ปฏิเสธไม่ได้ว่า "การเมือง" กับ "นายทุน" เป็นของคู่กัน แต่สำหรับ "ส.ส.พ่อลูกอ่อน" วัย 47 ปี "ก่อแก้ว พิกุลทอง" แล้ว "ทฤษฎีนายทุน" หาใช่ที่มาของ "ที่นั่งในสภา" ไม่ หากแต่แลกมาด้วย "การต่อสู้ทางการเมือง"
เพราะหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ชีวิตเขาเกิด "การเปลี่ยนแปลง" อย่างมากมาย ถ้าย้อนวันวาน ของ "ก่อแก้ว" หรือ "แก้ว" เป็น ชาว อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ถือเป็น "เด็ก (บ้าน) นอกหัวดี" คนหนึ่ง เพราะเคยสอบแข่งขันคณิตศาสตร์ ได้ที่ 1 ภาคใต้ ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย เมื่อปี 2526
"ผมชอบคณิตศาสตร์เลยไปสมัครแข่งไม่ได้คิดอะไรก็ได้ที่ 1 ของภาคใต้มา ตอนนั้นคนที่ได้ที่หนึ่งของประเทศไทยคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ของทีดีอาร์ไอ ผมเรียนเก่งก็จริง แต่ไม่ชอบอ่านหนังสือ
เรื่อง "หัวดี" ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ทว่ายัง "การันตี" ด้วยปริญญาเกียรตินิยมอีก 2 ใบ ทั้งปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโท บริหารธุรกิจ (เกียรตินิยม) หลักสูตรนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพอีกด้วย
ทว่า เด็กเรียนดีอย่าง "แก้ว" ใช่ว่าเรื่องอื่นไม่ยุ่งมุ่งแต่เรียน เพราะด้วยพื้นเพเป็นคนปักษ์ใต้ "เรื่องการเมือง" จึงเป็นเสมือนวิถีของคนปักษ์ใต้อย่างแยกไม่ออก และ "แก้ว" ก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม
"เดิมทีผมชอบพรรคประชาธิปัตย์นะ จำได้ว่าตอนนั้นมีการเลือกตั้ง ส.ส.พังงา คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลง ส.ส. ครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง หน่วยก้านดี ผมก็เชียร์ แถมยังชักชวนคนรู้จักให้เชียร์อีก แต่ครั้งนั้นคุณจุรินทร์สอบตก แต่พอเลือกตั้งครั้งที่ 2 คุณจุรินทร์สอบได้ ตอนนั้นผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรหรอก เพียงแต่เราอ่านข่าวก็เจอแต่ข่าวประเภทนี้ เลยปลูกฝังและชอบพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่นั้น"
อย่างไรก็ดี สายอาชีพวิศวกรรมที่ร่ำเรียนมา ทำให้ "แก้ว" ใช้ความรู้ ความสามารถ ประกอบอาชีพเป็น "นักธุรกิจ" ได้อย่างไม่ยากนัก โดยเริ่มจากเข้าทำงานบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ และไต่ขึ้นมาเป็นผู้จัดการคลังน้ำมันในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนจะออกมาตั้งบริษัท NSI Group เป็นของตัวเอง โดยร่วมหุ้นกับเพื่อน รับงานทั้งวิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล โยธา ขยายงานมาจับงานวิศวกรรมทุกประเภทในสายงานน้ำมันจากเอสโซ่ คาลเท็กซ์ และ ปตท. เรียกว่าสามารถสร้าง "คลังน้ำมัน" ทั้งคลังเลยก็ว่าได้
ทว่า การทำธุรกิจของ "ก่อแก้ว" ต้องสะดุดลง หลังตั้งบริษัทมาได้ 3 ปี เมื่อประเทศประสบภาวะวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" ปี 2540 ในยุคที่ "ชวน หลีกภัย" เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่เขาเชียร์ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ แต่ก็ทำเอา "บีบหัวใจ" เขาไม่น้อย เมื่อผลกระทบจากการบริหารประเทศ ทำให้ "แก้ว" ซึ่งนั่งเป็น "ซีอีโอ" บริษัท ต้องปลดคนออก เพื่อรักษาองค์กรไว้ ซึ่งการทำ "ธุรกิจส่วนตัว" นี่เอง ที่ทำให้เขารับรู้ถึงผลกระทบจากการเมือง และมี "อารมณ์ร่วม" กับการเมืองมากขึ้น
