มองประเด็นยุบศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวสด 19 กรกฎาคม 2555 >>>



วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ


เห็นพ้องในแนวคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องถูกปฏิรูปอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะที่มาของตุลาการ
และเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ต้องคงอยู่ และสำคัญกว่า "ตัวรัฐธรรมนูญ พ.ศ..." ซึ่งอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
แต่โดยรวมแล้วข้อเสนอของนิติราษฎร์สามารถบรรลุผลตามเจตนารมณ์ได้โดยวิธีการอื่น โดยที่ไม่ต้องยุบเลิกความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
เช่น การแก้ไขที่มาและจำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะโดยการคงตุลาการชุดเดิมไว้และสรรหาหรือเลือกเพิ่มอีก 6 คน
หรือโดยการกำหนดให้ตุลาการทั้ง 9 คนพ้นจากตำแหน่ง และสรรหาหรือเลือกใหม่ตามกระบวนการที่ยึดโยงกับประชาชนและหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรักษาคุณค่าและประสบการณ์ของความเป็นสถาบันศาลไว้
ผมจึงเสนอให้คงศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ เพียงแต่ให้แก้ไขเรื่อง "ที่มา" และ "จำนวน" แทน เพราะปัญหาของศาลชุดนี้ไม่ใช่เรื่องความเป็นสถาบัน
ข้อดีของการมีศาลคือ 1.คนให้ความเชื่อถือ 2.สถา บันศาลถูกผูกพันภายใต้หลักกฎหมายทั่วไปของคนที่เป็นศาล
และ 3.พัฒนาการตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งสมประสบ การณ์เรื่อยมา เช่น คำวินิจฉัยในปี 2555 ยังอ้างอิงคำวินิจฉัยปี 2540 เป็นต้น
ดังนั้น เรื่องแบบนี้ยิ่งมีความต่อเนื่องมากเท่าไร ยิ่งตรวจสอบมาตรฐานของศาลได้มากเท่านั้น ถ้ายุบแล้วตั้งชุดใหม่ขึ้นมาเลย อาจมีข้ออ้างว่าเป็นการล้างไพ่ หลักการที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิมจะถูกจะผิดไม่ต้องคุยกันแล้ว
นอกจากนี้ข้อเสนอยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญของนิติราษฎร์ในครั้งนี้ ยังคล้ายกับข้อเสนอยุบเลิกมาตรา 112 ก่อนหน้านี้
การแก้กฎหมายไม่จำเป็นต้องยุบแล้วทำใหม่เสมอไป เพราะอาจเกิดความวุ่นวาย เกิดการต่อต้านทางการเมืองตามมา เป็นธรรมดาที่ว่าหากเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างโจ่งแจ้ง ไม่แยบยล ย่อมถูกโต้แย้งได้ง่าย
จุดอ่อนในข้อเสนอของนิติราษฎร์อีกประการหนึ่งคือ เงื่อนไขการแต่งตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ที่มีที่มาจากฝ่ายการเมืองล้วนๆ คือ ส.ส. ส.ว. และครม. จะทำให้เกิดปัญหาอย่างน้อย 2 ประการดังนี้ หรือไม่
1.ตุลาการไม่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง จนนำมาสู่ความอ่อนแอในการตรวจสอบผู้ที่เลือกตน และขาดความน่าเชื่อถือยิ่งกว่าศาลชุดเดิม
อย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินคดีทั่วไป แต่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับนักการเมืองโดยตรง ถ้าปล่อยให้นักการเมืองเป็นผู้เลือกคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นคนถูกตรวจสอบเลือกคนที่มาตรวจสอบ
สุดท้ายจะถอยหลังเข้าคลอง เป็นที่ครหายิ่งกว่าเดิมเสียอีก
2.กรณีตุลาการทั้ง 8 คนถูกเลือกโดยฝ่ายการเมืองที่ยึดโยงเสียงข้างมากทั้งหมด อาจสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นทรราชของเสียงข้างมาก (tyranny of the majority) เช่น การตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของเสียงข้างน้อย ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก
การทำให้ตุลาการยึดโยงกับประชาชนอาจทำได้หลายรูปแบบ และอาศัยส่วนร่วมได้จากองค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรการเมืองทั้งหมด
นอกจากนี้คุณค่าระดับอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยประการหนึ่ง คือ การเคารพความประสงค์ของเสียงข้างมาก แต่คุ้มครองสิทธิของเสียงข้างน้อย
ซึ่งในทางหนึ่งอาจแสดงออกได้โดยการมีองค์กรตุลาการที่มีความเป็นตัวแทนของเสียงข้างน้อยโดยปริยาย หรือการอาศัยกลไกทางการเมืองในบริบทเฉพาะ เช่น การเสนอชื่อตุลาการโดยพรรคการเมือง 2 ขั้วที่สลับกันเป็นรัฐบาล
อีกเรื่องคือกรณีที่นิติราษฎร์เสนอให้มีตุลาการ 8 คน หากวินิจฉัยเสียงออกมาเท่ากัน 4 ต่อ 4 ให้คำร้องนั้นตกไปนั้น เท่ากับว่าประชาชนต้องทนทุกข์กับปัญหานั้นต่อไปอีก
จึงต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้ในการชี้ขาดปัญหา เช่น ตั้งผู้พิพากษาเฉพาะขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง หรือกำหนดจำนวนคณะตุลาการให้เป็นเลขคี่ 9 คน 13 คน ไปเลย
แม้กระทั่งกลับไปใช้โมเดลของรัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งคณะตุลาการ 15 คน โดยให้มีนักวิชาการเกินกว่าครึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าทำ
โดยสรุปแล้วข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังมีช่องโหว่หลายเรื่อง แต่ถือเป็นข้อเสนอที่ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นรายแรกๆ ดังนั้น สังคมต้องช่วยกันตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม และเสนอแนะความเห็น
ขณะที่นิติราษฎร์เองก็ต้องเปิดใจรับฟังและชี้แจง จึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง

