ฉากละครชีวิต "พร้อมพงศ์" จากพระนางคู่กับจารุณี สุขสวัสดิ์มาเป็น "เด็จพี่" เพื่อไทย

มติชน 29 กรกฎาคม 2555 >>>




ในวงการ "การแสดง" ทั้งหนังและละคร หนุ่มหน้าคมคนนี้เขาเคยเป็น "พระเอก" ที่โด่งดังคนหนึ่ง ในวงการ "นักจัดรายการวิทยุชุมชน" เขาได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง และในบรรดา "โทรโข่งการเมือง" เขาถูกจัดให้เป็น "คู่ปรับ" ของฝ่ายตรงข้ามที่สมน้ำสมเนื้อมากที่สุดในชั่วโมงนี้
เขาคนนั้นคือ ตั้ม-พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อีกตำแหน่งคือ "โฆษกพรรคเพื่อไทย" แต่กว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ "พร้อมพงศ์" ต่อสู้ชีวิตพอสมควร
   "สมัยเด็กบ้านผมที่จังหวัดพังงา บ้านผมไฟไม่มี น้ำประปาไม่มี ถนนก็ไม่มี โรงหนังก็ไม่มี ชีวิตในวัยเด็กเหมือนเราไร้โอกาส ถ้าจะได้โอกาสเรียนต้องขยันอย่างเดียว ตอนเด็กเราอ่านแต่ข่าวในหนังสือที่เป็นเศษกระดาษก็เห็นว่าเอ๊ะ... คนในเมืองทำไมเขามีทุกอย่าง ทำไมคนชนบทไม่มีอะไรเลย" "ด.ช.พร้อมพงศ์" ตัดพ้อชีวิตสมัยยังเด็ก
ทว่า...ความด้อยโอกาสกลับเป็นตัวผลักดันให้เขาต้องสู้ชีวิต โดยถือคติที่ว่า "คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้" ทำให้ "พร้อมพงศ์" ตั้งใจเรียนและได้รับทุนเรียนต่ออยู่ตลอด
ชีวิตที่ต้องเดินของ "หนุ่มบ้านนอก" หักเหมุมอีกครั้ง เมื่อเขาตัดสินใจเดินทางเข้า "เมืองกรุง" ตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยต้องทำงานทุกอย่าง เพื่อแลกกับเงินที่ใช้ยังชีพไปวันๆ
แต่แล้ว...ชีวิต "พร้อมพงศ์" ถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ "เพื่อน" ชักชวนไปเป็น "นายแบบ" ก่อนจะผันตัวเองไปเป็น "นักแสดง" ในสังกัด "สรพงศ์ ชาตรี" โดยเริ่มต้นจากเป็นตัวประกอบอยู่ 3 ปี จากนั้นจึงมีโอกาสแสดงเป็นพระเอก ในภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง โดยผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ชื่นชอบของแฟนหนัง นั่นคือ การเป็นพระนางคู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์ เกือบ 20 เรื่อง เช่น เขยบ้านนอก แม่ดอกรักเร่
ขณะที่บทบาทการแสดงทางจอแก้ว ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักของแฟนละคร นั่นคือ ละครโทรทัศน์ประเภทจักรๆ วงศ์ๆ ตีบทแตกจนได้รับรางวัล "เมขลา" ในประเภทผู้แสดงนำชายละครสนับสนุนนิยายพื้นบ้านดีเด่น จากเรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือ สี่ยอดกุมาร
   "สมัยเด็กเคยฝันอยากเป็นนักแสดง อยากเป็นคนดัง เมื่อเคยเป็นมาแล้วก็ถือว่าได้ทำตามฝัน ผมเข้าไปสมัคร บริษัทไหนเห็นว่าเขาไม่เอาเปรียบเราก็ทำงานกับเขา ตรงนี้ทำให้ผมมีโอกาสอยู่ร่วมค่ายกับดาราศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ ธงไชย แมคอินไตย์ บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ บิลลี่ โอแกน คติของผมคือถ้าผมลงมือทำอะไรก็จะทำให้ดีที่สุด"
