วัสสการพราหมณ์ ตัวละครใน “สามัคคีเภทคำฉันท์” อันเป็นบทประพันธ์ของ ชิต บุรทัต กวีเอกในแผ่นดินรัชกาลที่ 6
“วัสสการพราหมณ์”
ชิต บุรทัต เชี่ยวชาญในเชิงฉันท์อย่างไร คงจะเห็นกันได้จากการร่ำพรรณนาถึงความงดงามของ กรุงราชคฤห์อันเป็นนครหลวงของพระเจ้าอาชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ เอาไว้ว่าดังนี้
“ช่อฟ้าตระการกละจะหยัน จะเยาะยั่วทิฆัมพร บราลีพิลาศุภจรูญ นพศูลประภัศร หางหงส์ผจงพิจิตระงอน ดุจะกวักนภาลัย”...
อันนับได้ว่างามนัก วัสสการพราหมณ์ ในคำฉันท์เรื่องนี้เป็นครูอาจารย์ผู้สอนศิลปะวิทยาอยู่ในแคว้นมคธ แต่ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นก็คือ เป็นนักการเมืองเจ้าเล่ห์ เป็น “บ่างช่างยุ” หรือว่า นักยุแยงตะแคงรั่วมือระดับปรมาจารย์
วัสสการพราหมณ์เข้าไปเป็น “ไส้ศึก” อยู่ในแว่นแคว้นวัชชีซึ่งปกครองโดยเหล่าบรรดากษัตริย์ ลิจฉวี และใช้ระยะเวลายุแหย่อยู่ไม่นานนัก เหล่าบรรดาผู้นำดังที่ว่านั้น ก็ถึงกาลแตกแยก
ก่อนหน้านี้วัสสการพราหมณ์ได้ยอมเจ็บตัวเล่นละครตบตา ยอมให้เจ้านายตนเฆี่ยนตี และโกน หัวขับไล่ให้ออกจากเมืองไป ดังที่ผู้ประพันธ์ได้บรรยายเอาไว้ว่า
“ยลเนื้อก็เนื้อเต้น พิศะเส้นก็สั่นรัว
ทั้งร่างและทั้งตัว ก็ระริกระริวไป
แลหลังก็หลั่งโล หิตโอ้เลอะลามไหล
พ่งผาดอนาถใจ ตละล้วนระรอยหวาย”...
และนี่ก็คือฝีมือในการแต่งฉันท์ที่เป็นหนึ่งของชิต บุรทัต สามัคคีเภทคำฉันท์ ไม่เพียงแต่งดงามด้วยภาษากวีเท่านั้น แต่เนื้อหาสาระนับว่า ยังเหมาะเป็นยิ่งด้วยสำหรับสังคมไทยยามนี้
เหตุก็เพราะความไม่สมานฉันท์ ไม่สามัคคีกัน โดยแท้ ที่นำมาซึ่งความวิบัติล่มจมของบ้านเมือง
ฟังว่า เหล่าบรรดากษัตริย์ลิจฉวีอันเป็นผู้ปกครองแคว้นวัชชีทั้งปวงนั้น ได้เคยมีการปกครองใน ระบบรัฐสภาที่เข้มแข็งเป็นอย่างยิ่ง
ก่อนที่วัสสการพราหมณ์จะเข้ามาทำให้สภาเกิดแตกแยก และเกิด หวั่นระแวงแคลงใจกันขึ้น ดังที่ผู้ประพันธ์ว่า
“สามัคคีธัมมะทำลาย มิตระภิทนะกระจาย
สรรพะเสื่อมหายน์ ก็เปนไป”...
