ใบตองแห้ง: อุดมการณ์จากป่าเขา

ประชาไท 22 กรกฎาคม 2555 >>>


ใบตองแห้ง กลั่นหัวใจดวงที่สร้างจากป่าเขา เขียนถึงสหายร่วมรบ อุดมการณ์ที่ฝันใฝ่ และวันนี้ที่ปักธง 

ดวงตะวันสาดแสงเรืองรอง ทั่วเขตแคว้นแดนไทย ดวงตะวันที่ยิ่งใหญ่ คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
นำมวลประชา จับอาวุธขึ้นมา ทำสงครามประชาชน ขับโจรมะริกัน โค่นสมุนของมัน
ตามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยืนหยัดปฏิวัติตลอดไป ตามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยืนหยัดปฏิวัติตลอดไป
จงเจริญ จงเจริญ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จงเจริญ จงเจริญ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

30 ปีผ่านไปผมยังจำเพลงปฏิวัติได้เกือบหมด ยังจำวันเวลาที่อยู่ในป่า สู้รบ ทำไร่ แบกข้าวสาร ยังจำเสียงปืนระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวเมื่อปะทะกันครั้งใหญ่บนสันภู ยังจำแสงสว่างจับขอบฟ้าจากปากกระบอกปืน 155 ที่ตามมาด้วยเสียงกัมปนาทครั่นครืน ยังจำป่าหญ้าคาเปียกชื้นทางเดินลื่นชันเมื่อออกลาดตระเวนกลางฝนพรำยามเช้า ยังจำความยากลำบากที่กินข้าวปนมัน ปนข้าวโพด กับแกงหน่อไม้ รวมทั้งยังจำความสนุกสนาน ความฮึกห้าวเหิมหาญ ความใฝ่ฝัน ความหวัง ความผิดหวัง ความเจ็บปวด สูญเสีย น้ำตา ...และความรัก ที่เกิดขึ้นในป่าเขา
หลังออกจากป่า ผมกลับจำชีวิตช่วงนั้นไม่ค่อยได้ มันไร้ความหมายไปหมด จนวันที่เห็นหน้าลูกนอนแบเบาะ...โลกของผมถึงหมุนอีกครั้ง
เชื่อว่าไม่ใช่แค่ผม แต่เพื่อนพ้องน้องพี่ทุกคน ไม่ว่าออกจากป่าแล้วยากดีมีจน เป็นรัฐมนตรี เป็นนักธุรกิจ เป็นคนชั้นกลาง เป็นลูกจ้างต๊อกต๋อย หรือเป็นคนที่ล้มเหลวทุกอย่างในชีวิต ก็ล้วนแล้วแต่เก็บความทรงจำนี้ไว้ในลิ้นชักพิเศษ ที่ไม่มีวันลบลืม นานวันเข้าก็เป็นเหมือนภาพฝัน แต่ฝังแน่นตรึงตรา ถึงครั้งหนึ่งในวัยเยาว์ ที่เราเคยมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงโลก
ไม่ว่าอีกชีวิตหนึ่งจะประสบชะตากรรมพลิกผันอย่างไร ไม่ว่า “สหาย” จะเปลี่ยนแปรไปแบบไหน รวย จน ยิ่งใหญ่ ต๊อกต๋อย ไม่ได้เจอกันนานแค่ไหน เวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ทุกอย่างย้อนเวลาไปหมด เหลือแต่คืนวันที่ร่วมเป็นร่วมตาย สู้รบด้วยกัน อดอยากด้วยกัน แบกข้าวสารฝ่าดงทากไปด้วยกัน รำวงวันพรรคด้วยกัน....
ผมยังเชื่อมั่น แม้หวั่นไหว ว่าวิกฤตการเมือง ความแตกแยกทางความคิดตลอด 6 ปีที่ผ่านมาจะไม่ทำลายวันคืนเก่าๆ แม้สร้างความห่างเหินกันไปบ้าง
อย่างน้อยถึงคุยกันไม่ได้ ถกกันไม่ได้ แต่ในยามที่สหายรายใดตกทุกข์ได้ยาก ผมเคยเป็นตัวตั้งตัวตีประกาศขอความช่วยเหลือสหายรายหนึ่ง ได้รับน้ำใจหลั่งไหลจากทุกสารทิศ แม้กระทั่งสหายต่างเขตงานที่ไม่เคยรู้จัก
หรือไม่ก็...อันนี้เศร้าหน่อย มีใครตายก็ยังไปงานศพพร้อมเพรียง (ปกตินัดสังสรรค์ไม่ค่อยมีคนมาหรอก แต่ถ้ามีใครตาย พรึ่บเลย ตายเช้า ไม่ทันบ่ายรู้กันหมดแล้ว)
ความขัดแย้งทางความคิดของอดีตสหายไม่ใช่เรื่องแปลก หลังจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลาย เรากลับมาสู่การแสวงหาที่ไม่เจอทางออก ขณะเดียวกันก็หมดแรงใจ เคว้งคว้าง ผิดหวัง ผมเขียนบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่ง เราเคยยืนบนภูดูดาวบนท้องฟ้า ดวงดาวนั้นดูใกล้ แทบจะไขว่คว้ามาได้ แต่วันนี้ ย่ำไปบนถนนยามดึก แปลกแยก เดียวดาย มองไม่เห็นดาว เห็นแต่เสาไฟฟ้า และเงาจันทร์ในท่อน้ำโสโครก
คนจำนวนหนึ่งกลับสู่ชีวิตธรรมดาได้ แต่บางคนกลายเป็นคนล้มเหลวตลอดชีวิต บางคนก็กลายเป็นเอาทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ต่างกับมวลชนในชนบท บางคนกลับไปทำไร่ไถนา ขยันขันแข็ง บางคนเสียศูนย์ ติดเหล้าเมายา ติดเอดส์ ตายก่อนวัยอันควร บางคนกลายเป็นมือปืนรับจ้างไปก็มี
