ประชาไท 24 กรกฎาคม 2555 >>>
ในที่สุดปัญหาที่ยืดเยื้อมานานเกี่ยวกับปัญหาความกำกวมของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็คลี่คลายลงนิดหน่อย แม้จะไม่ใช่การคลี่คลายในชั้นศาล แต่ก็ถือว่าทำให้คดีระงับลงได้ และมีความน่าสนใจที่ควรกล่าวถึง
มูลเหตุของเรื่องเกิดขึ้นร่วมห้าปีแล้ว นานจนเกือบจำไม่ได้ เหลือเพียงม๊อตโตที่เกือบๆกลายเป็นวาทกรรมว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” โดยเรื่องนี้เริ่มต้นมาจาก การที่ ก (ผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์เป็นข่าว จึงขอใช้ชื่อสมมติทั้งหมด) และเพื่อนอีกคนหนึ่ง ได้เข้าไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง เมื่อถึงเพลงสรรเสริญบรรเลง ก และเพื่อนก็ไม่ได้ยืน แต่ก็นั่งด้วยความสงบซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ ก และเพื่อนปฏิบัติเช่นนี้มานานแล้ว ปรากฏว่า ก ถูกชายคนหนึ่ง ที่ต่อไปนี้จะเรียกว่า ข “ตักเตือน” ให้ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพต่อเพลงดังกล่าว ด้วยการตักเตือนด้วยการส่งเสียงดัง ปาด้วยกระดาษ ปัดแก้วน้ำอัดลมจนตกแตก กระชากกล่องป๊อปคอร์นออกสาดใส่ ก และเพื่อน ท่ามกลางการเชียร์ของผู้ชมคนอื่นๆ ในโรงด้วยการปรบมือ สุดท้ายเรื่องจบด้วยการที่ตำรวจจากสถานีตำรวจที่รับผิดชอบมาระงับเหตุ โดย ข ขู่ ก ว่า ถ้าประสงค์จะดำเนินคดีต่อตน ก็จะแจ้งความ ก ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
ก และเพื่อนก็ได้เข้าแจ้งความด้วยข้อหาต่างๆ ต่อ ข ประกอบด้วย ดูหมิ่นซึ่งหน้า (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393) ทำร้ายร่างกายไม่เป็นอันตรายแก่กาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391) ทำให้เสียทรัพย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358) ร่วมกันบังคับข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำการ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309) และความผิดฐานทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณะ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372) ส่วน ข ก็เข้าแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับ ก ด้วยข้อหาเดียวคือ “ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนก็เสนอความเห็นต่อไปยังอัยการเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่
ฝ่ายอัยการพิจารณาสำนวนเรื่อง ก แจ้งความดำเนินคดีต่อ ข ในข้อหาต่างๆ เสร็จก่อน โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 สั่งไม่ฟ้อง ข โดยให้เหตุผลในแต่ละข้อหาดังต่อไปนี้
...การที่ผู้ต้องหาเพียงแต่ใช้กล่องข้าวโพดคั่วและม้วนกระดาษขว้างใส่ผู้เสียหายทั้งสอง ผู้เสียหายที่ 1 แพทย์ลงความเห็นว่าไม่พบบาดแผล แต่รู้สึกเจ็บที่ข้อมือเล็กน้อย ส่วนผู้เสียหายที่ 2 แพทย์ลงความเห็นไม่พบบาดแผล ไม่ต้องรักษา พยานหลักฐานที่ปรากฏจึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งสอง มิได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหาได้กระทำในขณะลืมตัวโกรธจัดโต้เถียงกับผู้เสียหายทั้งสอง ในเรื่องการแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขโดยได้กระทำเพียงเท่านี้ และมิได้แสดงกริยาจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ทั้งสองอีก จึงเชื่อได้ว่า มิได้เจตนาร่วมกันกระทำความผิด การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้
ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ทรัพย์ที่เสียหายมีราคาเล็กน้อย ผู้เสียหายทั้งสองซื้อมาในราคาเพียง 119 บาท และเป็นทรัพย์ที่เหลือจากผู้เสียหายทั้งสองดื่มกินแล้ว ขณะเกิดเหตุเป็นกรณีเกี่ยวพันที่ได้เกิดขึ้นติดต่อกันกับการกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งเกิดจากผู้ต้องหาร้องขอให้ผู้เสียหายทั้งสองแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา จึงเชื่อว่าผู้ต้องหามิได้มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว
