หลังจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าเกียร์ถอย ถอยแล้วถอยอีก เริ่มมีเสียงทักถามว่า การล่าถอยเหล่านี้ จะไปยุติ ณ จุดใด และพลังกดดันให้ต้องล่าถอย มาจาก "ฝ่ายค้าน" ในสภาเท่านั้่นหรือ !?
ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ปฏิบัติการถอยของรัฐบาล นายกฯปู มี 3 เรื่องใหญ่ๆ ตั้งแต่กรณี
1. ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง
2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และ
3. ล่าสุด ได้แก่ การอนุมัติให้องค์การนาซาของสหรัฐ เข้าใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อสำรวจบรรยากาศหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง โดนแขวนไว้ในวาระการประชุม หลังจากพรรคประชาธิปัตย์กระหน่ำค้าน ถึงขนาดเกิดจลาจลย่อยๆ กลางที่ประชุมสภา
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เดินหน้ามาไกล จนกำหนดวันลงมติวาระ 3 ได้แล้ว แต่แล้วก็เกิดกรณีศาลรัฐธรรมนูญ เอื้อมมือข้ามอัยการสูงสุด มารับเรื่องจากผู้ร้องกลายเป็นคดีในศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกล่าวหาร้ายแรง บทลงโทษรุนแรง ระดับยุบพรรค ตัดสิทธิกรรมการบริหาร
เฉพาะ 2 กรณีดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์ประกาศเคลื่อนไหวนอกสภาเดินสายตั้งเวทีชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เป็นการเช็กเรตติ้งของพรรค และปฏิกิริยาของประชาชนต่อพรรครัฐบาลไปพร้อมๆ กัน
ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็เกทับ ด้วยการตั้งเวที ทับเวทีเดิมของพรรคฝ่ายค้าน โชว์ฐานพลังกันแบบจุดต่อจุด และส่งสัญญาณไปยังกลุ่มอำนาจฝ่ายตรงข้ามไปพร้อมๆ กัน
และสดๆ ร้อนๆ ได้แก่ กรณีนาซาขอเข้าใช้สนามบินอู่ตะเภา การโดดเข้าขวางการใช้สนามบินอู่ตะเภาของพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นำเรื่องเข้าขออนุมัติจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ
ลงเอยด้วยการที่รัฐบาลถอยอีก ส่งเรื่องเข้ารัฐสภา
คณะกรรมการกฤษฎีกาทักท้วงไว้ว่า ถ้าบ้าจี้ขออนุมัติรัฐสภาตามมาตรา 190 จะกลายเป็นแนวปฏิบัติใหม่ ก็เลยใช้วิธีนำเข้าปรึกษารัฐสภา ตามมาตรา 179 แต่ก็ส่งผลคล้ายๆ กัน คือทำให้การอนุมัติเข้าใช้สนามบินล่าช้า จนเกินกรอบเวลาที่นาซาขอเข้าบินสำรวจในเดือน ส.ค.-ก.ย.
สุดท้าย นาซาแถลงยกเลิกโครงการในปีนี้ ทิ้งท้ายด้วยภาษาการทูตว่ายังยืนยันในสัมพันธไมตรีอันดี แล้วค่อยไปเริ่มต้นกันใหม่
ในทางการเมือง เห็นอาการชี้แจงพัลวันแล้ว ฝ่ายค้านรับไปเต็มๆ ด้วยเสียงวิจารณ์ว่า นำเอาเรื่องของการเมืองมาตัดสินโครงการวิจัย โดยไม่ยอมพิจารณาถึง "ประโยชน์" ที่จะเกิดขึ้น
จนฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่แน่ใจว่าขืนเดินหน้าต่อไปอีกจะกลายเป็นคดี นำไปสู่โทษทัณฑ์ทางการเมืองได้อีกหรือไม่ สุดท้ายก็ล่มไปด้วยกันหมด
คำกล่าวที่เกรียวกราวของ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาฯ บอกถึงสภาพการณ์ไม่น่าไว้วางใจที่รัฐบาลเผชิญอยู่
นายสุชาติระบุถึง "มรสุม" ที่่รุมล้อมรัฐบาล และจะต้องคิดถึงการดำเนินการทั้งระบบ เพื่อให้รัฐบาลอยู่ต่อไปได้
สัญญาณที่นายสุชาติหยิบยกมาพูดถึง ได้แก่ กรณีของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ รวมถึงการเสนอถอนประกันนายจตุพร, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาสีที่รุนแรงขึ้น ทั้งหมดนี้ อาจส่งผลให้รัฐบาลอยู่พ้นสิ้นปีนี้ได้ลำบาก
แล้วอะไรคือการ "ดำเนินการทั้งระบบ" ที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อไปได้ สภาพขณะนี้ จึงคล้ายกับเป็นการ "ประกาศสงคราม" ยืนยันว่า "ไม่เอา" พรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งก็ตาม
หนึ่งในปัจจัยที่นำมาสู่การประกาศสงคราม ได้แก่ การเดินเครื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อันเป็นการทุบ "กล่องดวงใจ" กลุ่มอำนาจเดิมกันอย่างไม่เกรงใจ
ต้องยอมรับว่า ร่มเงาของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น กว้างใหญ่ไพศาล มีเครือข่ายที่ได้อานิสงส์จำนวนมาก หากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้ามาจากการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา ก็เท่ากับโค่นที่มาแห่งร่มเงานี้ทิ้ง หลายกลุ่มอำนาจอาจถึงแก่การณ์ "จบข่าว"
สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นไฟต์บังคับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกเช่นกัน
เพราะคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อเดือน ส.ค. 2553 กำหนดไว้ชัดว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มี ส.ส.ร. ที่เป็นอิสระ มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากแถลงไว้แล้วไม่ทำ ก็จะเกิดผลทางกฎหมายตามมาอีก
ชะตากรรมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะมีการตัดสินคดีในต้นเดือน ก.ค. นี้ จะช่วยตัดสินจังหวะก้าวการเมืองของพรรคเพื่อไืทยต่อไป
ฝ่ายหนึ่งจะปรับโครงสร้างการเมืองให้เข้าระบบสากล ซึ่งอาจจะหมายถึง "การดำเนินการทั้งระบบ" อย่างที่นายสุชาติกล่าวไว้
ขณะที่อีกฝ่ายยึดใน "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ครึ่งใบบ้าง ค่อนใบบ้าง ให้กลุ่มอำนาจแฝง ได้ "แชร์" บทบาทกำหนดทิศทางบ้านเมือง โดยไม่ต้องเหนื่อยไปลงเลือกตั้ง
เป็นการเผชิญหน้าของผลประโยชน์ที่แตกต่าง ก็ไม่แปลกที่ฝ่ายผู้ดูแลความปลอดภัยอย่างตำรวจซึ่งสรุปสถานการณ์ในการประชุมสัมมนา "บทเรียนปฏิบัติการควบคุมฝูงชน ปี 2551-2553 และแนวโน้มการชุมนุมในปี 2555" ไว้ว่า การชุมนุมทางการเมืองในปี 2555
หากจะมีขึ้น จะเร็ว แรง แข็งกร้าว กว่าอดีตที่ผ่านมา ต่อให้ทุ่มตำรวจเป็นแสน ทหารสามทัพก็แก้ไม่ได้
ถ้าการเมืองไม่ "วิน-วิน โซลูชั่น"
นั่นคือความเห็นเชิงพยากรณ์จากฝ่ายตำรวจ ซึ่งสอดรับกับทิศทางของปัญหาการเมืองในขณะนี้