วันนี้ (1 ก.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา แสดงความคิดเห็นที่จะให้ถอนร่าง พรบ.ปรองดอง ออกไปก่อน ว่า ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้เสนอร่าง พรบ.ปรองดอง ทั้ง 4 ฉบับว่าจะว่าอย่างไร ถ้ายังจะพิจารณาต่อไปเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง เนื่องจากเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมแต่ละฉบับยังมีความแตกต่างกันอยู่ เช่น บางฉบับกำหนดให้นิรโทษกรรมทุกคน ขณะที่บางฉบับจะไม่นิรโทษกรรมคดีที่ถึงแก่ชีวิต และการก่อการร้าย รวมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์การยกเลิกคดีของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และการยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 3 พรรครวม 109 คน ซึ่งสุดท้ายการเดินหน้าพิจารณาอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และ 309 ทำให้ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ส่วนตัวยังไม่เห็นประโยชน์ของร่าง พรบ.ปรองดอง นี้ตั้งแต่ต้น และไม่ทราบว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าหากนำมาพิจารณาจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และวิกฤตกับประเทศ
นายจาตุรนต์ ยังกล่าวต่อว่า เรื่องที่ควรให้ความสำคัญจริงๆ คือเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นการปิดโอกาสการแก้ไขปัญหาประเทศรวมถึง พรบ.ปรองดองด้วย ส่วนพยานของฝ่ายผู้ร้องที่จะให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นมาเพื่อยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เช่นพรรคที่ตนเองสนับสนุนจะไม่โดนยุบ หรือองค์กรอิสระจะมีอำนาจมากกว่าประชาชน
ส่วนตัวมองว่า พยานเหล่านี้ไม่มีน้ำหนักเพราะเป็นพวกฝักใฝ่เผด็จการ และจากการประเมินสถานการณ์แล้วศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยคำร้องวันที่ 6 ก.ค. 2555 ทันที รวมถึงอาจเขียนคำวินิจฉัยไว้ล่วงหน้าให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็ได้ ขณะที่มีกระแสข่าวว่าฝ่ายรัฐบาลไปเจรจากับฝ่ายตุลาการเพื่อให้รัฐบาลได้บริหารงานต่อได้นั้นไม่ทราบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่แต่เชื่อว่าหากเจรจาก็คงไม่เป็นผล