ไม่แปลกหรอกที่ความขัดแย้งทางการเมือง จะทำให้ “ชีวิตที่อยู่ในลิ้นชัก” กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ไม่ว่าเลือกข้างไหน ไม่ต่างกับสมัยพฤษภา 35 ไม่ต้องเป็นผู้นำ ขอแค่อยู่ในม็อบ อดีตสหายบางคนไปช่วยหุงข้าวกระทะใบบัว แสดงฝีมือที่เชี่ยวชาญมาจากม็อบหลัง 14 ตุลา
เพียงแต่ความขัดแย้งครั้งนี้แหลมคม เกิดทางแยกที่ท้าทาย ว่าด้วยพื้นฐานอุดมการณ์ของเรา เราจะเลือกเดินทางไหน ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ขึ้นกับว่าแต่ละคนตกผลึก เก็บรับบทเรียนจากป่าเขามาอย่างไร และมีวิถีชีวิต ทัศนะ ในช่วงหลังจากนั้นอย่างไร
เรา “กลับมามีชีวิต” อีกครั้ง กลับมามีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เพียงแต่คิดสวนทางกันสิ้นเชิง
อันที่จริงก็ไม่เป็นไร ถ้าต่างคนต่างคิดว่า อยากเห็นสังคมที่ดีกว่า และยังคงยึดมั่นอุดมการณ์ “เพื่อมวลชน”
แต่ไม่ทราบมันเป็นมรดกตกทอดของวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ที่แค่ขัดแย้งทางความคิด พวกสุดขั้วสุดโต่งก็ประณามเป็น “ลัทธิแก้” ร่วมรบมาด้วยกัน อาบเลือดมาด้วยกัน ก็ยังเข่นฆ่ากัน แบบสตาลิน-ทรอตสกี้ เหมาเจ่อตง-หลิวเซ่าฉี-เผิงเต๊อะไหว-เติ้งเสี่ยวผิง ฯลฯ
ผมไม่แปลกใจอะไร ที่เห็นภาพพรรคคอมมิวนิสต์ และทหารปลดแอกฯ มาชูป้ายปกป้องสถาบัน ปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีอดีตสหายคิดเช่นนี้จริง เยอะไป เพียงแต่ผมรู้สึกว่าการชุมนุมที่อุดร ขอนแก่น “จัดฉาก” ระดมคนมาเกินจริง
และเพียงแต่ผมรู้สึกว่า พวกคุณไม่ควรใช้ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ กองทัพปลดแอก พรรคคอมมิวนิสต์ในความรู้สึกผม ตายนานแล้ว ตายอย่างมีเกียรติ ไม่ว่าใครจะไม่เห็นด้วย ขัดแย้ง วิพากษ์วิจารณ์ หรือหมดศรัทธาอย่างไร ผมก็เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ตายอย่างมีเกียรติ จบบทบาททางประวัติศาสตร์ที่เราทั้งหลายควรคารวะ พร้อมกับยกย่องวีรชนผู้พลีชีพเพื่อการปฏิวัติทุกคน ตั้งแต่สหายนิรนามในสนามรบมาจนสหายนำอย่าง เจริญ วรรณงาม, วิรัช อังคถาวร, อุดม ศรีสุวรรณ, อัศนีย์ พลจันทร์ ฯลฯ ตำนานการต่อสู้ของพวกเขาจบลงแล้ว-อย่างที่จะอยู่ในหัวใจเราตลอดไป ไม่ว่าเป็นเหลืองหรือแดง เป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ควรเอาพรรคคอมมิวนิสต์มาเกี่ยวข้อง
ถ้ายกเว้นเรื่องเอาชื่อพรรคมาเคลื่อนไหว การที่อดีตสหายทั้งหลายออกมายืนฝ่าย “ขวาจัด” อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ซ้ายจัดกับขวาจัด มีเส้นแบ่งเพียงบางเบา เผด็จการในโลกนี้ล้วนอาศัยฐานความคิดผูกขาดความดี ความรักชาติ ต้องการจัดระเบียบสังคม
ฉะนั้นผมจึงไม่แปลกใจอะไรเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งหันไปสนับสนุนรัฐประหาร ก็พรรคคอมมิวนิสต์สอนว่า “อำนาจรัฐจักได้มาด้วยกระบอกปืน” ไม่เคยสอนว่า “อำนาจรัฐจักได้มาด้วยการเลือกตั้ง” ซักหน่อย (ฮา)
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งหันไปสนับสนุนเผด็จการที่อ้างว่าเป็น “เผด็จการคุณธรรม” ในเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สอนเราว่า ต้องยึดแนวทาง “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ”
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งสนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” ในเมื่อประธานเหมาสอนเราว่า ต้องใช้ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์”
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายซึ่งเคยชูคติพจน์ประธานเหมา หันไปชูป้าย “ปกป้องสถาบัน” กลายเป็นพันธมิตรฮาร์ดคอร์ ซึ่งก็มีบางอย่างคล้ายคลึงเรดการ์ด
