เสวนาวิชาการชำแหละคำวินิจฉัยศาล รธน. คือดอกผลของ ตลก. พิทักษ์รัฐประหาร

ประชาธรรม 22 กรกฎาคม 2555 >>>




วานนี้ (21 ก.ค.) ร้านหนังสือ Book  Re:public จ.เชียงใหม่ จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "จากตุลาการภิวัฒน์ สู่ ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (รัฐประหาร)" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย อ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และอดีต สสร.2540 ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ และ ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Book  Re:public เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางการให้ความสนใจจากเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี กล่าวนำการเสวนาว่า หัวข้อนี้เป็นสิ่งที่สนใจอย่างยิ่งบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมาได้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทำนบแห่งความอดทนของประชาชนที่มีต่อสถาบันตุลาการพังทลายลง ไม่ว่าจะเป็นการรับคำร้องของตัวแทน ส.ว. ส.ส. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 การมีคำสั่งระงับยับยั้งการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตลอดจนการมีคำวินิจฉัยให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หรือหากจะแก้ทั้งฉบับก็ให้ลงประชามติ ทั้งหมดนำมาสู่คำถามว่าด้วยขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ความจำเป็นในการมีอยู่ และอำนาจอธิปไตยยังเป็นของปวงชนชาวไทยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นความคับข้องใจของยุคสมัยที่ต้องการคำตอบและทางออกอย่างเร่งด่วน
   "เหตุที่เรียกว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงบทบาทที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่ใช่บทบาทในการผดุงความยุติธรรม หรือพิทักษ์ประชาธิปไตย หากแต่เป็นบทบาททางการเมืองที่อาจทำให้เกิดความกังขาอย่างถ้วนทั่ว ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีอายุไม่นานนัก แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ต้องเผชิญแรงต่อต้านภายในตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าศาล รธน. เป็นอำนาจที่ 4 ของสถาบันหลักในสังคมไทยหรือไม่ทางบุ๊ครีพับลิกจึงจัดเวทีนี้ขึ้นมาเพื่อจะช่วยชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ไม่มากก็น้อย"

เชื่อศาลเตรียมการ ล้มล้างบรรทัดฐานศาล รธน. ชุดก่อน

อ.พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่มีมูลเหตุทางการเมืองและเตรียมการมาแล้วตั้งแต่ต้น เห็นได้จากการรับคำร้องไว้พิจารณา ทั้งที่ไม่เข้าตามมาตรา 68 ว่าการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จะเข้าข่ายการล้มล้างระบอบการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยปกติศาลยุติธรรมของไทยจะยืดถือบรรทัดฐานที่ศาลได้พิพากษาหรือวินิจฉัยคดีไว้ กรณีนี้มีบรรทัดฐานของศาล รธน. ชุดก่อนไว้ชัดเจน ตอนนั้นได้มีคำร้องต่อศาล รธน. ต่อกรณีที่มีการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่านายกพระราชทาน ซึ่งมีหัวหน้าพรรคท่านหนึ่งออกมาเสนอเรื่องนี้ ก็มีผู้ไปร้องต่อศาลรธน.ในขณะนั้นว่าข้อเสนอนี้เป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้องนี้ เพราะวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 63 ของ รธน.2540 และมาตรานี้เป็นต้นกำหนดนำมาสู่มาตรา 68 ของ รธน.2550 ต่างตรงที่ รธน.2550 ได้ทำให้ร้องเรียนต่อศาลรธน.ทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ทราบเรื่องก็ร้องได้ ขณะที่ รธน.2540 ซึ่งตนได้ร่วมร่างในฐานะ สสร. จะใช้คำว่า "รู้เห็น" หมายความว่าต้องมีพยานหลักฐานว่าจะมีการล้มล้างจึงจะเข้าข่าย
อ.พนัส  ขยายความว่า การจะร้องเรียนใครตามมาตรา 68 จัดเป็นคำกล่าวหาขั้นอุจฉกรรณ์ เพราะการล้มล้างระบอบการปกครองมันก็คือกบฎ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 โทษสูงสุดคือการประหารชีวิต ฉะนั้นโดยหลักกระบวนการพิจารณาคดีที่ชอบธรรม (Due process of law) ก่อนจะมีการฟ้องร้องต่อศาลซึ่งจะไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องร้องนั้นมันต้องมีการสอบสวนตามกระบวนการ ซึ่งกฎหมายทั้งก็เขียนไว้เพื่อให้มีการสอบสวนอย่างรอบคอบเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองผู้ที่ถูกกล่าวหา
อย่างไรก็ตามศาลรธน.ปัจจุบันกลับตีความกฎหมายนี้โดยอาศัยการตีความจากตัวหนังสือว่าเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะไปยื่นต่ออัยการสูงสุดหรือจะร้องต่อศาลโดยตรงก็ได้ ซึ่งตนเห็นว่ามันมีความไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่ง เพราะมีเหตุจูงใจทางการเมืองที่เรารู้อยู่ว่า ทางฝ่ายที่ต้องการไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว.สรรหา และผู้ที่เคยเป็น ส.ว.สรรหา ซึ่งก็คือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากรธน. 2550 และถ้าไปศึกษาให้ดีจะพบว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะตุลาการศาล รธน. และองค์กรอิสระต่างๆ ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและเข้าสู่ตำแหน่งอันเนื่องมาจากการทำงรัฐประหาร 2549 ทั้งสิ้น

ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน. เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน มุ่งปกป้องฐานอำนาจจากรัฐประหาร 49

   "แน่นอนว่าหากมีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กรอิสระรวมถึงศาล รธน. ด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยคมช.ก็จะหลุดออกไปทั้งหมด ซึ่งบุคคลที่มาร้องต่อศาล รธน. จึงมีส่วนได้เสีย และสำคัญที่สุด ตุลาการศาล รธน. เองก็เกิดมาจากตั้งครั้งเดียวจากการทำรัฐประหาร 2549 ถ้าหากวิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนจะเห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจรัฐประหาร ได้นำมาสถาปนาใน รธน.2550 โดยเฉพาะเจตนาของผู้ร่าง รธน.2550 ต้องการให้มีโครงสร้างลักษณะนี้ เพื่อทำให้การปกครองโดยระบอบรัฐสภา และการบริหารคณะรัฐมนตรีที่มีความอ่อนแอ เพราะจะโดนขนาบด้วยศาล รธน. และองค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งทุกคนก็อออกมาสนับสนุนการตัดสินของศาล รธน. ในครั้งนี้ทั้งสิ้น"
อ.พนัส กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่หวังเขาผลคือ หากล้มรัฐบาลนี้ได้เขาอาจจะมีโอกาสที่จะมีรัฐบาลที่มาจากกลุ่มอำนาจฝ่ายเดียวกัน กล่าวคือให้ศาลรธน.ทำรัฐประหาร ซึ่งตนค่อนข้างมั่นใจว่าที่ไม่เป็นไปแบบนั้นเพราะมีเสียงคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรง ทำให้บรรดาตุลาการศาล รธน. เกิดความลังเล โดยเฉพาะคนที่เป็นตัวจักรสำคัญของศาลรธน.ซึ่งคือคุณจรัญ ภักดีธนากุล ได้ถอนตัวจากการพิจารณา ต่อมาก็มีตุลาการอีก 3 ท่านขอถอนตัว นับเป็นเรื่องประหลาดเพราะปกติถ้าผู้พิพากษาจะถอนตัวจะไม่มีการลงมติไม่ให้ถอนตัว เพราะเอกสิทธิและมารยาทของตุลาการแต่ละท่าน
   "ในเมื่อตัวเองรู้สึกว่ามีส่วนได้เสีย หรือได้ไปแสดงอะไรไว้ที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าการพิจารณาของตัวเองจะทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมชอบได้อย่างแท้จริง โดยหลักและมารยาทของตุลาการก็ต้องขอถอนตัวตั้งแต่แรกไม่ต้องรอให้ใครมาคัดค้าน อย่างของคุณจรัญต้องถือว่าเป็นการฉีกหน้ากลางศาล แต่คนอื่นทำทีว่าขอถอนตัว แล้วก็มาลงมติกันว่าไม่ให้มีการถอน อันนี้มันเหมือนการเล่นละครตบตาชาวบ้านเท่านั้นเอง ดังนั้นพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกมา รวมถึงบทบาทและคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 ที่มีการสถาปนาตัวเองเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยอ้างคำในมาตรา 68 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนคนไทย ถ้าใครจะมาล้มล้าง รธน. ถ้าท่านไม่เห็นด้วยก็หมายความว่าท่านมีอำนาจในการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยที่ออกมาจึงพิลึกพิลั่นมาก"

เสนอถึงเวลาเปลื่ยนเป็น "ตุลาการพิทักษ์การรัฐประหาร" แทนตุลาการพิทักษ์ รธน.

