สองคนยลตามช่อง "อภิสิทธิ์" เลี่ยงเกณฑ์ทหาร "เท็จ-จริง" อยู่ที่ไหน ?

มติชน 28 กรกฎาคม 2555 >>>




พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวชี้แจงกรณีการเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) และขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ (สด.3) ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ใช้เอกสารที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ 2 ฉบับ ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม
ผมพร้อมด้วยคณะกรรมการสอบสวนขอชี้แจงหลังจากที่มีข่าวเรื่องการใช้เอกสารทางทหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. ซึ่งเอกสารที่ผมมีอยู่มีต้นขั้วที่ทำให้รู้ถึงความเป็นมาว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง มูลเหตุที่มาชี้แจงในวันนี้มาจากการที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือมาถึงผม เนื่องจากนายกมล บันไดเพชร สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ดำเนินการร้องเรียนผมไว้กับทางผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือมาถึงผม จึงได้ส่งเอกสารข้อเท็จจริงทั้งหมดไปให้ โดยให้ผมดำเนินการตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ใช้เอกสารที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ (เอกสารเท็จ) ในการบรรจุและแต่งตั้งยศ
ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะได้ดำเนินการตามขอบเขตของกระทรวงกลาโหม จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ประกอบด้วยเอกสารทางราชการ พยานบุคคลผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และผู้ที่ได้ดำเนินการด้วย ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนไว้หมดแล้ว
ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 นายอภิสิทธิ์ได้ลงบัญชีขอขึ้นทหารกองเกินตามแบบ สด.1 และรับแบบ สด.9 ตามหมายเรียกการเกณฑ์ทหาร สด.35 ดังนั้น เมื่ออายุครบเกณฑ์ 21 ปี จะต้องมารับใบเกณฑ์ทหารในปีต่อไปนั้น ก็คือวันที่ 7 เมษายน 2530 โดยใบ สด.9 เป็นเอกสารจริง เนื่องจากมีใบ สด. 1 ยืนยันว่าถูกต้องทุกอย่าง ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2530 ทางโรงเรียนนายร้อย จปร. เสนอเรื่องขอบรรจุนายอภิสิทธิ์เข้ารับราชการในโรงเรียนนายร้อย จปร. เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ได้สมัครเข้ารับราชการทหารในช่วงนั้นแล้ว
แต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2530 กรมสารบรรณทหารบกได้ตรวจสอบหลักฐานเอกสารการบรรจุนายอภิสิทธิ์ ปรากฏว่าหลักฐานไม่ครบ จึงได้ทำเรื่องกลับไปโรงเรียนนายร้อย จปร. เพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องหลักฐานการเกณฑ์ทหาร (สด.43) ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2530 นายอภิสิทธิ์ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ได้มาเกณฑ์ทหารหรือเรียกว่าหนีการเกณฑ์ทหาร ทางสัสดีได้ลงในหลักฐาน สด.16 ถือว่าเป็นคนขาดการตรวจเลือกฯในแขวงคลองตัน ลำดับที่ 229 เลขที่ สด.43 ที่ 675 หลังจากนั้นวันที่ 9 เมษายน 2530 นายอภิสิทธิ์ได้เขียนใบสมัครเข้ารับราชการที่โรงเรียนนายร้อย จปร. แสดงว่าในช่วงนี้มีการสร้างหลักฐานเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 มีหนังสือจากสัสดี กทม. รับรองว่า นายอภิสิทธิ์มีชื่อเข้าบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2525 และได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 29 (3) เพื่อใช้เป็นเอกสารรับรองการบรรจุ ซึ่งเอกสารดังกล่าวชัดเจนว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการรับสมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ถ้ามีการใช้หนังสือดังกล่าวขึ้นมา ผมบอกได้เลยว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ เนื่องจากพบข้อพิรุธหลายอย่าง
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2530 มีคำสั่งกลาโหมที่ 720/30 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2530 บรรจุนายอภิสิทธิ์เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อย จปร.
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2531 มีการแจ้งว่าใบ สด.9 หาย และขอรับใบแทนฉบับที่ชำรุดเสียหาย โดยได้มีการบันทึกใหม่ว่าเข้าบัญชีทหารกองเกินลงวันที่ 8 เมษายน 2531 ซึ่งไม่ตรงกับครั้งแรกที่นายอภิสิทธิ์มาลงบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ดังนั้น หลักฐานชิ้นนี้ชัดเจน เพราะมีต้นขั้วทั้งสองใบว่าลงวันที่ไม่ตรงกัน เหตุผลที่ต้องทำใบ สด.9 ใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนเอกสารกองประจำการ (สด.3) เพราะหากมีการติดยศร้อยตรีแล้วนายอภิสิทธิ์ต้องขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการเพื่อนับเวลาราชการ ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้บังคับเป็นกฎหมาย
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าถ้าใช้เอกสาร สด.9 ใบเดิมจะเห็นชัดว่าขาดการเกณฑ์ทหาร ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531 นายอภิสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นว่าที่ร้อยตรีและขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการที่ จ.นครนายก
   "ในช่วงนี้นายอภิสิทธิ์ได้นำใบ สด.9 ซึ่งเป็นใบทดแทน ตรงนี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นการใช้เอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ เรามีหลักฐานชัดเจนและระหว่างที่นายอภิสิทธิ์เข้ารับราชการและขอลาออกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2532 นั้น ถือว่านายอภิสิทธิ์เป็นทหารเพียง 1 ปี และในช่วงรับราชการได้ลาไปต่างประเทศ 3 ครั้ง ลากิจ 2 ครั้ง ลาไปราชการ 1 ครั้ง โดยอ้างว่าไปสอนหนังสือ ทั้งหมด 221 วัน มีวันทำงานรวมเพียง 35 วัน ตามระเบียบการลาของทางราชการสามารถลาได้เพียง 70 วัน ใน 1 ปีปฏิทิน"