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งสนับสนุนตุลาการภิวัตน์ เพราะเราเคยคิดจะตั้ง “ศาลประชาชน”
เปล่า ไม่ได้โทษพรรคคอมมิวนิสต์ แต่อยู่ที่เราเก็บรับอะไรไว้ต่างหาก
เสียดายที่ผมไม่ใช่นักทฤษฎี ศึกษาวัตถุนิยมวิภาษวิธีทีไรก็มึนตึ้บ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพทีไร ตำราเล่มไหนๆ ก็ยกแต่น้ำเดือด อ่านเลนินแล้วสับสน อะไรวะ “ก้าวหนึ่งก้าว ถอยสองก้าว” ส่วนคติพจน์ประธานเหมา สหายม้งในหมู่ผมชอบชูคติพจน์แล้วบอกว่า “สหาย ประธานเหมาสอนเราว่า งานปฏิวัติต้องทำไปตลอดชีวิต ฉะนั้นวันนี้ผมขอพักก่อน ไม่เป็นไรมั้ง”
ก็เลยไม่สามารถวิเคราะห์ให้เป็นระบบว่า เพราะอะไร มรดกทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จึงทำให้เราแตกเป็น 2 เสี่ยง

อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว

นักศึกษาที่เข้าป่าขัดแย้งกับ พคท. เรื่องการวิเคราะห์สังคมเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ให้สร้างฐานที่มั่น ใช้ชนบทล้อมเมือง เอาอย่างเหมาเจ๋อตงปฏิวัติจีนด้วยการสร้างฐานที่มั่นในชนบท กองทัพแดงไปถึงไหนก็จับเจ้าที่ดินตัดหัว แจกที่ดินให้ชาวนา มันจะไปเหลืออะไร ชาวนาก็สู้ตายเพื่อพรรคคอมมิวนิสต์สิครับ
แล้วโลกสมัยนั้นนะ พวกผู้หญิงในหมู่บ้านสานรองเท้าฟาง ทอผ้า ให้ทหารปลดแอก เศรษฐกิจชนบทยังไม่ต้องพึ่งเมือง ไม่เหมือนสมัยผมเป็น ทปท. กินมาม่า (เคยคิดจะไปเสนอตัวเป็นนายแบบสหพัฒน์ฯ ถ่ายหนังโฆษณา แม้แต่ ทปท. ยังกินมาม่า) ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้มีอาวุธทันสมัยเช่นเครื่องบิน จรวด เพียงพอที่จะปราบปราม
เหมาใช้ยุทธศาสตร์ต่างจากรัสเซีย ซึ่งใช้การลุกขึ้นสู้ในเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วงหนึ่งนำโดยสายรัสเซีย ลุกขึ้นสู้ก็ตายเป็นเบือ เหมาเป็นอัจฉริยะที่คิดค้นดัดแปลงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีให้เหมาะกับสังคมจีน โดยอิงนิยายซ้องกั๋ง
พคท. ก๊อปเหมามา สร้างฐานที่มั่น ไม่ทันไรก็ถูกรัฐบาลปิดล้อม ขยายฐานที่มั่นไม่ได้ ทางเหนือที่ผมอยู่คือเขตม้ง ชนชาติส่วนน้อยที่ถูกคนไทยพื้นราบดูหมิ่น เอาเปรียบ อำนาจรัฐรังแก พอเสียงปืนแตกก็แยกเขตกัน คนม้งลงมาก็ไม่ได้ ทหารขึ้นไปปราบก็แพ้คนม้งที่รู้ภูมิประเทศดีกว่า ตั้งประจัญกันอย่างนั้นจนฐานที่มั่นแตกเพราะรัฐบาลใช้วิธีสร้างถนนผ่ากลาง (ปัจจุบันเป็นเส้นทางท่องเที่ยวนำท่านผู้มีเกียรติไปยังภูชี้ฟ้า)
ฐานที่มั่นของ พคท. ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีแต่ยากลำบากลง แม้ตอนแรกจะ “ปลดแอก” จากการกดขี่ แต่เศรษฐกิจต้องพึ่งสินค้าอุตสาหกรรมจากภายนอก ตอนแรก ลาวยังไม่ปิดแนวหลังก็ไม่เท่าไหร่ (สมัยนั้นได้สูบบุหรี่จีน จินซาเจียง ซานชิ กินหมูกระป๋อง) แต่พอถูกโดดเดี่ยวสิครับ
การปฏิวัติไม่ใช่เรื่องของการขายฝัน เอารูปปลาเค็มแขวนให้กินข้าวต้มเปล่าๆ มันต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าประชาชน เรื่องนี้พวกคนเดือนตุลาในไทยรักไทยเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จึงแปรมาเป็นการยึดอำนาจรัฐด้วยนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน 30 บาท
ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างนักศึกษากับจัดตั้ง ในทางทฤษฎี นำมาซึ่งปัญหาประชาธิปไตยในขบวน ทำให้เรา “ตาสว่าง” กับ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีแต่ด้านที่รวมศูนย์
ความขัดแย้งในแต่ละเขต ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยประเด็นใด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี วิเคราะห์สังคม ฯลฯ จุดแตกหักก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น หรือฟัง แต่ไม่แก้ไข มีปัญหาท่าที