สมดังชื่อเรื่องว่า สามัคคีเภท สรุปแล้ว ทั้งสภาและบ้านเมืองประชาชนของแคว้นวัชชีก็ไม่มีอะไรเหลือ ด้วยฝีมือการยุแหย่ ของวัสสการพราหมณ์แต่ผู้เดียวโดยแท้
ทีนี้เราก็ลองมาศึกษาบทบาททางการเมืองของ วัสสการพราหมณ์กันดูบ้างว่า มันจะสอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันนี้หรือไม่ ใคร ? กลุ่มใด ? ที่ใช้แผนวัสสการพราหมณ์ ใครกลุ่มใดที่ทำตัวเป็นวัสสการพราหมณ์ ลองศึกษาเปรียบเทียบดูน่ะครับ อาจจะบิงโกมองเห็นทะลุปรุโปร่งถึงการเมืองไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
วัสสการพรามหณ์ มหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลถามว่าทำอย่างไรจึงจะโค่นล้มแคว้นวัชชีซึ่งปกครองโดยเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีได้ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าต้องทำให้เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีแตกความสามัคคีเสียก่อน วัสสการพราหมณ์จึงไปดำเนินอุบายตามนั้นจนสำเร็จ
คำเล่าขานอย่างนี้ เป็นการกล่าวตู่พระพุทธองค์ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ขอนำเรื่องราวจากพระไตรปิฎกมาบันทึกไว้ เพื่อที่จะทำให้เราจะมองภาพออก ว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระเมตตาต่อหมู่สัตว์ มากกว่าที่จะปรารถนาให้เกิดภัยพิบัติ
แคว้นมคธ ปกครองโดยกษัตริย์ ขณะนั้นกษัตริย์ผู้ครองแคว้นคือ พระเจ้าอชาตศัตรู ตั้งอยู่ตรงข้ามกับแคว้นวัชชีโดยมีแม่น้ำคงคาเป็นพรมแดนระหว่างสองแคว้น
ในสมัยนั้น บางรัฐในชมพูทวีปมีการปกครองในระบบสภากษัตริย์ หรือสามัคคีธรรม คือชนในวรรณกษัตริย์ทั้งหลายพระองค์ร่วมกันเป็นคณะราชย์ปกครองเมือง หรือรัฐร่วมกัน ซึ่งลักษณะการปกครองแบบนี้ ในสมัยพุทธกาลมีอยู่ 3 รัฐ ด้วยกันคือ
1. แคว้นวัชชี ปกครองโดย เจ้าลิจวี มีกรุงไพศาลี หรือเวสาลีเป็นเมืองหลวง
2. แคว้นมัลละ ปกครองโดย มัลลกษัตริย์ มีกรุงกุสินาราเป็นเมืองหลวง
3. แคว้นสักกะ ปกครองโดย ศากยราช มีกรุงกบิลพัสด์เป็นเมืองหลวง
เหตุที่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงคิดรุกรานแคว้นวัชชี เพราะมีพระประสงค์จะขยายอาณาเขตอันเป็นการสานต่อปณิธานของพระเจ้าพิมพิสาร (พระบิดา) อย่างหนึ่ง และเพราะความไม่พอพระทัยเกี่ยวกับหมู่บ้านปัฏฏนคาม อีกอย่างหนึ่ง
หมู่บ้านปัฏฏนคามมีดินแดนอยู่ในอำนาจการปกครองของมคธกึ่งหนึ่ง เป็นของวัชชีกึ่งหนึ่ง ที่หมู่บ้านนี้มีคันธชาติ (พวกไม้หอม)ที่มีค่ามากมายไหลตามน้ำมาจากเชิงเขา กษัตริย์ลิจฉวีมักจะให้คนมาเก็บตัดหน้าพระเจ้าอชาตศัตรูอยู่เสมอ พระองค์จึงกริ้วค่ะที่ผลประโยชน์ของมคธตกเป็นของวัชชีทั้งที่มีสิทธิเสมอกัน จึงประกาศสงครามกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี
พระเจ้าอชาตศัตรูเอง ก็ทราบดีว่าการศึกกับวัชชีไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งนี้นอกจากเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีจะสมัครสมานสามัคคีกันแล้ว กองทัพของวัชชียังมีชื่อในด้านการยิงธนู และหัตถิศิลปะ คือการใช้ช้างทำศึก