นิคม ไวยรัชพานิช
รองประธานวุฒิสภา


การเสนอยุบหมวดศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นความเห็นในการปรับโครง สร้างของศาล ถามว่าหมวดดังกล่าวยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ผมคิดว่ายังจำเป็น มิเช่นนั้นจะขาดส่วนที่คอยตรวจสอบรัฐธรรมนูญ
เพียงแต่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อาจต้องมีคุณสมบัติสร้างความยุติธรรม ยึดหลักสุจริตมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือความขัดแย้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากประโยชน์ของการวินิจฉัยของศาล
อันนำไปสู่ผลกระทบการยุบพรรค และเว้นวรรคทางการเมืองตามโทษที่กำหนดไว้
เพราะช่วงหลังที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของศาลสร้างข้อสงสัยต่อสังคมมากมาย โดยเฉพาะขอบข่ายอำนาจที่เพิ่มการรับคำร้องได้โดยตรง ซึ่งควรปรับโครงสร้างศาลใหม่ กำหนดบทบาทศาลให้ชัดเจนกว่านี้
หรือไม่ก็ให้การร้องเรื่องเข้าสู่กระบวนการปกติ อาทิ ศาลฎีกายังมีแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วจะมีแผนกเฉพาะคดีศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เลยหรือ เชื่อว่าน่าจะเป็นหนทางที่ดีในขณะนี้ได้
แม้จะเสนอตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าถูกคณะปฏิวัติฉีกอีกก็มีค่าเท่าเดิม ประชาชนเองก็ถือเป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญอยู่ในตัวแล้ว ดังนั้น น่าจะปรับโครงสร้างกันก่อนจะดีกว่า
แต่ยอมรับว่าการยุบองค์กรค่อนข้างเป็นเรื่องยาก

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย


อันที่จริงศาลรัฐธรรมนูญก็มีมาช้านาน ที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่ององค์ประกอบที่มาของผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกระบวน การสรรหาให้ได้มา ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ควรทบทวนมากกว่า
ข้อเสนอยุบศาลรัฐธรรมนูญนั้น เบื้องต้นควรทบทวนภารกิจ บทบาท และการทำหน้าที่ของตุลาการในขณะนี้ก่อน โดยเฉพาะที่หลายคนเชื่อว่าเป็นการขยายอำนาจของตัวเองเกินขอบเขต เกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมายอย่างชัดเจน
ผมเห็นว่าหากจะผิดคงไม่ได้ผิดที่ตัวองค์กรซึ่งก็คือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผิดที่การปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้นการยุบหรือไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ใช่ประเด็น เพราะตามหลักการแล้วหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดหรือไม่ขัด รวมถึงการวินิจฉัยเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจ
แต่สิ่งที่จะย้ำว่าควรพิจารณาทบทวนถึงภารกิจ หน้าที่ ที่ชัดเจนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า และหากไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ต้องหาองค์กรอื่นขึ้นมาแทน
อย่างการที่คณะนิติราษฎร์เสนอก็คือตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าก็ทำหน้าที่เหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยรวมไม่ได้แตกต่างกัน