อีกด้านคือวิกฤติศรัทธา ตอนที่เราเข้าป่าใหม่ๆ ถูกอบรมให้เชื่อพรรค เชื่อจัดตั้ง เห็นจัดตั้งเป็นบร๊ะเจ้า (พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งไทยและจีนยังไม่หลุดพ้นจากความคิดศักดินา เหมาในอีกมุมก็คือจักรพรรดิองค์ใหม่) พอขัดแย้งกัน เห็นอีกด้าน ด้านที่ล้าหลัง ตกยุค ไม่รับฟัง พอถูกท้าทายก็มีอารมณ์
อารมณ์ความรู้สึกเราในขณะนั้น ขอใช้บทกวีของอดีตสหายรายหนึ่ง ที่ขโมยจำไว้ในหัวใจมา 30 ปี

ไม่อยากจะให้ใครมาตีตรา
หรือชี้หน้าปัญญาชนนั้นอ่อนไหว
ทัศนะจัดตั้งไม่เข้าใจ
นายทุนน้อยนานไปก็โลเล

ชอบทำการเคลื่อนไหวไม่ขึ้นต่อ
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อทำหัวเสธ
ทั้งอ่อนหัดทั้งสันดานพาลเกเร
มาทำเท่ค้านพรรคอาจโดนดี

ผมออกจากป่าหลังเพื่อน หลังจากอารมณ์เย็นลง ผมเข้าใจสหายนำมากขึ้น สหายนำเขตอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่สหายนำเขตผมไม่ได้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างจากเรา อย่างในหนัง “สงครามประชาชน” ของเสกสรรค์ สหายนำที่ผมรักนับถือที่สุด อายุมากแล้ว มีปอดข้างเดียว แต่ใช้ชีวิตเหมือนเราทุกอย่าง เป็นชาวคอมมิวนิสต์ที่แท้ ผู้ต่อสู้ตั้งแต่เด็ก เลขาเขตผม เคยโดนเราประชดประเทียดต่างๆ นานา เอาเข้าจริงแกก็คือมนุษย์ธรรมดา มีด้านที่น่าเคารพ มีด้านที่น่าเห็นใจ แต่เราถูกสร้างภาพให้เห็นเป็น “เทวดา” ตั้งแต่แรก พอเกิดวิกฤติศรัทธาก็รับไม่ได้
ก่อนออกจากป่า ผมลงมาอยู่เขตพื้นราบ ซึ่งประสบความสำเร็จเพราะฉีกตำราจัดตั้ง ที่เอาแต่ให้ “สร้างฐานที่มั่น” นักศึกษาและชาวนาที่เป็นแกนนำ กลับไปทำงานบ้านตัวเอง สร้างเขตอิทธิพลขึ้นจากการ “เก็บ” ผู้มีอิทธิพลเดิม 2-3 ราย แล้วก็ใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ประชาชน นำชาวบ้านล้อมรถสรรพสามิตจับเหล้าเถื่อน กลายเป็นเขตต้มเหล้าเสรี และเป็นเขตจรยุทธ์มอเตอร์ไซค์ แต่ท้ายที่สุดก็ไปต่อไม่ได้ เพราะขบวนล่มสลายแล้ว และไม่สามารถฝืนทิศทางสังคม
ผมนัดชาวบ้านไปศึกษาทฤษฎีปฏิวัติตอนสองทุ่ม กว่าชาวบ้านจะมา สี่ทุ่มกว่า ถามว่าทำไมมาช้า หัวเราะแหะๆ ดู “กระบี่ไร้เทียมทาน” นั่นราวๆ ปี 24-25 ฮุ้นปวยเอี้ยงทำให้เครื่องรับโทรทัศน์แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในชนบท
สังคมเปลี่ยนแปลงครับ ผมไปเคลื่อนไหวกับชาวบ้านที่ทำสวนผัก วันนี้ผักชีกิโลละ 5 บาท อีกเดือนหนึ่งกิโลละสลึง ชาวบ้านยัวะ ถอนทิ้งน้ำลอยเป็นแพ ผมไม่รู้จะไปตัดหัวใครเพื่อผลประโยชน์ประชาชน เพราะมันกำหนดดัชนีราคากันมาเป็นทอดๆ จากหั่งเช้งในกรุงเทพฯ
จีนต้องห้นกลับมาพัฒนาทุนนิยม เพราะเศรษฐกิจเกือบล่มจมในยุคแก๊งสี่คน ที่อะไรๆ ก็ชูธงแดงไว้ก่อน คนงานทำงานขยันขันแข็งก็ได้ธงแดงเป็นรางวัล ปีก็แล้ว 2 ปีก็แล้ว 3 ปีก็แล้ว ค่าแรงเท่ากัน เรื่องอะไรกรูจะขยัน อดีตสหายที่เคยไปเมืองจีนเล่าว่าเข้าไปซื้อของในร้านของรัฐ พอกดกริ่งหมดเวลาทำงาน พนักงานทิ้งลูกค้าเฉย เพราะทำไปก็เท่านั้น ผู้บริหารวิสาหกิจก็คัดเลือกจาก “อุดมการณ์” ลูกที่ดีของพรรคลูกที่รักของประชาชน แต่ทำงานไม่เป็น เอาแต่ชูคติพจน์ ประเทศเจ๊งย่อยยับ อดีตสหายเคยไปเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ เวลาพ่นสีรถ คนงานไม่รู้จักเอากระดาษหนังสือพิมพ์ปิดกระจก พ่นไปเรื่อยแล้วค่อยมาขูดเอา พอแนะนำเขา ยังโดนจัดตั้งเราด่าอีกว่าอย่าไปฉีกหน้าสหายจีน