"พร้อมพงศ์" อยู่ใน "วงการบันเทิง" ได้ 26 ปี ก่อนตัดสินใจเบนเข็มออกจากวงการมายา โดยเขาให้เหตุผลว่า "ผมเริ่มอิ่มตัวกับบทบาทดารา ผมมองมันก็แค่สมมติ ผมคิดว่าผมมีความสามารถมากกว่านั้น"
   "ผมมองว่าดาราคือบทบาทสมมติ บทบาทสมมุติเล่นแล้วมันก็จบ ต่างจากการเมืองที่มันไม่มีใครกำกับให้เล่น ไม่มีใครขีดเส้นให้เล่น เราเล่นการเมืองด้วยใจรัก อยากรับใช้ประชาชน ผมจึงตัดสินใจไปเรียนต่อเกี่ยวกับการสื่อสารการเมือง ที่มหาวิทยาลัยเกริก เพราะผมตั้งใจที่จะเป็นนักการเมือง" พร้อมพงศ์ให้เหตุผลถึงการหันหน้าออกจากแวดวงบันเทิง"
แต่ก่อนที่จะเป็นนักการเมือง "พร้อมพงศ์" มารับบทบาท "สื่อมวลชน" อยู่ระยะหนึ่ง โดยเป็น "นักจัดรายการ" ทางวิทยุชุมชน โดยในช่วงนั้นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดให้มีวิทยุชุมชน
   "เมื่อวิทยุชุมชนเกิดทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง ผมทำวิทยุชุมชนคนแรกๆ จัดวิทยุชุมชนความถี่สัก 30 วัตต์ สามารถกระจายได้ทั้งประเทศ ผมมีแฟนคลับทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน"
หลังจากนั้นในปี 2549 ประตูสำหรับ "วงการการเมือง" ของ "พร้อมพงศ์" ถูกเปิดออก เมื่อ เพื่อนสนิทสมัยเรียนสื่อสารการเมือง "ธีรภัทร์ พริ้งศุลกะ" ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เดินมาชักชวนให้เข้าไปทำงานกับ "พรรคประชาธิปัตย์"
   "ผมเคยใฝ่ฝันเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคุณพ่อเป็นประชาธิปัตย์ เขาเลยมองว่าถ้าเล่นการเมือง ยิ่งเราเป็นคนใต้ต้องเลือกประชาธิปัตย์ คุณธีรภัทร์เขาชวนผมไปประชาธิปัตย์ ให้เข้าไปดูนโยบาย ผมไปอยู่ประมาณ 8 เดือน อยู่ในสายเดียวกับนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เจอนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ บ่อยมาก" พร้อมพงศ์ย้อนวันวานถึง "พรรคสีฟ้า"
ทว่า...อยู่เพียง 8 เดือน "พร้อมพงศ์" มีโอกาสเข้าไปเสนอนโยบาย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เลยตัดสินใจ "ลาออก"
กระทั่งวันหนึ่ง กฤษ ศรีฟ้า และ สุชาติ ลายน้ำเงิน ชักชวน ให้มารับใช้บ้านเกิด จึงมาช่วยกันทำงานที่ "พรรคพลังประชาชน"
"พร้อมพงศ์" ให้เหตุผลที่ต้องทำงานร่วมกับ "พลังประชาชน" ว่า "ที่พลังประชาชนเขาให้โอกาสคน ผมไม่มีเส้นสาย มาแบบตัวเปล่า มีแค่ใจเกินร้อย เขาให้ทำอะไรก็ทำ นโยบายที่ผมเสนอไปเขาก็รับฟัง"
ทำให้ "พร้อมพงศ์" มีโอกาสลงสมัคร ส.ส. สมัยแรกในปี 2550 ที่จังหวัดพังงา แต่ก็ต้องผิดหวังทำได้แค่เป็น ส.ส. "สอบตก" เมื่อแพ้ให้กับคู่แข่งสำคัญอย่าง "พรรคประชาธิปัตย์"