สำหรับคำวินิจฉัยของศาล รธน. นั้น อดีต สสร. 2540 ตั้งข้อสังเกตว่า ศาล รธน. ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็น ในข้อวินิจฉัยที่ 1 ศาลได้เห็นชอบเจ็ดต่อหนึ่ง บอกว่ามีอำนาจที่จะรับพิจารณาคำร้องโดยอ้างฐานะความเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอิงกับสิทธิของประชาชน จึงมีสิทธิที่จะเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งถ้าคนที่ไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายลึกซึ้ง หรือมีใจที่โน้มเอียงอยู่แล้ว จะคิดว่าเป็นเหตุเป็นผลที่ดูดีมาก แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือผลประโยชน์ที่ทุกคนทั้งตุลาการศาล รธน. ผู้ยื่นคำร้องทั้งหมด มันจึงเป็นชื่อของวงคุยในวันนี้ว่า ตุลาการภิวัตน์ สู่ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่อันที่จริง ต้องวงเล็บไว้ว่าท่านพิทักษ์การรัฐประหารมากกว่า เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 แท้ที่จริงแล้วคือการรับรองความถูกต้องและชอบด้วยรัฐธรรมูญของผลพวงและบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม หรือรับผลประโยชน์ หรือจากการทำรัฐประหาร 2549 นั่นเอง การที่ท่านบอกว่าเป็นผู้พิทักษรัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐธรรมนูญนี้มันเป็นตัวแทนของอำนาจที่เกิดจากการรัฐประหาร 2549 ดังนั้นในตอนนี้สมควรที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นตุลาการพิทักษ์การรัฐประหารได้
นอกจากนี้ อ.พนัส ยังกล่าวถึงที่มาของคำว่าตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทย โดยระบุถึงจุดเริ่มต้นจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนที่มีคำสั่งให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลที่กกต. ชุดนายวาสนา เพิ่มลาภเป็นประธาน ได้เปลี่ยนรูปแบบของคูหาใหม่ อย่างไรก็ดีแนะนำให้กลับไปดูจุดเริ่มต้นของการอภิวัตน์ในวันที่ 28 เม.ย. 2548 ซึ่งนายหลวงทรงมีพระราชดำรัสกับตุลาการศาลปกครอง และผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เข้าถวายสัตยปฏิญาณ โดยผลจากพระราชดำรัสคราวนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่าศาล รธน. รับมาว่าเป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องจัดการปัญหาของบ้านเมือง
เมื่อพอศาลรธน.รับและตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ปรากฎว่ามันยังไม่ชัดเจน ศาลปกครองจึงตามพิพากษาซ้ำว่ายังเป็นความผิดของ กกต. ชุดดังกล่าว โดยขณะนี้ กกต. กำลังประสบวิบากกรรมจากผลของตุลาการภิวัตน์ คือ รอคำตัดสินจากศาลฎีกา ซึ่งทั้งสองศาลทีผ่านมาก็ตัดสินจำคุก สำหรับการบัญญัติศัพท์นี้ ยังไม่มีการระบุอย่างเป็นทางการว่า อ.ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้คิดคำนี้ขึ้นมา ขณะที่คนที่ออกมาให้ความคิดเห็นสนับสนุน และบอกย้ำว่าตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเกิดจากอัจฉริยภาพแท้จริงทางกฎหมายของนายหลวงก็คือ บวรศักดิ์ สุวรรณโณและมีชัย ฤทธิ์ชุพันธ์ ซึ่งหาอ่านบทความดังกล่าวได้ในเวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

นักวิชาการ กม. ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน. รื้อทิ้งหลักนิติรัฐ-ปชต.