หลังจากที่แถลงข่าวในวันนี้จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปกรณีการหลีกเลี่ยงการเป็นทหารของนายอภิสิทธิ์
จะทำตามขอบเขตที่กระทรวงกลาโหมกำหนดไว้ว่า มีอะไรบ้าง

ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะส่งให้กฤษฎีกาตีความหรือไม่

ประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทางกรมพระธรรมนูญจะดูแลในส่วนนี้ หากมีข้อสงสัยจะไปปรึกษากับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากปรึกษาเรียบร้อยแล้วก็จะรายงานให้ผมทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อเท็จจริงออกมาอย่างนี้ผลที่จะตามมากับนายอภิสิทธิ์เป็นอย่างไร

ผมคงไม่ตอบในเรื่องอื่น คงตอบได้เพียงในขอบเขตความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ส่วนที่นอกเหนือจากนั้น เหนือการควบคุมของผม

ในส่วนของอำนาจรัฐมนตรี เมื่อพบว่าเอกสารของอภิสิทธิ์สมัครเข้ารับราชการทางทหารไม่ถูกต้อง สามารถใช้อำนาจในการถอดยศและยึดเงินเดือนคืนได้หรือไม่
ในส่วนนี้ทางกระทรวงกลาโหมกำลังดูอยู่ อาจจะไปปรึกษากฤษฎีกา เป็นเรื่องของกรมพระธรรมนูญที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ

เรื่องดังกล่าวนี้ในเรื่องเอกสารนั้นยังไม่หมดอายุความใช่หรือไม่
ทางกรมพระธรรมนูญต้องดำเนินการชี้แจง ผมไม่ทราบเพราะไม่ได้จบกฎหมาย หลังจากนี้กรมพระธรรมนูญจะดำเนินการชี้แจงอีกครั้ง

สามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าใครเป็นผู้ทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนายอภิสิทธิ์

เรื่องนี้มันลึกและนานมาก ซึ่งระบบการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี 2497 ยังไม่มีคอมพิวเตอร์จึงได้ใช้เอกสารเป็นใบสำคัญ สด. ต่างๆ มากมายจึงทำให้ยุ่งยาก แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งใบสำคัญต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นหลักฐานการยืนยันตามขั้นตอนของการดำเนินการได้

กรณีที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นำใบ สด.20 ของนายอภิสิทธิ์มาชี้แจงนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่
ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ว่าไม่มีการรับรองสำเนา ทั้งนี้ใบ สด.20 เป็นเอกสารทางราชการ นายอภิสิทธิ์จะถือเพียงอย่างเดียวคือใบ สด.41