8 ปีในยุคแก๊งสี่คน จึงมีคำขวัญประชดประชันว่าผลิตได้แค่ 4 หมุน (หรือ 8 หมุน จำไม่ได้แน่ เช่น จักรยาน, วิทยุ, กระติกน้ำ) เติ้งเสี่ยวผิงจึงบอกว่า แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้ คือไม่เอาแล้วอุดมการณ์ชี้นำ หันมาพัฒนาทุนนิยม ใช้เงิน วัตถุ ความอยากได้ใคร่มี ตลอดจนความอยากรวย กระตุ้นให้คนกระตือรือล้น จนจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทุกวันนี้ แน่นอน โคตรเหลื่อมล้ำเลย แต่ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนก็ดีกว่าจนเท่าเทียมในยุคแก๊งสี่คน
แต่ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับจีนด้านที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งตอนหลังกลับตาลปัตร ฝ่ายขวาไทยกลับกลายเป็นพวกนิยมจีน เห็นไหม ไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็เศรษฐกิจรุ่งเรืองได้ โห จีนเขาคลี่คลายมาจากเผด็จการตกขอบ แล้วค่อยๆ เปิดกว้าง เราสิจะถอยหลังสวนทางเขา
ความเปลี่ยนแปลงของจีน การล่มสลายของโซเวียต ชัดเจนว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว ไม่เฉพาะ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ที่กลืนกันตัวเอง กลายเป็นการผูกขาดอำนาจของคนกลุ่มเดียว แต่สังคมคอมมิวนิสต์ในฝันของมาร์กซ์ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับโลกพระศรีอาริย์ โลกที่ทุกคนเป็นคนดี ไม่เห็นแก่ตัว พอเพียง จริงๆ ก็คือโลกที่หยุดนิ่ง
มนุษยชาติพัฒนามาด้วยความขัดแย้ง 2 ด้านในตัว กิเลส ตัณหา ราคะ โลภ โกรธ หลง เป็นพลังที่ผลักดันให้โลกหมุน ให้เกิดการคิดค้น พัฒนาพลังการผลิต วิทยาการเทคโนโลยี ขณะที่คุณธรรม ความดีงาม ความกล้าต่อสู้ ความเสียสละ เป็นพลังที่ควบคุมทิศทาง คอยจัดความสัมพันธ์ให้เหมาะสม มันเป็นเช่นนี้มาหลายพันปีแล้ว ไม่มีหรอก สังคมคุณธรรม ดีงามสมบูรณ์แบบ ไม่งั้นโลกก็หยุดหมุน
ปรัชญานี้แฝงอยู่ในไบเบิลของคริสต์ งูคือสัญลักษณ์ของแรงกระตุ้นที่ทำให้อดัมกับอีฟกลายเป็นมนุษย์ จากเดิมที่เป็นแค่หุ่นยนต์ของพระเจ้า
เพียงแต่หลังผ่านความขัดแย้ง ความรุนแรง ความเสียหาย มนุษยชาติก็เรียนรู้และยกระดับ จนค่อยๆ พัฒนาระบอบที่ให้เสรีกับกิเลสตัณหา ให้ความอยากได้ใคร่มี เป็นพลังสร้างสรรค์ พร้อมๆ กับเปิดช่องทางให้มีการต่อรองจัดสรรผลประโยชน์ นั่นคือระบอบประชาธิปไตย
สังคมอุดมการณ์ที่แท้จริงจึงเป็นสังคมประชาธิปไตย เสรีประชาธิปไตยที่มีความสมดุลระหว่างพลังทั้งสองด้าน ไม่ใช่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่เผด็จการคุณธรรม ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่กำกับดูแลโดยคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์หรืออำมาตย์

เราเป็นเสรีชน

พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ไม่ได้ชนะด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่ชนะด้วยเงื่อนไขที่ประชาชนต่อต้านผู้ปกครองในขณะนั้นต่างหาก
ไม่มีเลนิน ไม่มีพรรคบอลเชวิค พระเจ้าซาร์ก็ต้องถูกโค่นล้มอยู่ดี ด้วยระบอบการปกครองที่ประชาชนเหลืออดแล้ว เพียงแต่แน่นอน อุดมการณ์ที่งดงาม ความคิดชี้นำที่เข้มแข็ง การจัดตั้งเป็นเอกภาพ ทำให้ขบวนปฏิวัติที่นำโดยลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ได้ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ รวดเร็ว ไม่ต้องยืดเยื้ออีกหลายปี แต่ถามว่าชาวนารัสเซียสมัยนั้นรู้จักคาร์ล มาร์กซ์ รู้จักสังคมอุดมการณ์ไหม ไม่หรอก ก็แค่อยากล้มพระเจ้าซาร์
พรรคคอมมิวนิสต์จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา เกาหลี ไม่สามารถปฏิเสธว่าส่วนสำคัญของชัยชนะคือชูธงประชาชาติ จีนทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เกาหลีก็ต่อต้านญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ต่อต้านฝรั่งเศสผู้ยึดครอง แล้วต่อเนื่องมาถึงอเมริกาผู้แทรกแซง แน่นอน อุดมการณ์ ความคิด ทฤษฎี ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ทำให้ขบวนเข้มแข็ง ห้าวหาญ แต่ถ้าปราศจากเงื่อนไขที่ประเทศถูกรุกราน หรือระบอบเดิมเสื่อมทรามแตกสลาย (อย่างในจีนซึ่งแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าหลังซุนยัดเซ็น) ก็ไม่แน่ว่าจะชนะหรือเปล่า
