โลกวันนี้ 24 กรกฎาคม 2555 >>>
“ศุกร์ 13 มึนงง” กลายเป็น “ศุกร์ 13 อึมครึม” เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยก 5 คำร้องว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 แต่บรรยากาศทางการเมืองก็ยังอึมครึม เพราะไม่มีใครยืนยันได้ว่า คำวินิจฉัยเป็นอย่างไร แม้แต่นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าเป็น “ข้อเสนอแนะ” หรือ “คำแนะนำ” หากรัฐสภาจะดำเนินการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญต่อก็ต้องรับผิดชอบ
เช่นเดียวกับนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่แนะให้รัฐบาลชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนในคำวินิจฉัยส่วนตนและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรม นูญกลาง โดยเฉพาะคำแนะนำของตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญที่ให้ทำประชามติก่อนหรือแก้ไขเป็นรายมาตรานั้น หากเป็นเพียงคำแนะนำก็จะไม่มีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา แต่หากเป็นคำวินิจฉัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง รัฐบาล และรัฐสภา ที่ต้องหารือกัน และการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีมติให้รอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดก่อน หลังจากนั้นจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ชำแหละศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการที่ปรึกษาของพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า น่าเป็นห่วง และต่อไปจะมีปัญหามากขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจมากขึ้นเพราะไปก้าวก่ายการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญคืออัยการสูงสุดที่ถูกกระทบต่ออำนาจโดยตรง ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าให้อำนาจอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรงนี้จะเป็นหมันหรือใช้บังคับไม่ได้เลย ต่อไปจะไม่มีใครไปยื่นต่ออัยการสูงสุด เพราะต้องมีกระบวนการขั้นตอนตรวจสอบว่าจริงไหม ต้องมีการไต่สวน ถ้าอัยการไม่เห็นด้วยก็ไม่ยื่นต่อ แต่จะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่ต้องตรวจสอบอะไร ทำให้ศาลอาจต้องรับเละ กลายสภาพเป็นศาลแขวงหรือศาลจังหวัด เรียกว่าหัวกระไดไม่แห้ง
แม้แต่ประเด็นมาตรา 291 ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ารัฐสภาเป็นเพียงองค์กรที่รับมอบอำนาจจากอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันจะมีผลให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ตรงนี้กฎหมายไม่มีเขียนไว้ หรือการลงประชามติก็เหมือนเป็นคำแนะนำ แต่กฎหมายไม่ได้เขียนว่าต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อนหรือไม่ หากเป็นคำวินิจฉัยของศาลโดยทั่วไปที่มีผลตามกฎหมาย ศาลต้องอธิบายให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกลับสับสน
กับดักตัวเอง ?
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีทั้ง “ข้อเสนอแนะ” และ “คำแนะนำ” จึงไม่ได้ช่วยให้พรรคเพื่อไทยและสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญหายใจได้อย่างสบายใจ ทั้งยังทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่างและแตกแยกกันอย่างชัดเจน ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็น “กับดัก” ที่อาจกลับมาเชือดพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับไปเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ คือการแก้ไขทีละมาตรา หรือทำประชามติก่อน แม้นักวิชาการ นักกฎหมาย และแกนนำเสื้อแดงส่วนใหญ่ต้องการให้เดินหน้าลงมติในวาระ 3 ไปเลย เพื่อยืนยันอำนาจของรัฐสภา
