คำวินิจฉัยของศาลประหาร 'พ่อค้าความขัดแย้ง'

คมชัดลึก 14 กรกฎาคม 2555 >>>




ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยจบภาพคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ที่ถ่ายทอดสดผ่านทีวีดาวเทียม พากันไชโยโห่ร้องด้วยความยินดีที่พรรคเพื่อไทยไม่ถูกยุบ
ในขณะที่ผู้ชุมนุมเพื่อปกป้องศาลก็ไม่ได้ยินดี หรือเสียอกเสียใจที่พรรคเพื่อไทยไม่ถูกยุบ ก็น่าจะเป็นภาพที่ทำให้อนาคตของประเทศไทยเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว
ถึงแม้ว่า หลังจากนั้นราว 1 ชั่วโมง ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. และ จตุพร พรหมพันธุ์ จะออกมาแถลงเสียงเกรี้ยวกราดว่า ไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม
แต่ว่ากันตามเนื้อเรื่องแล้ว มีใครปฏิเสธไหมว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้เห็นว่า ทุกฝ่ายล้วน "ได้" จากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น
แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองที่ยืนยันว่า มีอำนาจในการรับพิจารณาคำร้องของประชาชนทั่วไปตามมาตรา 68
ฝ่ายผู้ร้องก็ "ได้" ตามเป้าหมาย ก็คือ ให้หยุดยั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงก็ใช่ว่าจะไม่ได้ เพราะได้เห็นแล้วว่า หากจะยกร่างใหม่กันจริงๆ ก็ต้องไปทำประชามติ หรือหากจะแก้เป็นรายมาตรา ก็ให้ดำเนินการไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ที่สำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่าการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 291 ถึงขณะนี้ยังไม่มีส่วนใดที่เป็นการล้มล้างการปกครอง
รัฐบาลกับเพื่อไทยเสียหายเพียงแค่ที่ผ่านมา ได้ยืนยันในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นฝ่ายตุลาการ ไม่มีสิทธิมาก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ แล้วต้องกลับไปหารือกันใหม่ว่าจะยกร่างใหม่ หรือจะแก้รายมาตราในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
อุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาลเองก็บอกว่า ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล และจะกลับไปหารือกันภายในพรรคเพื่อไทย
ส่วน ทักษิณ ชินวัตร นั้นพูดผ่าน นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายว่า "ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล" แต่ก็บอกด้วยว่า "เมื่อคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ก็ต้องปฏิบัติตาม"
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องพูดถึง เพราะพอใจกับผลที่ออกมาอยู่แล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีที่ผู้คนในบ้านเมืองจะหันหน้ามาปรองดองกันอย่างจริงจัง ใช้จังหวะที่ผู้คนไม่ว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง นักการเมืองทุกฝ่าย รวมทั้ง ทักษิณ ชินวัตร ที่แม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับและพร้อมจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัย เป็นจุดเริ่มต้นที่จะกอบกู้ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติให้กลับมา หลังจาก "พ่อค้าความขัดแย้ง" เอาไปหาประโยชน์มาอย่างยาวนาน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ทุกคนทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แม้ว่าไม่เห็นด้วย
เพราะประชาธิปไตยนั้นต้องมีหลักกฎหมายเพื่อให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้
เมื่อคำวินิจฉัยของศาสรัฐธรรมนูญผูกพันกับศาล รัฐสภา องค์กรของรัฐ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ต้องเป็นผู้นำในการแสดงออกให้สาธารณะเห็นว่า เคารพในคำวินิจฉัยของศาล เช่นเดียวกับ พรรคเพื่อไทยที่ต้องแสดงให้เห็นชัดเจน เพื่อให้คนเสื้อแดงที่เลือกพรรคเพื่อไทยมาได้เข้าใจว่า การยึดหลักกฎหมายจะนำมาซึ่งความสงบ สามัคคี
ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยจนถึงจะไปถอดถอน หรือไปจัดการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องถูกยับยั้งโดยรัฐ ไม่ว่าจะโดยการอธิบาย หรือการใช้กฎหมายเข้ายับยั้ง
ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้เลย ทั้งที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเปิดทางให้ทุกฝ่ายได้เดินไปหาเป้าหมายของตนภายใต้กฎกติกาที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อยู่แล้ว
แต่จะว่าไปอาจไม่ใช่คนเสื้อแดงที่จะไปทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เพราะที่น่ากลัวกว่าก็คือ "นักประชาธิปไตยจ๋า" ในพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ ที่บางครั้งลืมตัวไปสวมบท "พ่อค้าความขัดแย้ง" โดยไม่รู้ตัวเพียงเพราะเชื่อมั่นในจุดที่ตนเองยืนจนมองผ่านหัวคนอื่นๆ ไปเสียหมด
การรุกเร้าเอาเป็นเอาตาย เพื่อให้ "ได้" แต่เพียงฝ่ายเดียวขณะที่อีกฝ่ายไร้ที่ยืน ก็คงจะมีแต่พ่อค้าความขัดแย้งเท่านั้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด ท่ามกลางความเสื่อมทรุดของบ้านเมือง แต่หากยอมรับ "หลักกฎหมาย" กันได้อย่างนี้ ยุครุ่งเรืองของ "พ่อค้าความขัดแย้ง" ก็คงจะหมดไปเสียที