"คุณชวน (หลีกภัย) เป็นนายกรัฐมนตรีที่ผมเชียร์มาก แม้ว่าครั้งแรกคุณชวนทำงานไม่ดี ถูกกล่าวหา ชวนเชื่องช้า แต่เราก็เฉยเพราะตอนยังเรียนหนังสืออยู่ เลยยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบของการทำงานที่ล่าช้า พอมาได้ประกอบอาชีพเป็นธุรกิจส่วนตัว และช่วงปี 2540 ตอนคุณชวนมาเป็นนายกฯ ต่อจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผมก็ยังเชียร์อยู่ แต่พอคุณชวนทำงานไปสักระยะหนึ่งก็ยังติดสไตล์เดิม งานล่าช้าไปหมด แก้ปัญหาไม่ได้ เราเป็นนักธุรกิจ ผมก็เลยรู้สึกว่า ถ้าพรรคการเมืองที่เราเชียร์เป็นแบบนี้มันไปไม่ไหว"
จุดเปลี่ยนในชีวิตของ "ก่อแก้ว" นอกจากบริษัทถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ "จุดยืน" ทางการเมืองที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์นั้น "เปลี่ยนไป" ด้วย เมื่อมีสิ่งใหม่ เข้ามาเป็น "ตัวเลือก" จากชายชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งได้เริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) และเสนอตัวบริหารประเทศ "ก่อแก้ว" จึง "เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย" ทันที
"ช่วงปี 2543 บอกตัวเองว่า ไม่เอาแล้วประชาธิปัตย์ ก็เลยไปเชียร์คุณทักษิณ ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวว่าแกเคยประสบความสำเร็จชีวิตมาก่อน รู้แต่ว่าคนทำธุรกิจน่าจะตัดสินใจอะไรได้เร็วกว่า และเมื่อได้เห็นคุณทักษิณเป็นนายกฯ 4 ปีแล้วรู้สึกว่าคนนี้ไม่ธรรมดา จึงเปลี่ยนมาเชียร์เต็มตัว"
และก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ "แก้ว" ได้รู้จักกับ "ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์" ซึ่งสมัยเริ่มเข้ามาในพรรคไทยรักไทยแล้ว และด้วยความเป็นคนใต้เหมือนกันจึงสนิทสนมกันเร็ว
จากนั้น เขาถูก "ตู่" ชักชวนเข้าวงการเมืองครั้งแรกจากการแนะนำให้ช่วยงาน "ภูมิธรรม เวชยชัย" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยนั้น โดยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและรักษาการผู้อำนวยการองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) เมื่อปี 2548 เพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาของ ร.ส.พ. ที่ประสบภาวะขาดทุนนานเกือบ 2 ทศวรรษ และครั้งนั้น "ก่อแก้ว" เสนอ 2 ทางเลือก คือ ฟื้นฟูกิจการอย่างเบ็ดเสร็จ หรือ ปิดกิจการ
กระทั่งบอร์ด ร.ส.พ. มีมติให้สั่งปิดกิจการ ! และ "เขา" สามารถประคับประคองให้การปิดกิจการเป็นไปอย่างเสียหายน้อยที่สุด
"ผมก็คุยตรงๆ กับแกนนำสหภาพว่ามีความจำเป็น และพร้อมจะช่วยในจุดที่ช่วยได้ โดยไม่ให้เขานำรถบรรทุกมาปิดถนน เพราะผมใช้วิธีการปั๊มกุญแจรถบรรทุกไว้หมดทุกคัน ซึ่งหากเขานำมาปิดผมก็พร้อมจะนำรถออกจากพื้นที่ได้ เขาจึงไม่กล้า..ขนาดวันที่ผมแต่งงาน ผมยังปิดข่าวไม่ให้พนักงานรู้เลย กลัวคนไปประท้วงหน้างาน (หัวเราะ) ก็เป็นอะไรที่ตื่นเต้นดี"
กระทั่งกันยายน 2549 เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจช่วงต้นรัฐบาลยุค "ทักษิณ 2" พรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค เป็นเหตุให้กรรมการบริการบริหารพรรค 111 คน ต้องถูกไว้วรรคการเมือง 5 ปี "ก่อแก้ว" จึงเว้นว่างการเมือง กลับไปทำธุรกิจอยู่พักใหญ่