การที่ผู้ต้องหาใช้กระดาษขว้างมาทางผู้เสียหายแล้วพูดว่า “ออกไป” และการที่ผู้ชมคนอื่นอีกหลายคนโห่ร้องไล่ผู้เสียหายทั้งสองคนให้ออกจากโรงภาพยนตร์ไปนั้น เพราะไม่พอใจที่ผู้เสียหาย ไม่ยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ยังไม่เป็นการใช้คำพูดหรือกริยา หรือการแสดงออกใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาใช้กำลังให้ผู้เสียหายทั้งสองกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้เสียหาย และไม่ได้มีการใช้กำลังประทุษร้าย ขณะบอกให้ผู้เสียหายทั้งสองออกไปจากโรงภาพยนตร์ด้วย ดังนั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ห้าคน ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ของผู้ถูกข่มขืนใจ แต่อย่างใด
การที่ผู้ต้องหาพูดว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ศาสนาไหนก็ตาม ทำไมไม่รักในหลวง เป็นคนไทยซะ ปล่าว ฝรั่งต่างชาติยังรู้จักยืน” ก็เป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาเห็นผู้เสียหายทั้งสองไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงเกิดความไม่พอใจ ซึ่งเป็นตามธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว และคำพูดดังกล่าวก็เป็นการพูดว่ากล่าวตักเตือน เตือนสติ ให้ผู้เสียหายทั้งสองรู้สำนึกของการกระทำ มิได้เป็นถ้อยคำที่ด่าว่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือทำให้เสียชื่อเสียง และมิได้ทำให้บุคคลที่รับฟังข้อความดังกล่าวรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นผู้เสียทั้งสองแต่อย่างใด และการที่ผู้เสียหายที่ 1 หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นพูดคุยและยืนขวางการชมภาพยนตร์ของผู้อื่น แล้วผู้ต้องหาได้พูดว่า “คุณไม่มีมารยาท ใส่เสื้อบ้าอะไรก็ไม่รู้ ออกไปซะ” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน การกระทำของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวเป็นการขัดกับมารยาทในการชมภาพยนตร์ที่ห้ามให้พูดคุยโทรศัพท์มือถือ หรือก่อให้เกิดการรบกวนผู้ชมคนอื่น ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้อความที่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ระงับการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมารยาททางสังคม โดยที่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่เป็นการด่าว่า ดูหมิ่น หรือทำให้เสียชื่อเสียงถูกลดคุณค่าแต่อย่างใด การพูดจาของผู้ต้องหาดังกล่าว ทั้งสองข้อความจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
การที่ผู้ต้องหากับผู้เสียหายทั้งสองโต้ตอบกันไปมา เนื่องจากผู้ต้องหาต้องการให้ผู้เสียหายทั้งสองยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญเพลงพระบารมี แต่มิได้อยู่ในลักษณะการโต้เถียงทะเลาะด่ากัน จึงมีเพียงผู้ต้องหาที่พูดจาเพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองกระทำการดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดฐานทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณะหรือกระทำให้เสียความสงบเรียบร้อยในที่สาธารณสถานแต่อย่างใด
จากนั้น ในอีกประมาณเกือบ 4 ปี ต่อมา (เกือบ 5 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ) อัยการจึงมีคำสั่งในเรื่องที่ ข แจ้งความให้ดำเนินคดีต่อ ก ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 สั่งไม่ฟ้อง ก ในข้อหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 โดยมีเหตุผลดังนี้
การที่ผู้ต้องหาไม่ลุกขึ้นเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และมีการพูดว่า “ทำไมต้องยืนด้วยไม่มีกฎหมายบังคับ” นั้น เห็นว่าการกระทำดังกล่าวมิได้แสดงออกซึ่งวาจาหรือกิริยาอันจะเข้าลักษณะเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย เสียหาย สบประมาท ด่าว่าและการกล่าวหรือโต้เถียงเกิดขึ้นหลังจากเพลงจบแล้ว แม้จะเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติก็ตาม แต่การกระทำของผู้ต้องหาทั้งยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อีกทั้งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง
โดยนายวิศิษฐ์ สุขยุคล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ให้ความเห็นว่า การกระทำของ ก กับพวกนั้น เพียงแต่ไม่ได้ลุกขึ้นยืนตรงขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรง ภาพยนตร์ เพราะการแสดงความอาฆาตมาดร้ายจะต้องมีการกระทำแสดงให้เห็นด้วย เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อันจะมีลักษณะความผิด ในฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงถือว่าไม่เข้าข่ายตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “พฤติการณ์ของนาย ก เป็นลักษณะของกิริยาที่ไม่เหมาะสม หากจะมีกฎหมายที่ให้เป็นความผิด เป็นความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485 และมีบทลงโทษให้จำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยคดีมีอายุ 1 ปี หากมีการดำเนินคดีดังกล่าวแล้ว ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับได้ แต่หากผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ต้องทำสำนวนส่งให้อัยการตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เนื่องจากคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งข้อหาดังกล่าวมาด้วย คดีจึงหมดอายุความไปแล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่สามารถนำไปเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นได้ เพราะแต่ละคดีมีพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏและพยานหลักฐานแตกต่างกันออกไป”
การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในทศวรรษนี้ เป็นที่ถกเถียงกันมานานนับตั้งแต่เกิดคดีนี้ เป็นครั้งแรกๆ มีการนำไปเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกากรณีใกล้เคียงนี้ที่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2521 โดยเนื้อหาของคำพิพากษานั้นมีดังนี้
“ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุมีการอภิปรายที่ท้องสนามหลวงกลุ่มศูนย์นิสิตนักศึกษาอภิปรายปัญหาเรื่องข้าวสารแพงอยู่ทางด้านทิศเหนือกลุ่มของนายผัน วิสูตร อภิปรายเรื่องการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่ทางด้านทิศใต้ ด้านวัดพระแก้ว จำเลยฟังกลุ่มนายผันอภิปราย เมื่อนายผันปิดอภิปรายและเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี ประชาชนที่ฟังการอภิปรายทุกคนได้ยืนตรง ขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมียังไม่จบ จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” และจำเลยมิได้ยืนตรง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงในการพระราชพิธีหรือพิธีการต่าง ๆ เพื่อถวายพระเกียรติและถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะคดีนี้ประชาชนที่ไปฟังอภิปรายย่อมเข้าใจว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดขึ้นเป็นการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระมหากษัตริย์ของไทยองค์ปัจจุบัน จึงได้ยืนตรงทุกคน จำเลยเป็นนักเรียนครูวิทยาลัยครูสวนสุนันทายอมต้องรู้และเข้าใจดีกว่าประชาชนธรรมดาสามัญ การที่จำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่นในขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมีเปิดขึ้น ทั้งยังบังอาจกล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาที่จะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ
จะเห็นว่า “เรื่อง” ในคำพิพากษานี้ แตกต่างจากกรณีปัญหานี้อย่างชัด คือ ในฎีกา จำเลยนั้นนอกจากไม่ยืนแล้วยังกล่าวคำว่า “เพลงอะไรโว้ยฟังไม่รู้เรื่อง” ด้วย แต่ในคดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาพูดเพียงว่า “ทำไมต้องยืนด้วยไม่มีกฎหมายบังคับ” ซึ่ง “น้ำเสียง” ของถ้อยคำนั้นแตกต่างกัน ซึ่งการไม่ยืนแล้วสำแดงกริยาอื่นประกอบที่ศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดก็มี เช่น กรณีที่ทางเวบไซต์ iLaw รายงานคดีตัวอย่างอีกคดีว่า มีกรณีที่จำเลยไม่ลุกขึ้นยืนเพื่อถวายความเคารพ และได้ยกเท้าทั้งสองข้างพาดเก้าอี้ไปทางจอภาพยนตร์ เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีจบและได้ตะโกนคำหยาบคายออกมา ในคดีนี้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี
หรืออย่างในกรณีที่ อัยการอ้างถึง “ความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485” นั้น ได้ศึกษาแล้วพบว่า ความผิดตามอ้างเป็นไปตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553) มาตรา 15 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 6 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ” ซึ่งจะไปประกอบกับ พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตรา 6 “บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ ... (3) เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพ”อย่างไรก็ตาม ความผิดดังกล่าวก็ได้ “ยกเลิก” แล้วตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีบทกำหนดโทษอาญาใดๆ ในกฎหมายนี้อีกต่อไป