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เกริ่นนำว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน. เหมือนจะเป็นคำวินิจฉัยที่ลดอุณหภูมิทางการเมืองพอสมควร เนื่องจากศาลก็มีคำวินิจฉัยไปแล้วว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไม่ได้เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แน่นอนทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคไม่ถูกยุบตามมาตรา 68 แต่ถ้าพิจารณาคำวินิฉัยให้ดีจะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยมีปัญหาในเชิงหลักการ ซึ่งมันกระทบกับตัวระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศโดยองค์รวม ส่วนตัวมีความกังวลค่อนข้างมาก เพราะคำวินิจฉัยครั้งนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองในอนาคต
ดร.พรสันต์ อธิบายว่า ท่ามกลางทิศทางของสังคมที่มีการเรียกร้องให้เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นเมื่อมีการพูดถึงความเป็นประชาธิปไตย หลักการที่ไม่สามารถจะหลีกลี่ยงได้เลยคือ หลักนิติรัฐ เนื่องจากทั้งคู่มีวัตถุประสงค์เดียวกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เป็นเสาหลักที่คำยันซึ่งกันและกัน ถ้าหลักการใดหลักการหนึ่งถูกทำลายไป อีกตัวหนึ่งจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตยเราต้องให้ความสำคัฐกับนิติรัฐด้วย นิติรัฐ คือ แนวคิดที่ยึดกฎหมายเป็นใหญ่ ปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายในที่นี้หมายถึงรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการกระทำใดๆ ก็แล้วแต่ต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยที่ตัวรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งอำนาจรัฐหลายคนอาจคิดว่าหมายถึงอำนาจของรัฐบาล ซึ่งให้ความรู้สึกโน้มเอียงไปทางฝ่ายบริหาร ความคิดแบบนี้ก็ถูกต้องในส่วนหนึ่ง แต่ในเชิงหลักการของนิติรัฐ หลักเกณฑ์ที่ถูกไปบรรจุในตัวรัฐธรรมนูญไมได้ควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว หากว่ามันเข้าไปควบคุมอำนาจทั้งหมด หมายความว่าอำนาจรัฐหมายถึง หนึ่ง อำนาจในการตราตัวบทกฎหมาย สอง อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน สาม อำนาจในการพิจารณาคดีความต่างๆ
   "ฉะนั้นหลักนิติรัฐที่ผ่านตัวรัฐธรรมนูญมันจะเข้าไปควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ คนทั่วไปจะคิดว่าตัวรัฐธรรมนูญจะควบคุมเข้าไปกำกับการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และตัวคณะรัฐมนตรีที่ใช้โดยนักการเมือง แต่ในสายตาของกฎหมายจะมองว่าใครก็แล้วแต่ที่ถืออำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญต้องควบคุมทั้งหมด เพราะอำนาจรัฐอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ประเด็นคือว่าวิธีการควบคุมหลักนิติรัฐที่ผ่านรัฐธรรมนูญทำอย่างไร คำตอบคือ มันผ่านหลักการหนึ่งที่เรียกว่า หลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือหลักความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่บนหลักการที่เรียกว่า "ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ" หมายความว่าการกระทำใดๆ ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับ หรือให้อำนาจ ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย ไม่มีมาตราใดเลยที่ให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ ความชอบด้วยกฎหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีการเขียนไว้ย่อมหมายความว่าโดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ แต่เมื่อศาลใช้อำนาจของตัวเองเข้าไปตรวจสอบมันจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐ"

ระบบศาลคู่ของไทย ห้ามศาลก้าวล่วงขอบเขตอำนาจตาม รธน.