   "ผมรู้อยู่แล้วว่าต้องแพ้ ตอนแรกคนในพลังประชาชน เขาก็ถามว่าเอาจริงเหรอ ผมตั้งใจตรงนี้อยู่แล้ว ผมเชื่อแล้วว่าการหาเสียงตอนที่เรายังโนเนมมันยากมาก รองเท้าพังไป 8 คู่ ในระยะเวลา 2 เดือน นอนตี 2 ตื่นตี 5 เช้าตลาดสด เย็นตลาดนัด แต่ก็สนุกดี"
แม้จะเป็น ส.ส. สอบตก แต่ "พร้อมพงศ์" กลับได้รับโอกาสให้เป็นที่ปรึกษาของ อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมทั้งพ่วงตำแหน่งโฆษกกระทรวงวัฒนธรรมด้วย
บทบาทโฆษกกระทรวงวัฒนธรรมจึงถือเป็นการปูทางเข้าสู่ตำแหน่ง "โฆษกเบอร์หนึ่ง" ในอนาคต
ต่อมาเมื่อ "พรรคพลังประชาชน" ถูกตัดสินให้ยุบพรรค "พร้อมพงศ์" ย้ายไปสังกัด "พรรคเพื่อไทย" พร้อมกับบรรดาสมาชิกคนอื่น โดย "พร้อมพงศ์" ได้รับมอบหมายให้รับตำแหน่ง "โฆษกพรรค"
   "ผมไม่ค่อยอยากเป็นโฆษกพรรค เพราะอันตรายต่อการลงสมัคร ส.ส. ตอนแรกเขาเลือก ศุภรัตน์ นาคบุญนำ แต่คุณศุภรัตน์ไม่รับตำแหน่ง เพราะการเมืองขัดแย้งหนัก เขาไม่ไหว ผมเลยถูกขอร้องจากผู้ใหญ่ให้เป็น ตอนแรกผมจะเป็นแค่ 3 เดือน เพราะอยากลง ส.ส. แต่สุดท้ายก็ยาวมาถึงปัจจุบัน ผู้ใหญ่บอกว่ามันไม่มีคนเหมาะสม" พร้อมพงศ์บอกถึงเหตุผลของการทำหน้าที่โทรโข่งให้พรรคเพื่อไทย
   "เวลาให้สัมภาษณ์ผมไม่เคยให้ใครมาชี้นำผม ผมคิดเองทั้งหมด ยกเว้นเขาฝากมาว่าควรให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ควรเล่นประเด็นนี้ ส่วนข้อมูลผมหาเองทั้งหมด ผมเป็นนักการเมืองที่ใครชี้นำไม่ได้" พร้อมพงศ์อธิบายหลักการทำงาน
ในตำแหน่ง "โฆษกพรรค" นี่เองทำให้ "พร้อมพงศ์" ถูกเรียกขานว่า "เสด็จพี่" เพราะเคยแสดงละครจักรๆ วงศ์ๆ คนเรียกว่า "เด็จพี่" ผมก็บอกว่ามันไม่ใช่ แต่ก็ยังดีกว่าเรียกว่า "เด็จพ่อ" ในละครจักรๆ วงศ์ๆ
  "คนในพรรคก็เรียกผมว่าเด็จพี่ ก็มีท่าน "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรี ก็เรียกเด็จพี่ แต่ผมไม่ได้สนใจ ผมมองที่เนื้อหา คนที่เรียกเขารักเราเขาก็เรียก มันดีกว่าเขาไปด่าเรา ผมไม่ได้โกรธอะไร แต่ถ้าทำได้อยากให้เรียกชื่อดีกว่า" พร้อมพงศ์พูดถึงฉายาทางการเมือง
แต่เรื่องฉายาทางการเมืองก็ไม่ได้ทำให้เขาหวั่นไหว เพราะ "พร้อมพงศ์" ยืนยันว่าพร้อมทำหน้าที่ต่อไป แม้ใครจะเรียกเขาว่าอย่างไร
"พร้อมพงศ์" ประสบความสำเร็จในสิ่งที่อยากทำเกือบทั้งหมด เหลือเพียงสิ่งเดียวที่ยังต้องเดินไปให้ถึงนั่นคือตำแหน่ง "รัฐมนตรี" ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า "พร้อมพงศ์" จะได้มีโอกาสสวม "หัวโขน" เป็นเสนาบดีบ้างหรือไม่
ก่อนที่ "พร้อมพงศ์" จะทิ้งท้ายว่า ที่อยากเป็นนักการเมือง เพราะอยากช่วยเหลือประชาชน ชีวิตช่วงวัยรุ่นใช้มาคุ้มแล้ว เป็นนักแสดงมันไม่มีโอกาสนำเงินไปพัฒนาประเทศได้...