ประชาไท 31 กรกฎาคม 2555 >>>
การถามหาจริยธรรมของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จริยธรรมที่คอยกำกับพฤติกรรมของตน และประเด็นนี้ก็ท้าทายสำนึกทางการเมืองของประชาชนด้วย
ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นักการเมืองรุ่นใหม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองที่ถูกสังคมกำลังกังขา ถามหาถึงจริยธรรม (Ethics) มากที่สุด เพราะในห้วงหลายปีที่ผ่านมาใช้วาทศิลป์เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนได้เป็นอย่างดี และเป็นอาวุธทิ่มแทงฝ่ายตรงข้ามได้อย่างโดดเด่น ประกอบกับการมีสถานะเป็นนักเรียนอังกฤษหัวก้าวหน้า ทำให้นายอภิสิทธิ์ กลายเป็นนักการเมืองดาวรุ่ง และเป็นความหวังของสังคมตามมา การเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดเสมือนเป็นโรงเรียนการเมืองให้กับนักการเมืองมาหลายๆ รุ่น จึงมิใช่เรื่องยากเย็นมากนัก
สังคมมองกันว่านายอภิสิทธิ์ เป็นคนไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม มักจะใช้วาทศิลป์ตอบโต้กับปฏิปักษ์อย่างสม่ำเสมอหนักบ้างเบาบ้างตามจังหวะและเวลา บางครั้งถึงขนาดอบรมสั่งสอนนักการเมืองผู้อาวุโสกลางสภาก็ยังเคยทำมาแล้วโดยไม่เลือกหน้า จึงทำให้นายอภิสิทธิ์ มีศัตรูมากพอๆ กับมิตร นักการเมืองหลายคนอาจจะชื่นชอบและเป็นพวกเดียวกันได้ แต่บางคนบางฝ่ายไม่นิยมชมชอบ ชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ ถึงกระนั้นนายอภิสิทธิ์ก็โชคดี เมื่อพรรคพลังประชาชนที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นถูกยุบด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ นักการเมืองที่เคยสังกัดพรรคพลังประชาชนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายอภิสิทธิ์ แปรพักตร์หันไปสนับสนุน ดวงชะตาพลิกผันจนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกือบสามปี ท่ามกลางความคลางแคลงของการได้มาในตำแหน่งดังกล่าว เพราะมีการเกื้อหนุนจากบุคคลที่มองไม่เห็น (Invisible man) จนเรียกกันติดปากว่านายกเทพประทาน การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นที่มาของคดีความการสั่งฆ่าประชาชน 91 ศพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนมูลเหตุแห่งการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นี่เป็นกรณีหนึ่งที่สังคมกำลังถามหาความรับผิดชอบและจริยธรรมจากนายอภิสิทธิ์
การดำเนินบทบาทของนายอภิสิทธิ์ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวหรือทางการเมือง เริ่มถูกสังคมเพ่งมองและตั้งคำถามในความถูกต้องชอบธรรมและความเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อนายกมล บันไดเพชรได้ขุดคุ้ย พฤติกรรมส่วนตัวที่ไปผูกโยงกับสาธารณะและประโยชน์ของส่วนรวม มีประเด็นให้โจษขานถึงการใช้อำนาจอิทธิพลของชนชั้น เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการที่ชายไทยต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกฎหมายกันทุกๆ คน แต่นายอภิสิทธิ์ ก็ได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว้าด้วยการเกณฑ์ทหารเช่นชายไทยคนอื่นๆ จึงมีทั้งคำถามและข้อครหาคละกันไปว่า นายอภิสิทธิ์ได้ใช้สถานะความเป็นชนชั้นสูงหลบหลีกและหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในห้วงอดีตที่ผ่านมา นี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สังคมกำลังถามหาความรับผิดชอบและจริยธรรมจากนายอภิสิทธิ์ เช่นกัน
พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและคณะออกมาแถลงข่าวยืนยันข้อเท็จจริงว่า “อภิสิทธิ์ ไม่ได้เข้ารับเกณฑ์ทหารตามกฎหมายเยี่ยงชายไทยจริง” และมีการใช้เอกสารไม่ถูกต้องในการสมัครเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อย โดยมีการสั่งลงโทษข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปแล้ว...สอคล้องกับคำยืนยันของผู้บัญชาการทหารบก ที่บอกว่า เรื่องมันจบไปตั้งแต่ปี 2542 แล้ว แต่ที่จบนั้น ก็คือการลงโทษข้าราชการที่ได้กระทำความผิดในการปลอมแปลงเอกสารราชการ แต่ผู้ที่ใช้เอกสารราชการปลอมเราจะดำเนินการกันอย่างไรยังไม่มีคำตอบจากกระทรวงกลาโหม และกองทัพบก