จึงอาจสรุปได้ในขณะนี้ว่า การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดในโรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือล่าสุดได้ขยายเข้าไปถึงก่อนการแข่งขันกีฬาแล้ว หากเป็นการ “ไม่ยืนโดยสงบ” นั้น ในปัจจุบันยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือ ยังไม่พอฟังว่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจาก “ถ้อยคำ” ที่ปรากฏในคำสั่งของอัยการทั้งสองฉบับ ก็จะเห็นร่องรอยบางประการที่อาจจะไม่ได้หมายความว่า ปัจจุบันการ “ไม่ยืน” จะสามารถกระทำได้โดยเสรีเสียทีเดียว
โดยในคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” กรณี ข กระทำการต่างๆ ไม่ว่าจะปากระดาษหรือสาดป๊อบคอร์นใน ก นั้น ทางอัยการมองว่าเป็นการ “ร้องขอให้ผู้เสียหายทั้งสองแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา” รวมทั้งการ “โห่ร้องไล่ผู้เสียหายทั้งสองคนให้ออกจากโรงภาพยนตร์ไป” นั้นก็ “เพราะไม่พอใจที่ผู้เสียหาย ไม่ยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี” ซึ่ง “ยังไม่เป็นการใช้คำพูดหรือกริยา หรือการแสดงออกใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาใช้กำลังให้ผู้เสียหายทั้งสองกลัวว่าจะเกิดอันตราย” และดังนั้น การที่เห็นคนไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี “จึงเกิดความไม่พอใจ ซึ่งเป็นตามธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว” ดังนั้นด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้อัยการวินิจฉัยไม่ควรสั่งฟ้องในความผิดต่างๆ นั้นเอง
ส่วนในกรณีคำสั่งไม่ฟ้องกรณี “ไม่ยืน” ของ ก นั้น แม้จะยังฟังไม่ได้ว่าเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แต่การกระทำดังกล่าวก็ถือเป็น “กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ”
ร่องรอยดังกล่าว แม้ไม่ชัดแจ้ง แต่ก็ทำให้เราเห็นได้ลางๆว่า การ “ไม่ยืน” ไม่ใช่อาชญากรรมก็จริง แต่การไม่ยืนก็เป็น “กริยาไม่เหมาะสมที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ” และการ “ตอบโต้” การไม่ยืนนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ชอบที่จะตอบโต้การไม่ยืนด้วยการ “ตักเตือน” ตาม “ธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา” ที่แม้อาจจะมีพฤติกรรมอันรุนแรงไปบ้าง แต่ถ้าไม่ได้รุนแรงต่อร่างกายจนเกินไป หรือทรัพย์สินที่เสียหายเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย ก็เป็นความไม่พอใจที่เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของ “คนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว” ดังนั้นการไม่ยืน และการตอบโต้คนไม่ยืนตามสมควรแก่กรณีหากไม่รุนแรงเกินไปนั้น-กลไกกฎหมายอาญาของรัฐไม่ยื่นมือเข้าไปยุ่ง
หรือสรุปสั้นกว่านั้นคือ-ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม แต่ปากระดาษสาดข้าวโพดซ้ำ ก็ไม่ใช่อาชญากร
ในสถานการณ์ที่ฝ่ายผู้ที่ยึดมั่นในการปกป้องสถาบันอย่างล้นเกิน (Zealot) ได้โหมบรรยากาศให้ฝ่ายตนเป็นผู้มีความชอบธรรม ถึงขนาดยกพวกไปเตรียมล่าป้าคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 นี้ ถึงสนามบินไม่ให้ออกนอกประเทศ แนวร่วมที่เป็นพนักงานสายการบินแห่งชาติก็ประกาศห้ามขึ้นเครื่อง หรือการโหมให้ใช้มาตรการทางอาญาที่เข้มข้นต่อการกระทำความผิดตามมาตรา 112 “อย่างเข้มข้น” ว่า ถ้าใครเห็นคนกระทำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วอยู่เฉยก็จะต้องมีความผิดด้วย เพราะถือเป็นตัวการร่วม จึงต้องแสดงออกทันที ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมหรือเป็นพยาน แล้ว การที่ใครสักคนจะ “ไม่ยืน” ในโรงหนังแม้จะโดยสงบ แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับการตอบโต้ที่คาดเดาไม่ได้เพื่อรักษา “ธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมาอันเป็นเรื่องธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้