่อยให้อภิสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ได้เข้ารับราชการในสังกัดกลาโหม และ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือนายพลและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่แต่งตั้งโดยฝ่ายการเมืองคือ พล.อ.อ.สุกำพล พยายามป้ายสีนายอภิสิทธิ์เพิ่มเติมโดยนอกจากเจ้าหน้าที่ของกองทัพจะบกบกพร่องแล้ว แต่ยังพยายามกล่าวหานายอภิสิทธิ์อาจเคยใช้หลักฐานปลอมในการสมัคร ซึ่งในข้อเท็จจริงนายอภิสิทธิ์ มิเคยใช้เอกสารปลอมในการสมัครแต่อย่างใดแต่ในทางกลับกันเอกสารที่นายอภิสิทธิ์ใช้ในการสมัครล้วนเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นข้าราชการทหารทั้งสิ้น