แผนกำจัด-จำกัดอำนาจ "ศาล รธน."

มติชน 22 กรกฎาคม 2555 >>>




ทั้งองคาพยพของฝ่ายเพื่อไทยและเครือข่ายคนเสื้อแดง ร่วมเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน คือกำจัดและจำกัดการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 พร้อมด้วยข้อเสนอแนบท้ายแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อตั้งต้น ล้มล้างการกระทำที่เกิดจากการกำจัดและจำกัดอำนาจเงินและอำนาจการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ขณะที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงหยุดนิ่ง เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ และคนเสื้อแดง รอให้ศาลรัฐธรรมนูญทำคลอด "คำวินิจฉัยกลาง" เพื่อกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวหลังวันที่ 28 ก.ค. 55
แต่กระแส "วิพากษ์ศาลรัฐธรรมนูญ" กลับเร่งสปีดแซงหน้าท่าทีที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจากพรรคเพื่อไทย ว่าจะลุยลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3, จัดทำประชามติ หรือแก้ไขรายมาตรา
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงได้ยินเสียงของขุนพล-กูรู ด้านกฎหมายฝ่ายเพื่อไทยดังก้องรอบทิศทั่วกระดานการเมือง เพื่อลบมาตรา 68 ออกจากรัฐธรรมนูญ
"ชูศักดิ์ ศิรินิล" หัวหน้าทีมกฎหมายที่ต่อสู้ศึกแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาบอกว่า จะลุยลงมติวาระ 3 ไม่สนคำวินิจฉัยศาลก็ทำได้ แต่ปัญหาจะยังคงวนอยู่ที่เดิม เพราะมีคนจ้องจะร้องศาลในมาตรา 68 อยู่ดี ดังนั้นการทำประชามติจะเป็นใบผ่านทางให้พรรคได้
   "ผมคิดไตร่ตรองทั้งคืนพบว่า ทางออกของประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สะดุดลงทำต่อไปได้ แต่ขอแรงประชาชนหน่อย เห็นแก่ระบอบประชาธิปไตยมาลงประชามติกันเถอะ รัฐบาลต้องตัดสินใจเอานะ เสียเงินหน่อย"
และระหว่างรอ "ประชามติ" จากประชาชน เขาขอให้ทุกคนเบนเข็มกลับมาแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยพุ่งเป้าไปถึงมาตรา 68 เคลียร์ปมคำเชื่อมเจ้าปัญหา "และ หรือ" เพื่อขีดเส้นขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
   "จากคำวินิจฉัยศาล รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องคิดว่า ต่อไปนี้พิจารณากฎหมายใดก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในวาระใดก็โดนร้องได้หมด ดังนั้นผมเสนอของผม อาจแก้มาตรา 68 พร้อมทำประชามติไปด้วย"
สอดคล้องกับคำพูดของ "จาตุรนต์ ฉายแสง" ที่บอกว่า ควรเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในบทบัญญัติที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อจำกัดอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
   "ผมมองว่าเป็นการวางหมากที่ซับซ้อนของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย ๆ และเมื่อคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร ผมก็กังวลว่า อนาคตถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญกันอีก คนก็จะยื่นฟ้องกันอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีบรรทัดฐานในการรับคำร้องไปแล้ว"
เมื่อฝ่ายเพื่อไทยเห็นตรงกันว่าศาลเริ่มขยายขอบเขตอำนาจ "จาตุรนต์" เสนอหมากแก้เกมใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ให้เข้าไปจำกัดอำนาจของศาลเสียใหม่
   "หากเราผ่านการลงมติวาระ 3 ไปได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งระหว่างที่รอนั้น รัฐสภาก็ยังเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้อีก เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ ตอนนั้นเราก็จะเสนอให้แก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของศาล"
ขณะที่ "โภคิน พลกุล" ย้ำภาพให้เห็นถึงระบบตุลาการถูกรื้อทำลาย ด้วยน้ำมือของคนกลุ่มหนึ่ง ที่จ้องจะเล่นงานอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร"
   "ฝ่ายตรงข้ามอยากจะตัดอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นว่า ทำให้ระบบโครงสร้างกฎหมายเสียหายหมด มันคนละเรื่องกัน จะเล่นงานคุณทักษิณ แต่กลับทำลายทุกอย่าง ทำกฎหมายกลับตาลปัตรหมด บ้านเมืองก็เสียหาย"
   "เราต้องไม่นำคุณทักษิณมาเป็นประเด็นแก้ไขปัญหา ไม่ใช่พอจะต่อต้านคุณทักษิณก็ไปยำระบบกฎหมายให้ผิดเพี้ยนจนรวนเละ ผมไม่เข้าใจ คนที่ยึดอำนาจมา แล้วฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง คุณบอกว่า มันยังใช้ได้ ต้องคงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างนี้มันอธิบายกันไม่ได้"
วาระที่เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงหยุดนิ่ง ควบคู่กับเสียงโอดครวญของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า อยากเห็นปรองดอง อยากกลับเมืองไทย
กุนซือเพื่อไทยหลายคนต่างรู้ดีว่า เป็นการส่งสัญญาณเร่งให้ทุกฝ่าย ปรับกระบวนทัพปรับสปีดเดินหน้าทุกกระบวนการให้ถึงปลายทางพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านเกิด
แน่นอนว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ "ปรองดอง" ก็หมดหนทางจะเดินต่อไปได้ ดังนั้นจงอย่าแปลกใจที่ได้เห็นวาระ "กำจัดอำนาจศาล" กลายเป็นวาระเร่งด่วนในขณะนี้