อย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหนึ่งในแกนนำ นปช. ให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรม นูญถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการแสดงถึงการปก ป้องอธิปไตย เพราะไม่ว่าจะเดินหน้าไปทิศทางใดก็เชื่อว่ามีกลุ่มคนที่รอโค่นล้มรัฐบาลอยู่ และเชื่อว่ารัฐบาลหลุด พ้นจากอันตรายมาได้เพราะนายกรัฐมนตรีอยู่เหนือความ ขัดแย้งและเดินหน้าทำงานตามนโยบายโดยที่ประชา ชนให้การสนับสนุน “หากสมาชิกรัฐสภาไม่ออกมาทักท้วง ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้อำนาจของ ฝ่ายนิติบัญญัติและอำนาจของประชาชนถอยหลังลงไป”
แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กลับเห็นว่าหากยังเดินหน้าลงมติในวาระ 3 มีปัญหาแน่ รัฐบาลก็เอวังและถูกยุบพรรคล้านเปอร์เซ็นต์ จึงอย่าใช้ความรู้สึก แต่ต้องใช้ความรอบคอบและแม่นยำในข้อกฎหมาย และประกาศว่าตนเองจะไม่ยกมือโหวตในวาระ 3 อย่างแน่นอน
ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องว่าทางออกที่ดีที่สุดคือต้องทำใน หนทางที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาและตีความให้ยุ่งยาก คือโละ ของเดิมทิ้งแล้วให้ ส.ส. และ ส.ว. ยกร่างแก้ไขรัฐธรรม นูญขึ้นมาใหม่เป็นรายมาตรา ซึ่งไม่ทำให้เสียเงินหรือต้อง ไปตีความอีก หากตนมีอำนาจจะยืนยันในแนวคิดนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศ และไม่ยอมให้คนไทยฆ่ากัน ทั้งปฏิเสธข่าวที่ว่าต้องรอฟัง “คนทางไกล” สั่งว่าไม่มีใบสั่งอะไร แต่สิ่งที่หารือต้องหารือด้วยเหตุด้วยผล
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็แสดงท่าทีชัดเจนว่า “ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา” โดยยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่มีความเห็นใดๆจนกว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างเป็นทางการ และคณะกรรมการกฤษฎีกานำคำวินิจฉัยมาตีความเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
ใจถึงก็เดินหน้า
อย่างไรก็ตาม แกนนำเสื้อแดงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ นักวิชาการ โดยเฉพาะกลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้เดินหน้าลงมติ วาระ 3 พร้อมยุบศาลรัฐธรรมนูญและตั้ง “คณะตุลา การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” แทน
“สิ่งที่ควรทำที่สุดคือการเดินหน้าลงมติวาระ 3 แต่ถ้าใจไม่ถึงก็มีข้อเสนอของนิติราษฎร์ให้พิจารณา ถ้าใจไม่ถึงอีกก็แล้วแต่ท่าน”
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ กล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคณะนิติราษฎร์ที่แถลงจุดยืนให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสนอแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยกร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ส่วนนายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ได้ยืนยันตั้งแต่ต้นแล้วว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นวันที่ศาลบอกให้หยุดจึงไม่จำเป็นต้องหยุด แต่เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติหยุดก็ช่วยไม่ได้ ถ้าสภาจะโหวตวาระ 3 ก็ทำได้เลย ไม่ต้องรอเปิดสมัยวิสามัญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญบอกแล้วว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่มาตรา 68 บานปลายแน่นอน ในทางวิชาการศาลไม่มีอำนาจ แต่พอศาลบอกว่าตัวเองมีอำนาจก็เขียนรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นมาเองว่าเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทุกคนใช้สิทธิข้อนี้ได้โดยมาหาศาล อีกหน่อยก็เตรียมรับเรื่องจำนวนมากไว้ได้เลย