มองย้อนไป ตั้งแต่มาร์กซ์ เลนิน เหมา ลุงโฮ เช คาสโตร ฯลฯ มาถึงแกนนำ พคท.และเรา ก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากผู้ที่ต่อสู้เผด็จการ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทั้งสิ้น (มาร์กซ์เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกเซ็นเซอร์) เพียงแต่ในยุคสมัยนั้น อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ให้ความฝันที่ทรงพลังและมีเสน่ห์ที่สุด สามารถปลุกคนให้ลุกขึ้นต่อสู้กับเผด็จการซึ่งปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม
อุดม ศรีสุวรรณ,นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์ เหล่านี้คือนักคิดนักเขียนฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกเผด็จการปราบปราม คนเดือนตุลา ขบวนการนักศึกษา อันที่จริงก็เติบโตมาด้วยอิทธิพลความคิดเสรีนิยม ของยุคซิกซ์ตี้ ยุคแสวงหาของอเมริกา หงา คาราวาน ก็ได้อิทธิพลมาจากบ็อบ ดีแลน ไม่ได้เป็นแดงมาแต่แรกซักหน่อย (ฮา) ผม “แสวงหา” มาตั้งแต่อยู่ ม.ต้น ชอบเพลง The Sound of Silence ของไซมอน การ์ฟังเกล จากหนัง The Graduate ที่พระเอก “คนนอก” ดัสติน ฮอฟฟ์แมน ดำลงไปคุยกับความเงียบใต้น้ำ
แต่ความรุนแรงจากชนชั้นปกครอง การปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดเมื่อ 6 ตุลา ผลักให้เราเข้าป่า กระนั้น เราก็ยังขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะเราต้องการประชาธิปไตย เพราะเราเป็นเสรีชน
ความเป็นเสรีชน ไม่ใช่เรื่องที่เป็นซ้ายตามสมัยนิยม ไม่ใช่เป็นหนุ่มสาวก็ซ้ายให้ทันสมัย แต่แก่แล้วเสียคน (อันที่จริงคนพูดนั่นแหละเป็นซ้ายสมัยนิยม)
ฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะกลับมาเป็น ก็คือเป็นนักประชาธิปไตย เป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ให้ประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกทางเดินของเขาเอง ให้สังคมนี้เปิดกว้าง สร้างสรรค์
ผมขี้เกียจวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเป็นกึ่งอะไร แต่ชัดเจนว่าสังคมไทยมาถึงจุดที่ต้องปฏิรูปประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาไปสู่ความเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในทุกระบบ ทุกองค์กรสถาบัน ไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง
เราควรกลับมา “มีชีวิต” เพื่อผลักดันอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้บรรลุ จากที่เราต่อสู้ไว้เมื่อ 14 ตุลา 6 ตุลา แล้วถูกตัดขาดไป ไม่ใช่กลับมาสร้างอุดมการณ์สุดขั้วสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง เพื่อชดเชยอารมณ์ค้างจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ล่มสลาย
ที่พูดมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่า โยน “อุดมการณ์อันสูงส่ง” ทิ้งไปเถอะ เพราะอุดมการณ์ยิ่งสูงส่งยิ่งทำให้ต้องต่อสู้ โค่นล้ม รุนแรง แตกหัก “ปฏิวัติ” (หรือหน้ามืดเห็นรัฐประหารเป็นการปฏิวัติ-ฮา)
เราต้องการแค่อุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอุดมการณ์บ้านๆ แต่สอดคล้องกับความจริงของโลกย์ ไม่ใช่สังคมในฝัน เราเพียงต้องการสังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันได้ ขัดแย้งกันได้ ภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพ เป็นสังคมที่ยังมีปัญหาให้ต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติมนุษย์ โดยเราทุกคนก็เป็นมนุษย์ มีดีมีชั่ว (ไม่จำเป็นต้องดัดแปลงตนเองเป็นชนชั้นกรรมาชีพ)