แม้ว่านายอภิสิทธิ์ และนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ จะมีความเชี่ยวชาญและเจนจัดในแง่มุมกฎหมาย จึงทำให้มองเห็นลู่ทางการต่อสู้คดีได้อย่างชัดเจน ดังเช่นหลายคดีที่ผ่านมามักจะเป็นคุณกับฝ่ายตนเสมอ อาจพลิกสถานการณ์จากความเสียเปรียบเป็นได้เปรียบโดยไม่ยากนัก แต่ในครั้งนี้สังคมเริ่มมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์และคณะ อาจใช้อิทธิพลและสถานะความเป็นชนชั้นสูงเข้าไปแทรกแซงระบบการเมืองและกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ทำให้เรื่องการใช้เอกสารราชการปลอมเงียบหายไปอีกครั้งหนึ่ง
จึงมีประเด็นคำถามของสังคมที่ว่า จำเป็นหรือไม่ที่นักการเมืองอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องคำนึงถึงจริยธรรมที่คอยกำกับพฤติกรรมของตน ประเด็นนี้นับว่าท้าทายสำนึกทางการเมืองของประชาชน และท้าทายสามัญสำนึกทางจริยธรรมของนายอภิสิทธิ์เอง อย่าลืมว่านายอภิสิทธิ์ เคยกล่าวหลายครั้งทำนองว่า “ความรับผิดชอบทางจริยธรรมต้องอยู่เหนือความรับผิดชอบทางกฎหมาย” นั่นหมายความว่าในความรับผิดชอบของนักการเมืองนั้น จะมีการกระทำผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ไม่สำคัญหากมีการกระทำผิดจริยธรรมแล้วต้องมีสำนึกรับผิดชอบ
ที่ผ่านมาเราจะพบเห็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีบางคนถูกจำคุก บางคนมีข้อกล่าวหาเจตนาฆ่า สมาชิวุฒิสภาบางคนล่วงละเมิดทางเพศ นักการเมืองบางคนถูกจำคุก บางคนทุจริต บางคนใช้อำนาจโดยมิชอบแทรกแซงระบบราชการ ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ล้วนทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามว่าสังคมควรจะจริงจังกับจริยธรรมในการควบคุมพฤติกรรมบุคคลเหล่านี้มากน้อยเพียงใด
นิคโคโล แมคเคียวเวลลี ( Niccolo Machiavelli ) กล่าวไว้ในหนังสือ The Prince (เจ้าผู้ครองนคร) บางตอนว่า “.....เพราะฉะนั้น เจ้าผู้ครองนครจึงไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติ เลอเลิศอย่างที่ข้าพเจ้าได้พรรณนาไว้ข้างต้น แต่เขาควรจะแสดงออกมาว่าเขามีคุณสมบัติเหล่านั้น ข้าพเจ้าอยากจะพูดให้ถึงขนาดว่า ถ้าเจ้าผู้ครองนครมีคุณสมบัติเหล้านี้และประพฤติดังกล่าวจริงๆ กลับจะนำตนไปสู่หายนะ แต่ถ้าหากเพียงแสดงว่าตนมีคุณสมบัติเหล่านี้จะกลับเป็นประโยชน์ต่อตน” นั่นหมายความว่า Machiavelli ได้เสนอความเห็นว่าผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องมีจริยธรรม แต่ต้องแสดงว่าตนเป็นผู้มีจริยธรรมก็เพียงพอแล้ว เพราะประชาชนจะมองเห็นผู้ปกครองได้แต่ภายนอก มีคนจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่รู้พฤติกรรมว่าผู้ปกครองเป็นเช่นไร การประพฤติตนภายในกรอบจริยธรรมกลับเป็นผลร้ายมากกว่า
Machiavelli ยังกล่าวอีกว่า ... “ผู้ปกครองไม่ควรหลีกเลี่ยงจากการกระทำความดีหากเป็นไปได้ แต่เขาจะต้องรู้วิธีทำความชั่วร้ายหากจำเป็น”
เมื่อ “การเมือง” ได้รับมอบหมายจากประชาชน ให้มีอำนาจในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ มีอำนาจสั่งการ (Authorities) ตามกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่กฎหมายเป็นเพียงเจตจำนงของรัฐาธิปัตย์ ซึ่งโดยตัวของมันเองมิอาจสร้างสันติสุขขึ้นมาได้ เพราะเมื่อใดที่ถูกบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม ความเดือดร้อนทุกข์เข็ญย่อมเกิดขึ้น ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ และที่สำคัญอำนาจรัฐมิได้อยู่เหนือข้อกำหนดในทางศีลธรรมหรือจริยธรรมใดๆทั้งสิ้น อำนาจตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงมิใช่เครื่องยืนยันว่าจะสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้เกิดขึ้นกับประชาชน ตราบใดที่อำนาจรัฐอันชอบธรรม กับธรรมที่เป็นแหล่งที่มาแห่งอำนาจมิใช่สิ่งเดียวกัน ฉะนั้น นอกเหนือจากอำนาจตามกฎหมายแล้ว คนเหล่านี้จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “จริยธรรม (Ethics) ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วย
แต่หากยึดถือแนวคิดของ Niccolo Machiavelli ในการปกครองแล้ว พอสรุปได้ว่า นักการเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตนภายในกรอบของจริยธรรมแต่ประการใด ทั้งยังสามารถทำอะไรหรือมีพฤติกรรมอย่างไรก็ได้ เพื่อความอยู่รอดของตนและพวกพ้อง เพียงแต่แสดงออกว่าเป็นผู้อยู่ในศีลในธรรมเท่านั้นก็เพียงพอ แล้วเราจะยอมรับพฤตกรรมเช่นนี้กันหรือ เพราะมันเป็นการเมืองที่เน้นผลลัพธ์ โดยไม่คำนึงถึงมรรควิธีแต่ประการใด