เสร็จสิ้นการไต่สวนคดี “แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน หรือไม่” ซึ่งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ซักถามกลางศาลรัฐธรรมนูญกันเต็มที่ 2 วันเต็ม
ศุกร์ 13 ก.ค. เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาว่าแก้ได้หรือไม่ และถ้าแก้ไม่ได้จะมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคด้วยหรือไม่ โดยกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายยื่นคำร้องปิดคดีในวันที่ 11 ก.ค. เป็นครั้งสุดท้าย มีการวิเคราะห์ผลคดีที่จะออกได้ 2-3 ทาง
เริ่มแรกศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นในการพิจารณา 4 ข้อ
1. ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรคสองของรัฐธรรมนูญหรือไม่
2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สามารถทำได้หรือไม่
3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
4. หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสามและสี่หรือไม่
ประตูที่จะออกได้
1. ตัดสินยกคำร้อง
ข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์สว.และผู้ร้องที่เหลือ ที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล มีผลนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ นั้น ไม่มีมูล
หากออกรูปนี้ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลก็เดินหน้าฉลุย ปลดล็อกอุปสรรคทั้งหมด และหลังมีคำวินิจฉัย ประธานรัฐสภาก็สามารถนัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเห็นชอบวาระ 3 จากนั้นนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปสู่ขั้นตอนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะไม่ยกคำร้อง
2. ถ้าคำร้องมีมูล ก็ต้องพิจารณาต่อ 2 เรื่อง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีผลต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญปัจจุบันหรือไม่ ระหว่างการไต่สวนฝ่ายพรรคเพื่อไทยยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำกันอยู่ ได้นำไปสู่การล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจริง
โดยเฉพาะการชี้แจงของ ชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาที่ออกมายอมรับตรงๆ
และระหว่างการเบิกความ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึงขั้นขอให้ฝ่ายผู้ร้องไม่ต้องซักมากว่า เป็นการแก้ทั้งฉบับหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า อีกฝ่ายรับแล้ว เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
จากการไต่สวนทั้งสองฝ่ายเห็นชัดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายผู้ร้องยื่น
ถ้าออกรูปนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็เป็นโมฆะ ส่วนจะลากไปถึงการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์และผู้ร้องพยายามโยงให้เห็นว่า การให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนให้อำนาจไปเขียนเช็คเปล่า ซึ่งอาจกระทบพระราชอำนาจ อีกทั้งที่ผ่านมาฝ่ายเสื้อแดงสุดโต่งได้ขับเคลื่อนความคิดให้ลดอำนาจสถาบันลง จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง
แม้ว่าฝ่ายเพื่อไทยชี้แจงว่า ได้ล็อกไม่ให้ ส.ส.ร. เขียนรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ หรือแก้ไขเนื้อหาในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ กระนั้นฝ่ายผู้ร้องแย้งว่า พระราชอำนาจไม่ได้อยู่ในหมวด 2 เท่านั้น แต่กระจายอยู่หลายหมวดในรัฐธรรมนูญ
กระทั่ง วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ถึงกับซักถาม สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในประเด็นนี้ว่า พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีอยู่ในหมวด 2 แต่มีอยู่ทั่ว เช่น พระราชอำนาจในการที่จะทรงยับยั้งร่างกฎหมาย พระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคล ซึ่ง สมศักดิ์ ยอมรับว่าจริง แต่อยู่ที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางมาช่วยพิจารณาว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากบริบททางการเมืองขณะนี้ หากผลออกมาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญวิ่งไปถึงเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญจริง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการ ก็อาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งไว้พิจารณาอยู่แล้ว แต่จะเห็นว่าตลอดสองวันของการไต่สวนไม่มีการซักเรื่องการยุบพรรคเท่าไรนัก
นี่จึงเป็นแนวโน้มที่จะออกประตูนี้ได้มากที่สุด ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่จะลงเอยแค่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่เป็นปัญหาไม่มีความผิดถึงขั้นล้มล้างการปกครองฯ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องมีการสั่งยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางการเมืองจะเป็นสึนามิลูกใหญ่ที่จะเกิดการตอบโต้ จนประเทศกลับมาขัดแย้งรุนแรงอีก เสี่ยงต่อความสูญเสียได้ทุกเมื่อ
ขณะเดียวกัน ฝ่ายเพื่อไทยขณะนี้ทำใจไว้แล้ว แต่ได้ปลุกระดมมวลชนขู่หากมีการยุบพรรคครั้งที่สามขึ้น ซ้ำรอยช่วงที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ เกิด สส.งูเห่าเปลี่ยนขั้วไปสนับสนุนฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล จนพรรคเพื่อไทยหลุดจากรัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้าน จากผลแค่เพียงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าบ้านเมืองจะกลับมาวุ่นวายและมีเหตุผลชอบธรรมที่คนเสื้อแดงจะออกมาคัดค้านครั้งใหญ่
สิ่งที่เกิดขึ้น ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองรับรู้ว่าการกินเรียบด้านเดียวจากการรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญอย่างที่กำลังทำอยู่ เพื่อลดอำนาจองค์กรอิสระและศาล นิรโทษกรรมทุกคดี ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังต้องถูกต่อต้าน ตรวจสอบ ถ่วงดุลอย่างหนักอย่างที่เผชิญอยู่
พรรคเพื่อไทยจึงสั่งถอย ยอมในศึกแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ก่อน เพื่อรักษารัฐระยะยาวไว้ และคิดถึงทางออกในอนาคต หากมีคำวินิจฉัยออกมาว่า แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. ไม่ได้ ก็จะย้อนเกล็ด โดยเสนอแก้รัฐธรรมนูญทางตรงให้รัฐสภาเป็นผู้แก้แทน
แม้ว่าวิธีนี้ถูกโจมตีได้ง่ายว่านักการเมืองเป็นผู้แก้จะไม่มีความชอบธรรม เพราะ “แก้เองชงเอง-กินเอง” งาช้างย่อมไม่ออกจากปากสุนัข แต่ก็อ้างได้ว่า เมื่อฝ่ายตรงข้ามตีกรอบให้ดิ้นไม่ได้ จะตั้ง ส.ส.ร.ก็ผิด ทั้งที่เคยทำมาในอดีต สมัยรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ก็ต้องใช้วิธีดิบๆ เสียงข้างมากในสภาตะลุยแก้ให้รู้แล้วรู้รอด
ศุกร์ 13 ได้รู้... การเมืองและประเทศไทยจะเป็นอย่างไร