เราต้องการแค่อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยังอยู่ในสังคมทุนนิยม ให้ทุนนิยมพัฒนาไป NGO ก็ทำงานไป เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ขอแค่ประชาชนตื่นตัวรู้จักปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
อย่าเอาเป็นเอาตายเพ้อฝันว่าจะสร้างสังคมเป็นธรรม สะอาดสดใส ไล่ทุนสามานย์แล้วจะไม่มีทุจริตคอรัปชั่น อะไรเทือกนั้น ซึ่งเป็นการเอาอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมนิยมมาซอยแบ่ง โพกผ้าเหลืองขายให้มวลชนคลั่งลัทธิ
แน่นอน ในอีกข้างหนึ่ง ผมก็พูดเสมอว่าไม่ต้องการเห็น “ปฏิวัติประชาชน” การปฏิวัติทุกแห่งในโลกลงเอยโดยไม่คุ้มค่ากับความสูญเสีย เพียงแต่มันมีปัจจัย 2 ด้าน ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ เมื่อชนชั้นปกครองใช้กำลังปราบปรามเข่นฆ่า มวลชนก็จำเป็นต้องสู้ เจาะเวลาหาอดีตไปกี่ครั้ง เกิด 6 ตุลาเราก็ต้องเข้าป่าอยู่ดี
อุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องการเพียงให้ทุกขั้วอำนาจเข้ามาอยู่ใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ อันที่จริงเป็นความต้องการที่ต่ำมาก แต่บางขั้วอำนาจยังแข็งขืน นั่นต่างหากชนวนแห่งความรุนแรง โดยมีอดีตสหายไปร่วม “ชูคติพจน์” ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง กดฝาหม้อน้ำไว้ไม่ยอมให้ไอน้ำระบายออก มันก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพเมื่อน้ำเดือด 100 องศาตามที่สอนในโรงเรียนการเมืองการทหารนั่นแหละ
ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก สำหรับคนที่มีอุดมการณ์จากป่าเขา เอาประชาธิปไตย หรือไม่เอาประชาธิปไตย
พวกไม่เอาประชาธิปไตยก็พยายามหารูปแบบ “การเมืองใหม่” ประชาธิปไตยที่มีการชี้นำ ประชาธิปไตยพรรคเดียวแบบจีน ประชาธิปไตยแบบรัฐอิสลาม สุดท้ายหันมาคว้าประชาธิปไตยแบบอำมาตย์
อาจพูดได้ว่ายังมีอารมณ์ค้าง ภาพหลอน จากอุดมการณ์สังคมนิยม แต่หลายคนที่ยังยืนหยัดอุดมการณ์สังคมนิยม เขาก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นนะครับ อย่าง อ.ใจ ท่านก็ยังยืนหยัดต่อสู้ไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่ได้เพี้ยนจนเตลิดเปิดเปิงไปเหมือนสหายโพกผ้าเหลืองซักหน่อย

ความรับผิดชอบของคนออกป่า

ในฐานะผู้ที่เคยผ่านการต่อสู้ ผ่านสงคราม ผ่านการนองเลือด เคยเจ็บปวด เคยสูญเสีย เรามีภาระที่ต้องถูกเรียกร้องสูงกว่าคนอื่น
อันดับแรก ความรับผิดชอบสูงสุดคืออย่านำไปสู่การนองเลือด แต่อย่าชี้หน้า “ซ้ายเสื้อแดง” เป็นจำเลย ในขณะที่ “ซ้ายเสื้อเหลือง” ปลุกความสุดขั้วสุดโต่ง ปลุกอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไปสู่เสรีประชาธิปไตย
แน่นอน เราพูดได้ว่าพฤษภา 53 แกนนำเสื้อแดงมีส่วนรับผิดชอบที่มีโอกาสยุติม็อบได้แต่ไม่ยุติ แต่คนอีกข้างที่ปลุกความเกลียดชัง กระทั่งมีคนตายมากมายก็ยังปลุกความเกลียดชัง ถ้าเป็นสลิ่มช่างหัวมัน ถ้าเป็นพวกเรา ก็ต้องถามว่ายังมีจิตวิญญาณของคนเดือนตุลา คนออกจากป่า คนเคยต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมอยู่ไหม
ที่เลวร้ายที่สุด คือพวกอ้างเจ้าสร้าง 6 ตุลา ในฐานะผู้ผ่านความเจ็บปวดสูญเสีย คนเดือนตุลาที่ปลุกข้อหา “ล้มเจ้า” ชั่วที่สุด ไม่ถือเป็นคนเดือนตุลาอีกต่อไป แม้แต่คนที่ปล่อยให้พวกพ้องฝ่ายตัวปลุกผังล้มเจ้า โดยทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก็ถือว่าเหยียบย่ำเลือดเพื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน อภัยให้ไม่ได้
