บ้านเมือง 15 กรกฎาคม 2555 >>>
และแล้วศุกร์ 13 อันตรายที่ทุกคนเป็นห่วงกันนักกันหนา ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เพราะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นที่พึงพอใจของคนส่วนใหญ่ เพราะข้อหาฉกาจฉกรรจ์ที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามให้เกิดขึ้น นั่นคือ การล้มล้างการปกครองได้ถูกยกคำร้อง ส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนกล้าเขียนก็คือ ต้านกระแสของประชาชนไม่ไหว เพราะมันชัดว่าเจตนาหาเรื่องกัน ซึ่งเรามาลองดูคำตัดสินกัน
ในประเด็นที่ว่าศาลมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ เป็นมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ที่เห็นว่าศาลมีอำนาจรับคำร้องไว้
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ 8 เสียง ว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จึงไม่มีเหตุต้องให้วินิจฉัยเรื่องยุบพรรค และมีมติให้ยกคำร้อง
จริงๆ คำวินิจฉัยดังกล่าวหากจบแค่นั้นก็ถือว่าจบจริง แต่ศาลกลับมีข้อเสนอแนะว่า รัฐธรรมนูญปี 50 มาจากการสถาปนาของประชาชน ดังนั้นหากจะมีการแก้ไขก็สมควรให้ประชาชนลงมติว่าสมควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ หรือหากจะมีการแก้ไขเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แต่ทั้งนี้รัฐสภาจะดำเนินการอย่างไรก็ถือเป็นดุลพินิจ จะเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ก็ทำได้ แต่ประธานรัฐสภาและรัฐสภาจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ดำเนินการต่อไป คือตีความง่ายๆ ก็คือ จะแก้เป็นรายมาตราก็ทำไป แต่หากจะมีการตั้ง สสร.ขึ้นมาร่างต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะเอาไหม ประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะเอาไหม
นอกจากนั้นที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยกคำร้องกรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ที่ขอให้ชะลอการพิจารณาคดีนี้ออกไปก่อน โดยศาลเห็นว่า ไม่มีเหตุผลอันควร
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่รัฐบาลยกภูเขาออกจากอกก็คือ หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาที่ว่า ล้มล้างการปกครอง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการแก้ทีละมาตราจะต้องมาอภิปรายกันตลอด และคงมีการร้องกันตามสไตล์ของฝ่ายค้านที่มีความชำนาญอยู่แล้ว คงจะปวดเศียรเวียนเกล้า ยุ่งกันอีนุงตุงนังไปหมด รวมทั้งมีศาลรัฐธรรมนูญที่พร้อมที่จะรับคำร้องดังกล่าว
ความจริงแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะมีหน้าที่ตัดสินว่า ผิดหรือถูกเท่านั้น แต่นี่มีคำแนะนำออกมาอีกว่า ควรทำเช่นไร หรือไม่ควรทำเช่นไร แล้วที่แนะนำมาน่ะก็ชักไม่มั่นใจแล้วว่าแนะนำถูกหรือแนะนำผิด เพราะขนาดตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญเองเป็นคนแนะนำให้ตั้ง สสร. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญยังทำไม่ได้เสียนี่ แล้วทีนี้จะเชื่อใครดีละเนี่ย
ผู้เขียนจึงขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องดังกล่าวให้ดี อย่าผลีผลามในการตัดสินใจ วิเคราะห์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ละเอียด ทางที่ดีที่สุดคือ ถามประชาชนที่มีสิทธิ์มีเสียงเข้ามาร่วมตัดสินใจ หากประชาชนเสียงส่วนใหญ่มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 (เพราะตอนนั้นเชื่อว่าก็ไม่อยากรับอยู่แล้ว ถ้าไม่โดนขู่ว่า ถ้าไม่รับก็ไม่พ้นจากวงจรปฏิวัติ เลยต้องจำยอม) ซึ่งหากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ให้แก้ ก็คงไม่มีใครจะมาขวางได้อีก
หากรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน แต่ก็ไม่แน่นะ อาจจะมีผู้ไปร้องให้ประชาชนที่ร่วมกันออกเสียงให้แก้รัฐธรรมนูญได้ พ้นจากการเป็นคนไทยก็ได้ เนื่องจากล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพราะบ้านนี้เมืองนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น