"คมสัน" ชี้หาก "สุเทพ" โดน ส.ว. ถอดถอน จะหมดสิทธิเล่นการเมืองตลอดชีวิต แต่ถ้าไม่โดน ก็อาจพ้นสมาชิกภาพตามมาตรา 106 (6)ได้ โดยกฎหมายเปิดโอกาสให้ ส.ส.-ส.ว. ยื่นศาล รธน. วินิจฉัย ซ้ำร้ายหากศาลตัดสินว่าผิด ยังสามารถโยงกลับเข้าสู่การถอดถอนโดยวุฒิสภาได้อีกครั้งด้วย
วันที่ 27 ก.ค. 55 อ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
นายคมสัน กล่าวถึงกรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดน ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (1) จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลที่ผ่านมา แต่งตั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ 19 คน เข้าช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ ว่า มาตรา 266 นั้นใช้คู่กับมาตรา 268 ในกรณีที่เป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรี
ซึ่งผลการชี้มูลของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 272 วรรค 4 ทำให้นายสุเทพต้องหยุดทำหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่วันที่มีการชี้มูลแล้ว เปิดสภา 1 ส.ค. นายสุเทพ จะทำหน้าที่ ส.ส. ไม่ได้
ทีนี้เมื่อกระบวนการถอดถอนเข้าสู่วุฒิสภา ก็ต้องมีการลงคะแนนลับ 3 ใน 5 คือประมาณ 90 คน ถ้าโดนถอดถอนก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แต่ตรงนั้นไม่ใช่สาระสำคัญเท่าไหร่ สาระสำคัญคือการโดนตัดสิทธิ 5 ปี มันส่งผลให้นายสุเทพขาดคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามมาตรา 102 วรรค 14 ที่ระบุลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งว่า "เคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง" หมายความว่าไม่ใช่แค่ 5 ปี แต่เป็นตลอดชีวิต แล้วตนไปเช็คข้อกฎหมายเพิ่มเติม ปรากฎว่ามาตรา 102 วรรค 14 เป็นลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีด้วย จึงเป็นไม่ได้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ถือว่าจบทางการเมืองโดยเด็ดขาดสิ้นเชิงเลย
นายคมสัน กล่าวต่อว่า แต่ถ้า ส.ว. ลงมติถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 ก็ยังมีลักษณะต้องห้ามให้พ้นสมาชิกภาพของ ส.ส. อยู่ในมาตรา 106 (6) คือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 265 หรือ 266 แล้วกรณี 268 มันโยงกลับไปที่ฐานของมาตรา 266 ก็หมายความว่ามีปัญหากับสมาชิกภาพของนายสุเทพแน่นอน แม้พ้นจากการถอดถอนก็ตาม ส.ส. หรือ ส.ว. 1 ใน 10 ของสมาชิกของแต่ละสภา ก็ยังสามารถยื่นเรื่องให้ประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าขาดสมาชิกภาพหรือไม่ ตามมาตรา 91 ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำตามมาตรา 266 ก็จะเข้าลักษณะ 106 (6) ต้องพ้นจาก ส.ส. อยู่ดี แต่กรณีนี้ไม่ทำให้หมดสิทธิเล่นการเมืองในอนาคต แค่โดนในสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น แต่ถ้าโดนถอดถอนจาก ส.ว. จะโดนตลอดชีวิต
ซึ่งนายสุเทพ คงต้องดิ้นรนต่อสู้แน่ แล้วเรื่องนี้มีข้อต่อสู้ค่อนข้างเยอะ อย่างกรณีตอนน้ำท่วม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และ 6 ส.ส.เพื่อไทย เข้าไปบริหารจัดการถุงยังชีพ ศาลก็ยกคำร้อง บอกว่าไม่เข้ามาตรา 266 หรืออย่างกรณียกคำร้อง นายอภิสิทธิ์ และ น.พ.วรงค์ แจกถุงยังชีพของกระทรวงพลังงาน ที่ จ.พิษณุโลก ก็เช่นกัน กรณีของนายสุเทพ คราวนี้ก็ไม่ต่างกัน อันนั้นยกฟ้องอันนี้ก็น่าจะยกด้วย นอกจากมีหลักฐานเพิ่มเติมที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าแทรกแซงจริงๆ ฉะนั้นมาตรการถอดถอนตามมาตรา 274 ยังพอต่อสู้ได้โดยยกกรณีดังกล่าวขึ้นมา
นายคมสัน กล่าวอีกว่า แม้การถอดถอนจากส.ว. ให้ได้เสียง 3 ใน 5 เกิดขึ้นได้ยากก็จริง แต่หากเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลชี้ว่าขัดมาตรา 266 มาตรการถอดถอนก็อาจเข้าไปอีกรอบได้ เพราะศาลชี้แล้ว มีหลักฐานชัดเจนแล้ว การถอดถอนอาจวนรอบสองได้ ซึ่งรอบสองนี้น่ากลัวกว่า เพราะศาลชี้แล้ว ส.ว.ต้องตอบคำถามให้ได้หากจะไม่ถอดถอน
อีกทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ อาจเห็นว่าเป็นช่องทางที่มีประโยชน์ จึงดันหลายๆเรื่องให้เกิดขึ้นก็ได้
ด้านนายสุริยะใส กล่าวว่า ถ้าฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณจะออกแรงจริง ก็อาจจะใช้โอกาสการเปลี่ยนตัวประธานวุฒิสภามาจัดการเรื่องนี้ก็ได้ แต่ใช้เสียงถึง 90 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็อย่าประมาท สำหรับตนนั้นมองว่าเรื่องนี้คือความงดงามของประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล เป็นความเข้มงวดของรัฐธรรมนูญ 50