ดร.พรสันต์ กล่าวเสริมอีกว่า หากไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้หรือไม่ที่ศาลจะมีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งก็อาจจะมีได้ โดยต้องขึ้นกับระบบของศาลในแต่ละประเทศว่าใช้ระบบศาลแบบไหน ซึ่งระบบศาลทั่วโลกจะมีอยู่ 2 ระบบ คือ ศาลเดี่ยว ที่มีศาลยุติธรรมศาลเดียวมีอำนาจในการวินิจฉัยคดีทุกประเภท เช่น อเมริกา และระบบศาลคู่ประกอบไปด้วยศาลยุติธรรม กับศาลเฉพาะหรือศาลชำนาญการพิเศษ ในระบบศาลเดี่ยวมันมีความเป็นไปได้แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดให้ศาลเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะมันไม่มีศาลเฉพาะ แต่ในประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ จึงต้องเป็นคดีเฉพาะจริงๆ โดยที่รัฐธรรมนูญจะมีการกำหนดไว้ว่าคดีประเภทไหนถึงจะพิจารณาในศาลเฉพาะได้ ดังนั้นมองในเชิงหลักการเบื้องต้น หลักนิติรัฐ หรือระบบโครงสร้างของศาลจึงยังไม่เห็นศาลรธน.ของไทยจะมีช่องทางเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ได้
   "อีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้คิดทบทวนคือ ทฤษฎีข้อพิพาททางการเมือง มันเป็นหลักการและเป็นทฤษฎีหนึ่งที่เข้าไปควบคุมอำนาจขององค์กรตุลาการไม่ให้ล้ำเส้นเขตแดนของฝ่ายการเมือง กล่าวคือ ในระบบกฎหมายจะมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าอะไรคือเขตแดนทางการเมือง หรือกิจกรรมทางการเมือง ถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นก็ให้ใช้กลไกทางการเมืองเข้าไปตรวจสอบกันเอง กับอีกเขตแดนทางกฎหมายที่จะใช้องค์กรตุลาการ หรือตัวระบบกฎหมายเข้าไปตรวจสอบ"

ย้ำ ตลก. ศาล รธน. มีสิทธิระงับการแก้ไข รธน. ที่เปลี่ยนรูปแบบรัฐ-การปกครองเท่านั้น

ดร.พรสันต์ ย้ำว่า ดังนั้นเราต้องพิจารณาถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นประเด็นข้อพิพาททางการเมืองหรือไม่ สำหรับตนถือว่าเรื่องทางการเมือง เพราะข้อพิพาททางการเมืองหมายถึงกิจกรรมที่นักการเมืองใช้กันไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยหลักการฝ่ายนิติบัญญัติจะมีหน้าที่หรือกิจกรรมทางการเมืองคือการตราประมวลกฎหมาย การแก้ไขตัวบทกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นศาลจึงไม่สามารถเข้ามาสำรวจตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามนักกฎหมายบางท่านมักจะโต้แย้งกลับมาว่าการที่ศาลเข้ามาตรวจสอบคือเรื่องปกติ เพราะมีการตราตัวบทกฎหมายเช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ. ก่อนมีการประกาศใช้จะมีการตรวจสอบความชอบของรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเราอนุญาตให้ศาลเข้ามาตรวจสอบก็ต่อเมื่อกำลังจะประกาศใช้ จุดที่แตกต่างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือ รัฐสภากำลังดำเนินการพิจารณาในวาระที่สอง กำลังจะไปสู่วาระที่สาม แต่ปรากฎมีคนไปร้องเรียนแล้วศาลสั่งระงับยับยั้งเอาไว้ ซึ่งจะเห็นว่ากิจกรรมของฝ่ายการเมืองยังไม่เสร็จกระบวนการ
นักวิชาการด้านกฎหมายรายเดิม สรุปประเด็นว่า การที่ศาลรับคดีไว้โดยอาศัยมาตรา 68 คำถามมีอยู่ว่ามันถูกต้องตามหลักการหรือไม่ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องพิจารณา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าใช้สามัญสึกง่ายๆ การตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ต้องมาตราที่พูดถึงการแก้ไขมาพิจารณาเท่านั้น  แต่มาตรา 68 ไม่ได้พูดถึง ยิ่งไปกว่านั้นในมาตรา 291 เขียนว่าสามารถเสนอญัตติเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยมีข้อห้าม 2 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ห้ามแก้ไขเรื่องรูปแบบของรัฐ คือห้ามเสนอเปลี่ยนแปลงเป็นสหพันธ์รัฐ สอง ห้ามเสนอเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง
ดังนั้นหากศาลจะเข้ามาตรวจสอบก็มีเงื่อนไขเพียง 2 ประการนี้เท่านั้น โดยมาตรา 68 และ มาตรา 291 เขียนเพื่อใช้ในกรณีที่แตกต่างกัน แต่การยกมาตราที่ไม่ได้เขียนไว้เพือการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีเจตนารมณ์คนละอย่างมาจับกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มันจึงทำให้ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยมันผิดเพี้ยนไปเลย ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้อำนาจของสถาบันการเมือง