จึงทรงมาสร้างหมู่บ้านปาฏลีคามที่อยู่ตรงข้ามกับวัชชีให้เป็นเมืองหน้าด่าน มีป้อมปราการมั่นคง ทรงส่งมหาอำมาตย์ทั้งสองคือวัสสการพราหมณ์ และสุนีธพราหมณ์มาคุมทหารมาทำการก่อสร้าง เพื่อปรับปรุงสถานที่ จากหมู่บ้านเล็กๆให้กลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์ เป็นรัฐกันชนระหว่างมคธกับวัชชี และเป็นที่รวมพลพร้อมทั้งยุทธปัจจัย ทั้งกำลังทหารและอาวุธยุทโปกรณ์จะถูกลำเลียงมาพักไว้ ณ ที่นี้ เพื่อที่ว่าในเวลาที่พระเจ้าอชาตศัตรูประกาศสงครามกับพวกสมาพันธรัฐลิจฉวี จะได้เคลื่อนกำลังพลได้สะดวก
ขณะที่วัสสการพราหมณ์กำลังเกณฑ์ไพร่พล ทำการก่อสร้างหมู่บ้านปาฏลีคามให้เป็นเมืองหน้าด่านอยู่นั้น พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ก็เสด็จผ่านมา (บางที่ว่าทรงแสวงหาสถานที่ที่จะปรินิพพาน) เพื่อจะข้ามฟากไปวัชชีที่อยู่ตรงข้าม เมื่อพระเจ้าอชาศัตรูทราบ จึงรับสั่งให้วัสสการพราหมณ์รับเสด็จ นิมนต์ให้พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตามทรงรับภัตตาหาร และให้พราหมณ์ได้ทูลถามหยั่งเชิงดูถึงพระนครไพศาลีอันเป็นเมืองหลวงของวัชชีว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าทรงพยากรณ์ออกมาเป็นอย่างไร ก็จะมีผลต่อการทำสงครามระหว่างมคธกับวัชชีที่กำลังจะมาถึง
เมื่อพราหมณ์ทูลถามพระพุทธองค์ พระองค์ไม่ตรัสพยากรณ์ตรงๆ แต่หันไปถามพระอานนท์ว่า
อานนท์ ปัจจุบันนี้ชาววัชชียังประพฤติอปริหานิยธรรมกันดีอยู่หรือ
พระอานนท์ทูลตอบว่า ยังประพฤติกันดีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า
ตรัสต่อไปว่า หมู่คณะใดประพฤติอปริหานิยธรรมเป็นอันดี โดยชอบให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทแล้ว หมู่คณะนั้นพึงหวังได้แต่ความเจริญเพียงฝ่ายเดียว
การตรัสของพระองค์ บางท่านมองว่าทรงแนะอุบายทำศึกให้พราหมณ์ แต่บางท่านมองว่า ทรงแนะพราหมณ์ว่าอย่าได้ทำสงครามเลย เพราะไม่อาจทำได้สำเร็จ
วัสสการพราหมณ์ฟังแล้วก็รู้ได้ด้วยปัญญาทีเดียว ดังคำที่ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า
"ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียงประการเดียว ก็พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ไม่จำต้องกล่าวว่ามีครบทั้ง ๗ ประการ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี นอกจากจะใช้วิธีปรองดองทางการฑูต หรือไม่ก็ทำให้แตกสามัคคีกัน ข้าแต่พระโคดม ถ้าอย่างนั้น บัดนี้ ข้าพระองค์ขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่ต้องทำอีกมาก"
ในยามที่พระพุทธองค์จะเสด็จออกจากปาฏลีคามเพื่อข้ามฟากไปวัชชี มหาอำมาตย์ทั้งสองได้ส่งเสด็จ และคอยตามดูว่าจะทรงผ่านออกไปทางเส้นทางใด เพื่อจะตั้งชื่อทางนั้นให้เป็นมงคล เช่นเมื่อพระองค์เสด็จออกประตูหนึ่ง ก็ตั้งชื่อประตูนั้นว่า “โคตมทวาร” (ประตูที่พุทธโคดมเสด็จผ่าน) ส่วนท่าน้ำที่พระองค์เสด็จมาเพื่อข้ามฝั่ง ก็ตั้งชื่อว่า “โคตรมติตถะ” (ท่าน้ำที่พุทธโคดมเสด็จข้าม) สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงฐานะอันสูงส่งของพระพุทธองค์ในสมัยนั้น
หลังจากที่ได้ทูลถามพระพุทธองค์แล้ว วัสสการพราหมณ์ ยังคงเป็นผู้คุมกำลังทหารก่อสร้างค่ายคูประตูหอรบ อันเป็นการป้องกันแคว้นต่อไปอีกถึงหนึ่งปี
ต่อมา จึงวางแผนกับพระเจ้าอชาตศัตรู ทำทีเป็นคัดค้านพระเจ้าอชาตศัตรูในการทำสงครามกับวัชชี ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทำทีเป็นโกรธ ให้ลงโทษด้วยการโบยหลัง (บางที่ว่าโกนศีรษะ) แล้วเอาตัวไปขังไว้ จากนั้นพราหมณ์ก็ทำเสมือนหนึ่งว่าหนีจากที่ขุมขังได้ (แต่บางที่ว่าถูกเนรเทษ) แล้วไปขอสวามิภักดิ์กับเหล่ากษัตรย์ลิจฉวี และยุยงให้แตกสามัคคีกัน