แม้แต่นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประ ชามติ ยังให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คน ออกมาแสดงความชัดเจนว่าจะต้องให้มีการทำประชามติก่อนหรือไม่ หากทำประชามติแล้วประชาชนเห็นด้วยให้สามารถ แก้ไขทั้งฉบับได้ หลังจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะต้องทำประชามติอีกหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมานั้นไม่ชัดเจน มิฉะนั้นความขัดแย้งต่างๆจะยังไม่จบ
“ตลก” ตุลาการ
ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ฟันธงแบบท้าทายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าเป็น “ตลก ตลก.” (ตลกตุลาการ) เพราะศาลบอกถ้าตั้ง ส.ส.ร. แก้ทั้งฉบับ สภาจะ “ต้อง” หรือ “ควร” ทำประ ชามติถามประชาชนก่อน แต่ตามรัฐธรรมนูญผู้ทำประ ชามติได้คือคณะรัฐมนตรี และหากถามประชาชนจะให้ถามว่าอะไร แต่ถ้าสภาจะแก้ทีละมาตราทั้งหมด 300 มาตรา สามารถทำได้โดยไม่ต้องถามประชาชนใช่หรือไม่
นายวีรพัฒน์จึงสรุปว่า “ข้อเสนอแนะ” หรือ “คำ แนะนำ” ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถือเป็น “คำวินิจฉัย” ส่วนมาตรา 68 ไม่ใช่มาตรา 291 ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มี อำนาจไปก้าวล่วงว่ามาตรา 291 แก้ไขอย่างไร และมาตรา 291 กำหนดว่าเมื่อพ้น 15 วันหลังลงมติวาระ 2 ไปแล้ว สภามี “หน้าที่ตามกฎหมาย” ต้องเดินต่อไปยังวาระ 3 เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าคดีนี้ไม่ขัดมาตรา 68 รัฐสภาต้องเดินหน้าต่อวาระ 3 ตามมาตรา 291 ที่กำหนดไว้ รัฐสภาจะนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะนอกคำวินิจฉัยไม่ได้ แต่ถ้ารัฐสภาเดินต่อวาระ 3 แล้วมีคนไปฟ้องซ้ำว่าขัดมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตอบให้ชัดเจนว่าที่บอกว่ามาตรา 291 แก้ได้อย่างนั้นอย่างนี้เป็น “ความเห็น” ของศาล ไม่ใช่ “คำวินิจฉัย”
“หากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยหลงตามศาลจนแตกเสียงกันว่าจะเดินหน้าวาระ 3 หรือไม่ก็น่าเสียดาย เพราะคำวินิจฉัยวันศุกร์ที่ 13 นี้มีผลผูกพันเพียงประการเดียวคือยกคำร้อง” นายวีรพัฒน์ สรุป
อย่าลืมคนตาย !
วิกฤตศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงไม่น้อยกว่าจุดยืนของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งวันนี้แสดงท่าทีชัดเจนว่าทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจให้ได้นานที่สุด โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการทำลายหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือ ไม่ ทั้งที่นักกฎหมาย นักวิชาการ และภาคประชาชนตื่น ตัวอย่างมาก โดยเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยืนหยัดในความถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังมีเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีคนตายถึง 98 ศพ และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ที่กว่า 2 ปี “ความจริง” ยังไม่ปรากฏ แต่รัฐบาลยังดูเหมือนไม่กล้าที่จะเร่งกระบวนการสอบ สวนให้เดินหน้าไปอย่างที่สัญญาไว้กับคนเสื้อแดง
ล่าสุดนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือ “น้องเกด” พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงนามรับรองขอบเขตอํานาจการสอบสวนคดี 98 ศพของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC-Interna tional Criminal Court) เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีอํานาจ ในการลงนามดังกล่าว เพราะเมื่อมีการลงนามรับรองแล้วจะทําให้ ICC มีอํานาจเต็มในการสอบคดีนี้ และสามารถเรียกตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมน ตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และผู้เกี่ยวข้องในกองทัพมาสอบสวนได้ทันที รวมทั้งขอเอกสารหลักฐานต่างๆจากรัฐบาลไทย