สรุปว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นโมฆะหรือไม่

อะไรที่จบไปแล้วก็จบไป อะไรที่ยังไม่จบก็ไม่จบ

ศิริโชค โสภา
ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

ค่อนข้างผิดหวังการแถลงของ พล.อ.อ.สุกำพล เพราะไม่พบว่ามีข้อมูลใหม่ เพื่อยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมายใบ สด.9 ของนายอภิสิทธิ์ที่อ้างว่ามีปัญหาฉบับนี้มีการเขียนข้อความระบุว่าออกแทนใบฉบับที่ชำรุดหรือสูญหาย ถ้าเป็นเอกสารปลอมจะเขียนข้อความดังกล่าวทำไม ขอย้ำว่ามีการเขียนชัดว่าเป็นการออกแทนฉบับที่ชำรุดหรือสูญหาย เนื่องจากนายอภิสิทธิ์สมัครลงทะเบียนเป็นทหารกองเกินวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 และได้ใบ สด.9 มา 1 ฉบับ
จากนั้นเอาใบ สด.9 ที่ได้ ไปสมัครรับราชการทหารในวันที่ 24 มิถุนายน 2529 และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ในวันที่ 7 สิงหาคม 2530 ต่อมาเมื่อจะมีการติดยศทางโรงเรียนนายร้อย จปร.ได้แจ้งกลับมายังนายอภิสิทธิ์ว่าทำเอกสารหาย ขอให้นายอภิสิทธิ์เอาเอกสาร สด.9 ฉบับแทนมาอีกฉบับหนึ่ง ดังนั้น การรับสมัครเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2530 แล้ว จะมีเหตุผลอะไรที่ต้องไปเอาใบแทนฉบับชำรุดลงวันที่ 8 เมษายน 2530 และไม่มีนัยยะสำคัญหรือสาระอะไรเลย เพียงแค่เขียนวันที่ผิดเท่านั้น
ถ้าใบนี้ไม่ได้เขียนบอกว่าไม่ใช่ใบแทนฉบับที่ชำรุด สิ่งที่ พล.อ.อ.สุกำพล แถลงอาจจะเป็นความจริงได้ แต่ในข้อเท็จจริงมีการเขียนว่าแทนฉบับที่ชำรุดหรือสูญหาย ดังนั้น การมุ่งเน้นในเรื่อง สด.9 เพราะ พล.อ.อ.สุกำพล ไม่มีหลักฐานอื่น นอกจากหลักฐานฉบับนี้ที่เขียนวันที่ผิดเท่านั้น ขณะที่ สด.20 ที่ผมนำมาแสดงให้เห็นว่ามีการผ่อนผันให้นายอภิสิทธิ์ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่า พล.อ.อ.สุกำพลและทีมงานหักล้างเอกสารนี้ไม่ได้ จึงพูดอย่างเดียวว่าเป็นเอกสารโดดๆ ไม่มีความเชื่อมโยง ทั้งที่ความจริงมีความเชื่อมโยงเพราะเอกสาร สด.20 เกิดขึ้นเนื่องจากนายอภิสิทธิ์ไปขอผ่อนผันไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ทำการผ่อนผัน 4 พฤศจิกายน 2529 อนุมัติให้มีการผ่อนผันปี 2530-2532 ตามหลักฐานใน สด.41 ที่นำมาแสดง
ขอย้ำว่าสิทธิในการผ่อนผันของนายอภิสิทธิ์เกิดขึ้น เมื่อมีการลงทะเบียนเป็นทหารกองเกิน 4 กรกฎาคม 2529 และสิทธิในการผ่อนผันไม่ได้สิ้นสุดในวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ตามที่ พล.อ.อ.สุกำพล เข้าใจ ผมมีหลักฐานคำให้การของ พ.อ.สมโชค ไกรศิริ ในฐานะเป็นกรรมการตรวจสอบฯปี 2542 ยืนยันว่าสิทธิในการผ่อนผันของนายอภิสิทธิ์ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ในขณะนั้น ก็ยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมตรวจสอบแล้วพบว่านายอภิสิทธิ์รับราชการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทหารทุกประการ สิ่งที่ พล.อ.อ.สุกำพล แถลงจึงเป็นการแถลงทางการเมืองเท่านั้นไม่มีหลักฐานใหม่ และยังเป็นการยอมจำนนเบี่ยงเบนไปที่ สด.9 ปลอม และเรื่องวันลาของนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่กล้าตอบคำถามเรื่อง สด.20 ขอท้า พล.อ.อ.สุกำพล กล้าบอกหรือไม่ ว่าเอกสาร สด.20 เท็จอย่างไร
เมื่อ พล.อ.อ.สุกำพล ในฐานะที่เป็น รมว.กลาโหม ได้มีการกล่าวร้ายป้ายสี และหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้นายอภิสิทธิ์ได้สั่งให้ทีมงานกฎหมายถอดเทปเพื่อฟ้องดำเนินคดีกับ พล.อ.อ.สุกำพล ในข้อหาหมิ่นประมาทแล้ว และในกระบวนการที่จะตามมาถ้ายังมีนักการเมืองหรือข้าราชการคนใดที่ยังใช้หลักฐานเท็จ หรือกล่าวหาเท็จจะถูกดำเนินคดีเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.อ.สุกำพล ก็ต้องดูดำเนินคดีตามมาตรา 157