ข้อถัดมา อย่าดูถูกมวลชน “มวลชนแกงไก่กินเข้าไปสองชาม” คนที่เคยต่อสู้ในป่าเขากลับดูถูกมวลชน ทั้งที่เคยดัดแปลงตนเองกับกรรมกรชาวนามาตั้งหลายปี บางคนเป็น “ชนชั้นกรรมาชีพ” ไปแล้วก็มี สู้รบ ร่วมเป็นร่วมตาย ทุกข์ยากลำบาก กับสหายชาวนา วันนี้กลับมามีทัศนะเหมือนผู้ดีชาวกรุง เห็นชาวบ้านโง่ ถูกซื้อ เห็นมวลชนที่ลุกขึ้นสู้ เป็นพวกถูกหลอกมาตาย เฮ้ย มันเป็นไปได้ไง
มวลชนที่ตื่นตัวก็เหมือนเราสมัยเด็กๆ นั่นละครับ ไม่มีใครรู้แจ้งเห็นจริง ชีวทัศน์โลกทัศน์ชัดเจนตั้งแต่ต้น ธรรมชาติมนุษย์ต้องเห็นสรรพสิ่งด้านเดียวก่อนจะเห็นอีกด้าน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งตื่นตัวจากอิทธิพลของสื่อดาวเทียม คุณจะไปเรียกร้องให้เขาเข้าใจยุทธศาสตร์ยุทธวิธี “4 ดี 5 ร่วม 7 จังหวะ” อะไรเทือกนั้นได้ไง
สำคัญว่ามันมีทิศทางที่เขาจะพัฒนาไปไหม เรียนรู้มากขึ้นไหม คนเราพอผ่านการต่อสู้ เขาก็มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จากที่เหยียดหยามประณามว่าเสื้อแดงเป็นทาสทักษิณ ก็เห็นแล้วว่าพอทักษิณจะสละเรือ เสื้อแดงด่าขรม แน่นอนมันมีปีก “ซ้ายจัด” มุทะลุ อารมณ์ ซึ่งเขาจะเรียนรู้ต่อไป แต่กลับไปดูมวลชนของคุณบ้าง เหลือเท่าไหร่ แล้วที่เหลือนี่มีสติมีเหตุผลซักแค่ไหน
เราศึกษากันมาเท่าไหร่แล้วว่า มวลชนคือเป้าหมายของการเคลื่อนไหว การปฏิรูปประชาธิปไตยสิ่งสำคัญที่สุดคือมวลชนตื่นตัว รู้จักปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน 6 ปีที่ผ่านมา ใครนำมวลชนไปทางไหน ผมเขียนให้เจ็บใจเล่นแล้วว่า 2475 เป็นของเสื้อแดง ส่วนพวกเสื้อเหลืองก็ควรจะไปฉลองรัฐประหาร 2490 งาน 6 ตุลาปีหลังๆ ก็กลายเป็นของเสื้อแดง มวลชนเสื้อแดงมีอารมณ์ร่วมในฐานะที่เขาถูกปรามปรามเข่นฆ่ามาเช่นกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวจากกระแสประชาธิปไตย กลับไปศึกษา 6 ตุลา ยกย่องคณะราษฎร ขณะที่พวกซ้ายเสื้อเหลืองไม่กล้าพูดถึง 6 ตุลาสักแอะ
อีกข้อที่ผมเซอร์ไพรส์ “ชนกรรมาชีพทั่วโลกจงรวมกันเข้า” เคยเป็นคอมมิวนิสต์ควรรับความคิดสากลนิยม ไม่เอาชาติ ศาสนา ดินแดน สีผิว เผ่าพันธุ์ สัญลักษณ์ต่างๆ มาแบ่งแยกสร้างศัตรู แต่นี่มีอย่างที่ไหนวะ ปลุกคลั่งชาติทวงคืนปราสาทพระวิหาร อาศัยรากฐานความคิดดูหมิ่นเหยียดหยามชาติพันธุ์เพื่อนบ้านมาเป็นอาวุธทางการเมือง
เอ้า พลพรรคคอมมิวนิสต์ เสร็จภารกิจหน้าศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไปภูมิซรอลเลยสิครับ ออก Communist Manifesto ทวงคืนปราสาทพระวิหาร
ข้อสังเกตส่งท้าย อดีตสหายส่วนหนึ่งกำลังเดินแผน “สามัคคีรัฐบาลปฏิกิริยาไทยต่อต้านเวียดนาม” เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยอ้างว่าเป็นยุทธวิธี สามัคคีศัตรูฝ่ายหนึ่งโค่นล้มศัตรูอีกฝ่ายหนึ่ง แลกกับการทำลายพรรคพี่พรรคน้องของตัวเอง
ถ้าเป็นเกมแย่งอำนาจ คุณใช้วิธีแบบนี้ได้ แต่การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยต้องเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ไม่ใช่พูดกันวงใน ปากอ้างว่าไม่เอาอำมาตย์ แต่ใช้พวกเขาเป็นอาวุธโค่นทุนสามานย์ แล้วเวลาเคลื่อนไหวหรือแสดงความเห็นสาธารณะ ก็บิดเบือนต่อต้านทัศนะประชาธิปไตย
อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายไปแล้ว แต่ “จิตใจสหาย” ที่เราควรสืบทอดคือ ความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมดีงาม สังคมที่มีเสรี ไม่มีขีดคั่น ถึงแม้ไม่อาจขจัดความแตกต่างทางชนชั้น แต่ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี
จิตใจสหายควรเป็นจิตใจที่รักเพื่อนมนุษย์ เสียสละ เปิดกว้าง ไม่ใช่คับแคบ เกลียดชัง
หัวใจสีแดงไม่มีทางที่ใครแย่งยึดไปได้ นอกจากมันจืดจางลงในใจของตัวเอง