แต่ "แก้ว" ก็มักถูกเพื่อนชื่อ "ตู่-จตุพร" ชวนให้ร่วมจัดรายการด้านเศรษฐกิจที่พีทีวี แต่ไม่เคยได้จัด เพราะสถานีไม่เคยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลในขณะนั้นให้ออกอากาศได้ จึงไปเป็นแกนนำร่วมกับบุคคลอื่นในการต่อต้าน คมช. ที่ท้องสนามหลวงแทนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ให้สามารถเปิดเหมือนที่ "เอเอสทีวี" มีสิทธิเปิดได้
ช่วงปี 2550 ที่ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" เป็นนายกรัฐมนตรี "ก่อแก้ว" มีโอกาสร่วมรายการเป็นพิธีกรรับเชิญแทน "เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ที่ไปเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งเขายอมรับว่าเป็นงานที่ยาก เพราะไม่ได้เป็นคนพูดเก่ง แต่จากการเดินสายเวทีเสื้อแดง ทำให้เขาฝึกฝีปากมากขึ้นและด้วยหน้าตาถูกใจสาวเสื้อแดง ทำให้เขามี "แม่ยกเสื้อแดง" ให้กำลังใจเสมอ
ช่วงหนึ่งของการเข้าใกล้ตำแหน่ง ส.ส. ของ "ก่อแก้ว" คือ การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 6 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 แทนนายทิวา เงินยวง จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเขาได้ความไว้วางใจจากพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนของพรรคสมัครรับเลือกตั้ง
ทว่า ผลพวงจากการชุมนุมในช่วงปี 2553 ที่ขับไล่รัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ยังเป็นช่วงที่เขาถูกศาลสั่ง "ฝากขัง" และไม่ปล่อยให้ออกมาหาเสียงเลือกตั้ง ผลปรากฏว่า ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 รองจากพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ลงสมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทิ้งห่างกว่า 9,000 คะแนน
แต่ภายหลัง "อภิสิทธิ์" ประกาศยุบสภา 10 พฤษภาคม 2554 และมีการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554 ชื่อของ "ก่อแก้ว" นักธรุกิจหนุ่มใหญ่ ได้ทิ้งอาชีพนักธุรกิจ และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จนได้เป็น ส.ส. เสียที
"ที่ผมต้องเดินสายอาชีพนี้เพราะช่วงที่ติดคุก ผมเห็นว่าคุณจตุพรไม่ติดคุกเพราะความเป็น ส.ส. มีเอกสิทธิ์คุ้มครองอยู่ ดังนั้น วันนี้ผมต้องทำภารกิจของคนเสื้อแดงให้ลุล่วงเสร็จสิ้น ทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ การเรียกร้องกระบวนการยุติธรรม คือ เอาคนที่สั่งฆ่าประชาชนในการสลายการชุมนุมมาดำเนินคดี ซึ่งผมต้องมาขับเคลื่อนเองดีกว่าเราไปฝากจมูก ส.ส. คนอื่นหายใจ"
จุดเปลี่ยนชีวิต ของ "นักธุรกิจ" ชื่อ "ก่อแก้ว" สู่การเป็น "ส.ส.เสื้อแดง" วันนี้ จึงไม่ได้แลกที่นั่งในสภาด้วย "เงินทุน" หากแต่เป็นความชอบในการเมืองในใจของเขา ที่ค่อยๆ เดินทางและต่อสู้ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทำให้อาชีพ "นักธุรกิจ" ค่อยๆ ถูกลบออกจากความทรงจำของเขาตามกาลเวลา
"ยอมรับว่าทุกวันนี้ทำธุรกิจลำบาก การเมืองเล่นกันรุนแรงโดยไม่สนใจความถูกต้อง เมื่อก่อนเวลาไปหาลูกค้าคุยเรื่องงานอย่างเดียว ไม่สนใจว่าคุณเหลืองหรือแดง เพราะว่าเราทำงานดี แต่วันนี้ถ้าไปเจอลูกค้าแดงเขาก็แฮปปี้ ถ้าไปเจอเหลืองเขาก็ไม่อยากรับ และผมเองก็มีปัญหาที่จะไปติดต่อลูกค้าจึงออกหน้าไม่ได้ซึ่งอีกระยะหนึ่งคงต้องขายหุ้น เพราะจะเป็นตัวถ่วงของบริษัท"