ยุบพรรคจุดเสียว เพื่อไทย

โพสท์ทูเดย์ 12 กรกฎาคม 2555 >>>




เสร็จสิ้นขั้นตอนการต่อสู้คดีเรียบร้อยแล้วทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ภายหลังได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
จากนี้ไปเหลือเพียงการรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งจนถึงขณะนี้ดูจากท่าทีของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งคณะ สว.สรรหา ยังยอมรับว่ากรณีนี้เกินคาดเดาแบบฟันธงได้ 100% ว่า ที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นอย่างไร
ย้ำกันอีกครั้งสำหรับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยมีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเด็น
1. ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 หรือไม่
2. การแก้ไขมาตรา 291 ที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่
3. การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
4. เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ประมวลจากคำแถลงปิดคดีของทั้งสองฝ่ายได้ให้น้ำหนักกับประเด็นที่ 2 และ 3 มากที่สุด เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของคดีนี้ หรืออาจเรียกได้ว่าชี้อนาคตของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยก็ว่าได้ แต่หากถามใจของพรรคเพื่อไทย ถามว่าหวาดหวั่นประเด็นไหนมากที่สุด คงตอบได้แบบไม่ต้องคิดมากให้เสียเวลา คือ ประเด็นที่ 4 ว่าด้วยการยุบพรรคตามมาตรา 68
แน่นอนในทางการเมือง หากพรรคเพื่อไทยต้องมามีอันเป็นไปทางการเมืองทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลต้องมีปัญหา อาจจะไม่ถึงเปลี่ยนขั้วการเมือง เพราะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคที่ต้องถูกเพิกสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่แถวหน้าของพรรค ประกอบกับตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้อยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยง
แต่หากจะมีปัญหาจริงก็คงอยู่ที่การจัดสรรโครงสร้างในพรรคและรัฐบาลใหม่มากกว่า โดยเฉพาะการจัดสรรบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่
ปัจจัยที่นำมาสู่การวินิจฉัยในประเด็นยุบพรรคได้มีเพียงเงื่อนไขเดียว คือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีความเห็นว่า การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครอง จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่ามีเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่ต่อไป
ในกรณีเกี่ยวกับการอาศัยอำนาจตามมาตรา 68 เพื่อยุบพรรคครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก หมายความว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้จะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตหากมีคำร้องในลักษณะเดียวกันและข้อเท็จจริงใกล้เคียงเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
มองความเป็นไปได้ในประเด็นนี้สามารถออกได้ใน 3 ทาง ประกอบด้วย
1.ไม่ยุบพรรค ถ้าออกมาหน้านี้ทุกอย่างก็จบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถเดินหน้าได้ปกติ แต่อาจต้องไปดูว่าประเด็นวินิจฉัยของศาลในข้ออื่นๆ ก่อนหน้านี้ด้วยว่าจะให้แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร
2.ยุบพรรค หากการวินิจฉัยเป็นลักษณะนี้ ย่อมหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้ดุลยพินิจแบบเด็ดขาดภายในตัว เหมือนกับลักษณะเป็นขั้นบันได เมื่อถึงขั้นที่ 1 แล้วต้องไปขั้นที่ 2 และ 3 ต่อไป
กล่าวคือ ถ้าในประเด็น 2-3 ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครอง ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ โดยเมื่อมีคำสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวแล้วจะต้องวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองพ่วงด้วยตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
ดังเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย เมื่อปี 2551 โดยระบุว่า “ศาลไม่มีดุลยพินิจจะสั่งเป็นอื่นได้” ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ได้ตอกย้ำในความผิดของทั้งสามพรรคว่าเมื่อมีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีคำสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามลำดับ จะมีดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้
3.ไม่ยุบพรรคแบบมีเงื่อนไข เป็นอีกประตูหนึ่งในคำวินิจฉัยที่มีความเป็นไปได้ว่าจะออกได้ทางนี้เช่นกัน ในกรณีนี้หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจลงความเห็นว่า การกระทำในประเด็นที่ 2-3 มีความผิด แต่ยังไม่ยุบพรรค โดยให้นายทะเบียนพรรคการเมือง คือ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญ
ในมุมนี้พรรคเพื่อไทยก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นำมาต่อสู้ เพราะเห็นว่าการเสนอยุบพรรคตามมาตรา 68 จะกระทำผ่านการพิจารณาคำร้องของบุคคลทั่วไปไม่ได้
ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญในคำสั่งที่ 12/2549 ไม่รับคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์เดียวกับมาตรา 68 เพราะเห็นว่าการเสนอยุบพรรคต้องผ่านการพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมือง
สาเหตุที่ทำให้แนวทางที่ 3 นี้มีความเป็นไปได้ เนื่องจากมาตรา 68 วรรค 3 มีถ้อยคำลักษณะเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลยพินิจได้ว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองเลิกการกระทำการตามวรรค 2 (ล้มล้างการปกครอง) ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้”
คำว่า “อาจ” นี่เองส่งผลให้เกิดการตีความได้ว่า มาตรา 68 วรรค 3 ไม่ได้มีสภาพบังคับหรือเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งทันทีโดยใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เหมือนกับกรณีของการยุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรคในปี 2551
ดังนั้น มาตรา 68 วรรค 3 ซึ่งเปิดให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ 100% ทำให้แนวทางการยุบพรรคแบบมีเงื่อนไขมีความเป็นไปได้พอสมควร ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ดุลยพินิจในด้านไหน โดยสามารถออกได้ทั้งสามแนวทาง ทำให้พรรคเพื่อไทยยังคงมีลุ้นอยู่ในสารบบพรรคการเมืองไทยต่อไป
ที่สุดแล้วความเป็นไปได้ทั้งสามทางเกี่ยวกับชะตากรรมของพรรคเพื่อไทยนี้ กำลังจะเป็นจุดแยกของการเมืองที่สำคัญอีกครั้ง เพราะไม่ว่าจะออกมาแนวทางใด ถึงนาทีนี้แล้วการเมืองคงจะเลี่ยงคลื่นแห่งความขัดแย้งได้ยาก