เพราะก่อนหน้านี้ นายธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เป็นหัวหน้าคณะตัวแทนประชาชนไทย พร้อมนางพะเยาว์ นางธิดา โตจิราการ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนาย นปช. ต่างประเทศ ได้เข้าพบอัยการ ICC เพื่อเรียกร้องให้รับคดีปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไว้ไต่สวนเบื้องต้น แม้ ICC จะยังไม่รับคดีนี้เพราะประเทศไทยยังไม่ลงนามเป็นภาคีในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่นายธงชัยชี้ให้เห็นว่าการที่ ICC ยังเก็บคำร้องไว้โดยไม่จำหน่ายทิ้งและยินดีให้คณะเข้าพบ แสดงว่า ICC ยังติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ตลอด
นอกจากนี้นางพะเยาว์ยังยืนยันว่าหากนายกรัฐมนตรีไม่เซ็นรับรองหนังสือที่ยื่นให้จะเดินหน้าเรียกร้องต่อไป เพราะคดี 98 ศพลุล่วงมานานกว่า 2 ปี แต่รัฐบาลยังไม่สามารถเอาตัวผู้สั่งการฆ่าประชาชนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ทั้งที่พยานหลักฐานมีมากมายในวันเกิดเหตุ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงต้องออกมาเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับลูกสาวและญาติคนอื่นๆ
ส่วนนางธิดากล่าวว่า คดี 98 ศพที่ยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากนายอัมสเตอร์ดัมถึงความคืบหน้ามาว่า ICC กำลังพิจารณาอยู่ นอกจากนี้ยังเซ็นหนังสือมอบอํานาจให้นายอัมสเตอร์ดัม 1 ฉบับ หากเกิดกรณีฉุกเฉินตนถูกอุ้มหายไป หรือ นปช. ไม่สามารถดําเนินการต่อไปได้ นายอัมเตอร์ดัมยังสามารถเป็นตัวแทนเดินหน้าคดี 98 ศพได้ต่อไป
ลงสัตยาบัน ICC มาทันที
นายธงชัยเชื่อมั่นว่าถ้าประเทศไทยลงสัตยาบัน ICC จะมาทันที เพราะจากการพูดคุยนานเกือบ 2 ชั่วโมง ICC พูดชัดเจนว่ามีทางง่ายกว่ากรณีนายอภิสิทธิ์มี 2 สัญชาติคือ ให้รัฐบาลไทยและรัฐสภาลงสัตยาบัน ซึ่ง ICC พร้อมจะเข้ามาสอบสวนทันที เพราะกรณีนี้อยู่ในระบบของ ICC มาปีกว่าและไม่ได้ทิ้ง แต่ติดข้อจำกัดเรื่อง “อำนาจศาล” เท่านั้น
“ข้อมูลของผมเป็นเชิงประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ อันนี้เกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาก็พอจะรู้ แต่พอเราย้ำลงไป เหตุที่เกิดขึ้นได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบยุติธรรมของไทยไม่สามารถจัดการปัญหานี้ด้วยตัวเราเองได้ อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่ง ถ้าหาก ICC เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมที่แต่ละประเทศจัดการเองได้ เขาก็ไม่อยากยุ่งหรอก แต่ผมคิดว่าจดหมายผมเคลียร์ มันเกิดซ้ำซากอย่างนี้เพราะกระบวนการยุติ ธรรมให้นิรโทษการก่อการกระทำผิดตลอดเวลา”
อย่าอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี ?
นอกจากนี้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่จะสิ้นสุดวาระในเดือนกรกฎาคมนี้ก็เชื่อว่าไม่มีผลอะไรกับการดำเนินคดีเอาผิดนายอภิสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้อง อย่างที่นายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ตรวจสอบและติดตามเหตุการณ์ความรุนแรง โดยมีรายงานออกมาเป็นระยะๆ ยอมรับว่าผิดหวังกับการทำงานของ คอป. และยืนยันว่าต้องค้นหาความจริงให้ได้ก่อนว่าใครผิด ใครเป็นคนฆ่า ไม่ใช่ฆ่าคนแล้วจะได้นิรโทษกรรมโดยอัตโนมัติด้วยการมาเล่าความจริง คงต้องมีที่มาที่ไปให้สังคมเป็นผู้ตัดสินใจ
นายสุนัยยอมรับว่า คงไม่มีคนที่สูญเสียลูกยอม รับการปรองดองหรือนิรโทษกรรมได้ “รับไม่ได้ที่จะให้คนที่ฆ่าลูกเขาลอยนวล ไม่ต้องถึงตาย แค่บาดเจ็บก็รับไม่ได้แล้ว เพราะอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ยอมรับ กรณีสไนเปอร์ก็ยังไม่มีการยอมรับว่ามีการใช้สไนเปอร์ยิงพลเรือน มันต้องผิดแล้วยอมรับ ทำตามคำสั่ง มีความเข้าใจผิด หรืออะไรก็ตามแต่ ต้องมีการอธิบายออกมา ตอนนี้เลยมีปัญหาอย่างที่ถามว่าแม้แต่คนเสื้อแดงด้วยกันหรือที่เป็นฐานเสียงเพื่อไทยส่วนหนึ่งก็อาจไม่รับเรื่องการนิรโทษกรรมเลย”
