คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องน้อมยอมรับ เป็นการเล่นตามกฎกติกา เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ตามกระบวนการอันถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลไม่ได้ จะแสดงความเห็นที่แตกต่างไม่ได้ เพราะสังคมมนุษย์ที่เป็นปกติ จำเป็นต้องมีความเห็นต่าง แต่ในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นต่างมีความสำคัญมากกว่านั้น โดยเฉพาะความเห็นต่างในทางวิชาการ ซึ่งกรณีนี้ คือวิชาการกฎหมาย และเกี่ยวข้องกับปัญหาสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในแง่ของพรรคการเมืองที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล จำต้องยอมรับคำวินิจฉัยนี้เช่นกัน แต่เมื่อมีปัญหาทางปฏิบัติ ก็จะต้องระดมความเห็น เพื่อหาแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับการตัดสิน โจทย์สำคัญได้แก่ พรรคเพื่อไทยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้อย่างไร ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าทำไม่ได้ พร้อมกับแนะนำว่าควรทำประชามติ ถามความเห็นจากประชาชนก่อน ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งยังต้องตีความกันต่อไปอีกว่า คำว่า "ควร" ที่ศาลใช้นั้น เป็นคำแนะนำ หรือเป็นคำวินิจฉัยมีสภาพบังคับ
การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ที่ประกอบด้วยนักวิชาการกฎหมายรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตั้งประเด็นอย่างท้าทาย โดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ชี้ว่าจากคำวินิจฉัยคดีล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายและพัฒนาอำนาจตัวเองออกไปอีก หากเป็นเช่นนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทำไม่ได้ จึงเสนอให้เลิกบทบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญในทุกมาตราชั่วคราว ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้ และให้มีคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดที่มา อำนาจ ขอบเขต อย่างชัดเจน
ความเห็นในรายละเอียดของกลุ่มนิติราษฎร์ แม้จะรุนแรงอยู่บ้างก็ถือเป็นความเห็นทางวิชาการ ที่ควรนำไปถกเถียงหาข้อสรุปที่เหมาะสมต่อไป ขณะนี้มีกระแสเรียกร้องให้เคารพคำตัดสินของศาล ซึ่งที่จริงทุกฝ่ายได้น้อมรับฟังคำตัดสินนั้นแล้ว ที่สำคัญก็คือ การแสดงความเห็นหลังจากคำตัดสิน ไม่ได้แสดงถึงความไม่เคารพคำตัดสิน แต่แสดงถึงความใส่ใจต่อเสรีภาพของประชาชนว่าถูกลิดรอน หรือเพิ่มพูนขึ้นจากคำวินิจฉัย หรือมีการสร้างอุปสรรคในการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น เมื่อมาถึงจุดนี้ สังคมต้องสร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนกันอย่างสันติ หากมีหนทางที่ดีกว่า ควรนำเสนอต่อประชาชน แทนที่จะกล่าวหา ข่มขู่และทำร้าย และลงเอยด้วยการอุดตันไปทั้งระบบ เหมือนที่เคยเกิดขึ้น