เวลาผ่านไปประมาณสองปีแผนการณ์ก็สำเร็จ วัสสการพราหมณ์จึงส่งสัญญาณให้พระเจ้าอชาตศัตรูกรีฑาทัพบุกแคว้นวัชชีทันที ผลก็เป็นไปตามที่วางแผนไว้ คือมคธเป็นฝ่ายชนะ
เหตุที่มคธเป็นฝ่ายชนะ นอกจากจะเพราะอุบายของวัสสการพราหมณ์แล้ว ยังเพราะมคธเอง ก็พัฒนากองทัพตนจนเข้มแข็งเป็นอย่างมาก มีการสร้างยุทโธปกรณ์ที่มีอานุภาพมากขึ้น 2 ชนิด คือ มหาศิลากัณฏกะ และ รถมุศาละ
มหาศิลากัณฏกะ เป็นเครื่องติดตั้งคันยิงขนาดใหญ่สำหรับดีดก้อนศิลาที่มีน้ำหนักมากเข้าใส่ศัตรู ส่วนรถม้ามุศาละ เป็นรถศึกที่ติดตั้งมีดหรือสิ่งมีคมตรงบริเวณด้านล่างของสารถี เมื่อรถแล่นไป ของคมเหล่านั้นทำหน้าที่ห้ำหั่นศัตรู เพราะอาวุธอันทรงพลังทั้งสองนี้เอง วัชชีจึงถึงกับแหลกลาญ
คงมองภาพออกแล้วว่า ไม่ว่าพระพุทธองค์จะตรัสอย่างไร การศึกระหว่างสองแคว้นก็เกิดขึ้นอยู่ดี
ต่อการที่มีผู้กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงชี้แนะช่องทางให้กับวัสสการพราหมณ์นั้น เป็นเพราะใช้ความเป็นปุถุชนไปคะเนน้ำพระทัยของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ ขึ้นชื่อว่าพระอรหันต์แล้ว ย่อมไม่ยินดีให้หมู่สัตว์ประสบรับภัยพิบัติ ดังจะเห็นว่า แม้จะปรินิพพาน ยังต้องดำเนินด้วยพระบาทนานถึงสามเดือนเพื่อไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา เพื่อป้องกันศึกสงครามที่จะเกิดตามมาหลังพระมหาปรินิพพาน ท่าทีต่อเรื่องนี้ของพระองค์จึงมีในลักษณะทัดทานว่าอย่าทำเลยเสียมากกว่า แต่ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นเสนาธิการทหารของวัสสการพราหมณ์จึงทำให้ดำริไปเช่นนั้น
และเมื่อดูจากลำดับเวลาจาริกในช่วงพรรษาสุดท้ายของพระองค์ น่าจะยืนยันความเมตตาที่ทรงมีต่อชาววัชชีได้เป็นอย่างดี โดยหลังจากที่ทรงข้ามฟากไปวัชชีแล้ว ได้ทรงจำพรรษาที่ 45 อันเป็นพรรษาสุดท้ายที่นั่น หลังจากออกพรรษาได้เสด็จไปกรุงสาวัตถี ทรงทราบข่าวการนิพพานของพระสารีบุตรที่เมืองนี้เอง เสด็จต่อไปกรุงราชถฤห์ และทราบข่าวการนิพพานของพระโมคคัลลานะ จากนั้นเสด็จกลับไปที่เวสาลีอีกครั้ง ไปประทับที่ป่ามหาวัน และต่อมา จึงทรงปลงอายุสังขาร ทรงดำเนินด้วยพระบาทนาน 3 เดือนเพื่อไปปรินิพพานดังกล่าว
ในคัมภีร์ อ.อํ. สตฺต ภ7/60 มีข้อความกล่าวว่า การที่พระองค์ตรัสแนะไปเช่นนั้น เพราะดำริในพระทัยว่า
“แม้เมื่อเราไม่กล่าว เพียง 2-3 วันเท่านั้น พระเจ้าอชาตศัตรูก็จักเสด็จไปจับเจ้าวัชชีไว้ทั้งหมด แต่ครั้นเรากล่าวแล้ว อชาตศัตรูต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะทำลายพวกลิจฉวีผู้สามัคคีได้ การมีชีวิตอยู่แม้เพียงเท่านี้ ก็นับว่าประเสริฐ”
พระดำรินี้เป็นอรรถกถาวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ก็ตาม พระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ย่อมไม่ยินดี และไม่มีส่วนแห่งการสงคราม คงเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่พระผู้ทรงมีพระเมตตาตราบวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ จะถูกตู่กล่าวหาว่าเป็นผู้ออกอุบายในการทำสงคราม จนเป็นเหตุให้สัตว์โลกต้องถึงแก่สิ้นชีวิต
ใครคือ “วัสสการพราหมณ์”
ยามนี้ก็น่าจะมองเห็นตัวกันอยู่...ประชาชนชาวไทยที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทั้งหลาย