ดังนั้น ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่มีความยุติธรรม หรือมีแต่ความยุติธรรมแบบ “2 มาตรฐาน” หรือพรรคที่คนเสื้อแดงสนับสนุนให้เข้ามาทำหน้าที่ถามหาความยุติธรรมยังพร้อมจะก้มหัวยอมรับอำนาจ “ตุลา การภิวัฒน์” ไม่ใช่เพียง “ความจริงจะไม่ปรากฏ” และ “คนสั่งยังลอยหน้า คนฆ่ายังลอยนวล” เท่านั้น แต่ความขัดแย้งทางการเมืองจะมีต่อไป ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าในไม่ช้าจะเกิดวิกฤตรอบใหม่ที่รุนแรงแตกหักและเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ขณะที่นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ เขียน บทความว่า “สนามรบ” ข้างหน้าคือกฎหมายและกระ บวนการทางกฎหมาย แต่ประชาชนไม่มีเครื่องมือใดๆที่จะต่อสู้ใน “สนามรบ” ทางกฎหมายเลย ยกเว้นแต่พรรคเพื่อไทย แต่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกลับไม่ต้องการเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเท่ากับเป็นเครื่องมือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจึงต้องช่วยกันคิดหาวิธีที่จะควบคุมพรรคเพื่อไทยให้ได้ ไม่ว่าจะสร้างสื่อขึ้นมาแข่งขันกับพรรคเพื่อไทย หากจะมีการเลือกตั้งซ่อมครั้งใดต้องกดดันให้พรรคเพื่อไทยยอมให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดผู้สมัคร หากไม่ทำก็ลงคะแนนเสียงไม่ประสงค์ใช้สิทธิ พรรคเพื่อไทยก็จะเสีย ส.ส. ในสภาไป 1 เสียง แม้แต่แกนนำเสื้อแดงก็ต้องระวัง เพราะ อาจเห็นแก่ประโยชน์ของพรรคเพื่อไทยและตนเองเหนือกว่าประโยชน์ของประชาชนและประชาธิปไตย
อย่างที่นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ประชา ธิปไตยเป็นกระบวนการช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำ และการต่อต้านประชาธิปไตยก็เช่นกัน ไม่มีดอกประชา ธิปไตยแกะกล่องสำเร็จรูปพร้อมใช้ที่ไม่ต้องลงแรงแต่งสร้างอีก ไม่ว่าจะในไทยหรืออเมริกา”
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรม โดย เฉพาะการต่อสู้กับเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการไทยหรือเผด็จการทั่วโลก ประชาชนจึงต้องยืนหยัดต่อสู้ ไม่ใช่ได้มาด้วยการร้องขอ ที่สำคัญประชาชนต้อง “ตาสว่าง” ไม่หลงประเด็นที่ถูกบิดเบือนไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม เพราะไม่มีอำนาจใดอยู่ได้อย่างยั่งยืนหากประ ชาชนไม่ยอมรับ
พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นประมุขทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจึงต้องมีความกล้าในการแก้ไขรัฐธรรม นูญ เพื่อแสดงให้คนเสื้อแดงและประชาชนที่รักประชาธิปไตยเห็นว่ายังมีจุดยืนที่มั่นคงในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและความยุติธรรม ไม่ใช่ยอม “เกี๊ยะเซียะ” กับเผด็จการอำมาตย์เพียงเพื่อให้อยู่ในอำนาจได้นานที่สุด
เพราะประชาชนจะไม่ยอมรับเผด็จการ ไม่ยอมให้ฆาตกรฆ่าประชาชนลอยนวล และประชาชนที่เขา “คิดเป็น” แล้ว เขาจะไม่ยอมรับรัฐบาลที่โกหกตอแหลประชาชนอย่างแน่นอน!
พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลและเป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในสภาจึงควร “อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี” หรือ “พร้อมจะกลับมาอย่างมีศักดิ์ศรี” แม้จะถูกยุบพรรคแล้วยุบอีกก็ตาม
ถ้าอยู่นานแล้ว “ไม่ทำอะไรหรือไม่กล้าทำอะไรเลย”... “คะแนนนิยม” ก็จะลดลงเรื่อยๆ และจะเสื่อมลงในที่สุด อยู่นานอย่างไร้คุณค่า..“อย่าอยู่เสียดีกว่า”...อายประ ชาชนที่เขาเลือกพวกคุณมาและเดินแซงหน้าไปถึงไหนต่อไหนแล้ว !
อุตส่าห์เป็นถึงประมุขฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ..กล้าๆหน่อย..กองเชียร์เซ็ง !!?