หวั่นโหวต รธน. ป่วนหลัง 'จรัญ' ถอนตัว

คมชัดลึก 6 กรกฎาคม 2555 >>>


คาดผลโหวตปมร้อนแก้ไข รธน. มีปัญหา หลัง “จรัญ ภักดีธนากุล” ถอนตัว เหตุองค์คณะตุลาการฯเหลือเพียง 8 คน

6 ก.ค. 2555 แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า หลังจากที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะนั้น ส่งผลให้มีตุลาการทำหน้าที่เพียง 8 คนเท่านั้น ซึ่งในการลงมติก็จะต้องมีปัญหาในกรณีที่เสียงเกิดเท่ากัน ในข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้ประธานลงคะแนนเสียงได้อีกครั้ง  เหมือนกับระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ระบุไว้ เนื่องจากระบบศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ในข้อกำหนดไม่ได้ระบุให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนชี้ขาด
   “ดังนั้นการที่นายจรัญ ถอนตัวจากการพิจารณาคดี ทำให้องค์คณะตุลาการฯเหลือเพียง 8 คน หากในท้ายที่สุดถึงกระบวนการลงมติ แล้วถ้าคะแนนเท่ากัน 4 ต่อ 4 เสียง สิ่งที่กังวลตามมาอาจส่งผลให้เกิดปัญหา และสุดท้ายก็อาจจะต้องยกประโยชน์ให้จำเลยด้วยการยกคำร้อง”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยมีการหารือในประเด็นดังกล่าวว่า หากผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ระบุว่าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการนั่งพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น้อยกว่า 5 คน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งเชื่อว่าจากนี้องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คงจะไม่มีใครถอนตัวออกจากการพิจารณา การรับคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ เนื่องจากคดีนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากตุลาการฯคนใดถอนตัวโดยไม่มีเหตุที่ประชุมก็คงไม่อนุญาต
แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา คณะตุลาการฯ ก็จะมีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การลงมติต่อไป โดยจะนำประเด็นข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงมาหักล้างโน้มน้าว จนได้ข้อยุติที่เป็นเสียงข้างมาก หรือเสียงเอกฉันท์ แต่ทั้งในร่างข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลฉบับใหม่ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา จะมีบทบัญญัติในการแก้ไขกรณีเสียงเท่ากันไว้ว่า ให้ยกประโยชน์ให้กับผู้ถูกร้องเนื่องหลักฐานไม่เพียงพอต่อการเอาผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่า พรรคเพื่อไทยต้องการกดดันให้ตุลาการฯอีก 2 คน คือ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายนุรักษ์ มาประณีต ถอนตัวออกจากการพิจารณาในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี 2550 แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงกระแสข่าว ยังไม่มีหนังสือคัดค้านเข้ามา แต่หากผู้ร้องเห็นว่า หาก 2 คนนี้ พิจารณาแล้วเกิดความไม่เป็นธรรม ก็สามารถร้องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ แม้ว่าการไต่สวนจะดำเนินการไปแล้ว