ประชาไท 30 กรกฎาคม 2555 >>>
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งอธิบายว่าเป็นกลุ่มนิติศาสตร์เพื่อราษฎร ได้ออกแถลงการณ์ในหัวข้อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้มีการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นแทน โดยมีหลักการสำคัญที่จะให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดใหม่นี้มีการยึดโยงกับอำนาจของประชาชนมากยิ่งขึ้น และเปลี่ยนหลักการจากการมุ่งพิทักษ์เฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาเป็นการพิทักษ์หลักการของระบอบรัฐธรรมนูญแทน
คงจะต้องขออธิบายว่า ข้อเสนอและหลักการของคณะนิติราษฎร์เช่นนี้ มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการเสนอในเรื่องข้อถกเถียงที่จะให้ศาลยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ซึ่งหลักการเช่นนี้เป็นเรื่องที่สมควรที่จะปรับใช้ในการปฏิรูปกระบวนการศาลยุติธรรมต่อไป แต่ปัญหาหลักเฉพาะหน้านี้คือ การใช้อำนาจเกินขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน การแก้ปัญหาตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ คือ ให้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นความจำเป็นเฉพาะหน้า
ศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นครั้งแรกตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 โดยระบุให้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอรรถคดีทั่วไป ที่มาของศาลนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ต่อมา ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ก็ได้ระบุให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาเช่นเดียวกัน เพียงแต่วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นประชาธิปไตย ส่วนวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นพวกลากตั้งเสียครึ่งสภา และไม่มีความเป็นประชาธิปไตย จึงทำให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ประกอบด้วยพวกผู้พิพากษาชราภาพ มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และยังเป็นกลุ่มที่เคยทำงานรับใช้คณะรัฐประหารมาแล้ว จึงมีปัญหาความชอบธรรมในการปฏิบัติงานมาแต่แรก
ต่อมา ในการปฏิบัติงานยังปรากฏว่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ใช้อำนาจมากเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญได้ให้ไว้อยู่เสมอ การวินิจฉัยอรรถคดีทั้งหลายก็ตั้งอยู่บนฐานของอคติ และได้ใช้อำนาจเหนืออำนาจบริหารมาแล้ว โดยใช้คำวินิจฉัยของศาลล้มรัฐบาลของประเทศไทย ปลดนายกรัฐมนตรี ยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิ์หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหลายที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ โดยที่คนเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิด และยังใช้อำนาจลงไปในรายละเอียดถึงขนาดเข้าแทรกแซงในเรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากมาแล้ว
และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญคณะปัจจุบัน ยังทำเรื่องร้ายแรงที่สุดอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือการดำเนินการละเมิดอำนาจนิติบัญญัติ ด้วยการตีความข้อกฏหมายจนเกินขอบเขต รับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 68 และใช้คำสั่งให้รัฐสภาหยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านวาระสองมาแล้ว และผลของการตีความก็ให้ประโยชน์ตามข้อเสนอของฝ่ายพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เกิดข้อกังขาในการเอียงข้าง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนประธานศาลรัฐธรรมนูญเองก็ต้องออกมาแถลงชนิดเอาสีข้างเข้าถู ประเภทที่ว่า ศาลตีความรัฐธรรมนูญตามฉบับแปลภาษาอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้น แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพยายามแก้เกี้ยว โดยการวินิจฉัยในวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ไม่รับคำร้อง ก็ไม่ได้ช่วยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมในสายตาของประชาชนมากขึ้นแต่อย่างใด
อันที่จริงการดำเนินการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองถือว่ามีปัญหา และอาจจะถูกตีความให้โมฆะได้ตลอดมา เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 300 วรรคที่ห้า ได้ระบุไว้ว่า “ในระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”
จากข้อความนี้ หมายถึงว่า ต้องมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาความและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายในปี พ.ศ. 2551 แต่ปรากฏว่า มาถึงขณะนี้ ปี พ.ศ. 2555 ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติในลักษณะนี้ ซึ่งทำให้ตีความได้ว่า การพิจารณาความและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา เป็นโมฆะทั้งหมด ใช่หรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นมิติไหน เมื่อมาถึงขณะนี้ รัฐสภาไทยก็สามารถที่จะเดินหน้าผ่างเป็นวาระสาม และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามเป้าหมาย โดยไม่ต้องสนใจคำวินิจฉัยนั้นเลย ยิ่งข้อแนะนำของศาลธรรมนูญให้มีการลงประชามติก่อนแก้ไข ยิ่งเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะเป็นข้อเสนอที่ไม่ผูกมัด และไม่ได้วางอยู่บนหลักเหตุผลอันสมควร
การดำเนินการอันน่าตลกขบขันของศาลรัฐธรรมนูญและกลุ่มฝ่ายขวาทั้งหลาย รวมทั้งฝ่ายพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือ การแสดงถึงเจตจำนงที่จะปกป้องเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยไม่ให้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยแก้ไข เช่น ล่าสุด รายการ ”ผ่าประเด็นร้อน” ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ก็อ้างว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งประเภทรายมาตรา หรือร่างใหม่ทั้งฉบับไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรไปแก้ปัญหาปากท้องเสียก่อน เพราะแก้รัฐธรรมนูญไปชาวบ้านก็ไม่ได้รับประโยชน์ มีแต่ทำให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง
ข้ออ้างเช่นนี้ทำราวกับว่าในปีที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ทำงานเรื่องอื่น ทำแต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว ความจริงเป็นไปในทางตรงข้าม รัฐบาลชุดนี้ทำงานบริหารเรื่องอื่นมากเกินไป ดำเนินการเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยช้าเกินไป และมีลักษณะลังเลมากเกินไปตลอดมา ถึงได้ผ่อนปรนให้ศาลรัฐธรรมนูญได้แผลงฤทธิ์มากอย่างนี้
การพิทักษ์รัฐธรรมนูญเฉพาะฉบับ พ.ศ. 2550 ดำเนินไปโดยกลบเกลื่อนความจริงที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับอัปลักษณ์ มีที่มาอันไม่ชอบธรรม เพราะมาจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 และเป็นมรดกของรัฐธรรมนูญฉบับชั่ว พ.ศ. 2549 ความพยายามเหนี่ยวรั้งการแก้ไขได้เห็นมาแล้วตั้งแต่บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในรัฐสภา ที่เตะถ่วงการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่สอง และการกำหนดให้ไม่มีการแก้ไขในหมวดที่หนึ่งและหมวดที่สองก็เป็นการไม่ถูกต้อง กระบวนการทั้งหมดนี้ ก็ความพยายามในการรักษาอำนาจของกลุ่มอิทธิพลตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ องคมนตรี และศาล การดำเนินการปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 เช่นนี้ กลับสวนทางกับการปกป้องหลักการของระบอบรัฐธรรมนูญ นั่นคือ การมีรัฐธรรมนูญที่รักษาอำนาจอธิปไตยของประชาชน และปกป้องสิทธิมนุษยชน
จึงเป็นการถูกต้อง ที่พรรคเพื่อไทยจะออกคำแถลงปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และยืนยันในนโยบายที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยยึดมั่นในนิติรัฐ และ นิติธรรม และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้ตัดสินใจ ผลักดันกระบวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรจะเดินหน้าต่อไปในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่น่าจะเสียเวลามากนัก ถ้าจะเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะหมวดศาล ให้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญเสียเป็นขั้นต้น