Facebook วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ 28 กรกฎาคม 2555 >>>
ผมได้อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีมาตรา 68 ครบทั้งแปดท่าน ซึ่งอ่านได้ที่
http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=532&Itemid=175&lang=th เมื่ออ่านเสร็จแล้ว ผมพบว่า ศาลได้ทำสิ่งที่ "พิสดารและวิปลาส" มากครับ
หากยังจำกันได้ คดีนี้ ศาลได้กำหนดประเด็นพิจารณาที่สองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกทั้งฉบับได้หรือไม่
ซึ่งสุดท้ายใน "คำวินิจฉัยกลาง ฉบับศุกร์ 13" ศาลก็อธิบายไม่ชัดเจน โดยกล่าวทำนองว่าการแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกทั้งฉบับและยกร่างใหม่ทั้งฉบับสามารถทำได้ แต่ "ควร" ให้ประชาชนได้ลงประชามติก่อน
แต่หากพิจารณา "คำวินิจฉัยส่วนตน" ทั้งแปดฉบับที่เผยแพร่ตามมา จะพบว่า แท้จริงแล้ว ศาลมิได้มีมติไปในทางที่มีการเข้าใจกันแต่อย่างใด !!!
หากอ่านคำวินิจฉัยส่วนตนทั้งแปดฉบับโดยละเอียด จะพบว่า ตุลาการทั้งแปด มีความเห็นที่แตกออกเป็น "สี่ฝ่าย"
ฝ่ายแรก ความเห็น 3 เสียง (นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายบุญส่ง กุลบุปผา และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี)
เห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยประเด็นที่สอง แม้ตัวตุลาการเองอาจมีความเห็นเป็นข้อสังเกตก็ตาม แต่สุดท้ายก็ไม่รับวินิจฉัย
ฝ่ายที่สอง ความเห็น 1 เสียง (นายชัช ชลวร) เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และสามารถแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับได้
ฝ่ายที่สาม ความเห็น 2 เสียง (นายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์) เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับได้
ฝ่ายที่สี่ ความเห็น 2 เสียง (นายเฉลิมพล เอกอุรุ และนายจรูญ อินทจาร) เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สามารถทำได้ แต่ "ต้อง" ทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน (ตุลาการสองท่านนี้ไม่ได้ใช้คำว่า "ควร")
ดังนั้น จะเห็นถึงความพิสดารและวิปลาสที่ว่า แท้จริงแล้ว ตุลาการทั้งแปดท่านเอง ก็ "ไม่ได้มีมติ" ที่สอดคล้องกับเนื้อความในคำวินิจฉัยกลาง ฉบับวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. แต่อย่างใด !!!
กล่าวคือ "ไม่มีตุลาการแม้แต่คนเดียว" ที่เห็นว่า รัฐสภา "ควร" ทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน มีแต่ตุลาการเพียง 2 ท่าน จาก 8 ท่าน ที่เห็นว่า การแก้ไขทั้งฉบับนั้นทำได้ แต่ "ต้อง" ทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน
อีก 2 ท่าน เห็นว่า การแก้ไขทั้งฉบับจะทำไม่ได้เลย อีก 1 ท่าน เห็นว่า การแก้ไขทั้งฉบับย่อมทำได้ ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ อีก 3 ท่าน เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นนี้ (ซึ่งต้องถือว่า รัฐสภามีอำนาจพิจารณาได้ว่าจะให้มีการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่)
นี่คือต้นตอของความพร่ามัวของคำวินิจฉัยกลางในประเด็นที่ 2 ที่ทำให้สังคมสับสนมาก่อนหน้านี้
หากศาลทำคำวินิจฉัยส่วนตน แต่ไปเปลี่ยนใจตอนลงมติหลังฟังเพื่อนตุลาการ เลยผสมปนความเห็นจนกลายมาเป็นคำวินิจฉัยกลางนั้น ย่อมไม่อาจทำได้
ยิ่งไปกว่านั้น ในคำวินิจฉัยกลาง ศาลก็ไม่ได้เปิดเผยหรืออธิบายเท็จจริงให้สังคมทราบว่า มีตุลาการที่ออกเสียงตรงกันมากที่สุด 3 เสียง ที่เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นนี้ !
ผมขอถามว่า ศาลทำแบบนี้ เท่ากับศาลได้ทำ "คำวินิจฉัยกลางฉบับลวงประชาชน" และถือเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจโดยไม่สุจริต หรือไม่ ???