ย้ำชัด ตลก. ศาล รธน. ตีความผิดบริบทเชื่อกระทบระบบกฎหมายในระยะยาว

   "สมมุติว่า ม.68 เอามาใช้เพื่อตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ มันก็ยังผิดขั้นตอนอยู่ดี ซึ่ง อ.พนัส ได้นำเสนอไปแล้วที่ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อน เจตนารมณ์ของมาตรา 68 คือการป้องกันระบอบประชาธิปไตยซึ่งเอาแบบอย่างจากประเทศเยอรมันนีมาใช้ การจะใช้มาตรานี้ต้องใช้กับกรณีที่มีความร้ายแรงมาก หรือเป็นกล่าวหาที่รุนแรงมาก เพราะเมื่อตัดสินว่าผิดจะอยู่ในฐานะกบฏตามมาตรา 133 ดังนั้นจึงกำหนดให้มีองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบและคัดกรองก่อน ที่สำคัญถ้าปล่อยให้คนมายื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงศาลก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงชั้นเดียวไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นฎีกาใดๆ ต่อได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ประชาชนมายื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรงเพียงกรณีเดียวที่เท่านั้นคือ มาตรา 212 ซึ่งถ้าไปอ่านรายละเอียดจะพบว่าการที่ประชาชนจะมาใช้สิทธิได้นั้นก็ต่อเมื่อไม่สามารถไปใช้สิทธิเรียกร้องกับองค์กรอื่นๆได้แล้ว นี่คือการลดภาระของศาลรธน. ฉะนั้นเราจะเห็นว่าเจตนารฒณ์ของกฎหมายชัดเจน คือ ไม่ให้ประชาชนมายื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้"
   "เมื่อดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลขยายความว่ามาตรา 68 เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องได้สองทางหนึ่ง อัยการสูงสุด สองยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลให้เหตุผลในการวินิจฉัยที่ดูประหนึ่งว่าเป็นไปตามหลักการและเป็นการตีความเพื่อขยายสิทธิของประชาชน เพราะถ้าปล่อยให้ยื่นที่อัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวเท่ากับการตัดสิทธิ ดังนั้นต้องเป็นการตีความเพื่อขยายสิทธิ โดยหลักการมันก็ใช่แต่มันเป็นการตีความที่ผิดบริบท การตีความของศาลแบบนี้ส่งผลให้ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญรวนอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่ง กรณีอัยการกับศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นตรงกันว่าเป็นการล้มล้างหรือไม่ก็ตามจะเห็นว่าสององค์กรนี้ทำงานทับซ้อนของการใช้อำนาจหน้าที่เดียวกัน สอง กรณีที่สององค์กรมีความเห็นที่แตกต่างกันศาลเห็นว่าผิดจริงเป็นการล้มล้างการปกครอง ขณะที่อัยการสูงสุดเห็นว่าไม่มีความผิด ดังนั้นการตีความของศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้ง" ดร.พรสันต์ กล่าวทิ้งท้าย

นิธิชี้ศาล รธน. ทำหน้าที่รักษาดุลอำนาจของชนชั้นนำตามจารีต

ด้าน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า นักกฎหมายก็เหมือนนักประวัติศาสตร์ หมอที่มีความสัมพันธ์กับคนในวงการของเขา และมีคนที่เขาต้องไว้หน้าตัวเอง การที่ศาล รธน. กระทำโดยอ้างมาตรา 68 มาระงับไม่ให้รัฐสภาพิจารณาแก้ รธน. มาตรา 291 คนเหล่านี้ก็รู้ว่ามันไม่ได้เรื่อง และเขามีหน้าตาที่ต้องรักษาไว้ต่อคนในวงการเดียวกับเขาพอสมควร ถามว่าทำไมถึงทำ คำตอบมีอยู่ว่า เราอย่าไปคิดถึงศาล รธน. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีจินตนาการถึงการสร้างองค์กรที่เป็นอิสระให้คานอำนาจกันและกัน แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 และสภาวการณ์การเมืองปัจจุบันมันคือการต่อสู้ของกลุ่มชนชั้นนตามจารีตประเพณีซึ่งรวมคนหลายกลุ่มหลายพวกที่จะรักษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โดยให้มีดุลอำนาจเหนือฝ่ายประชาชนที่อาศัยกลไกการเลือกตั้ง มาเป็นผู้อำนาจเด็ดขาดหรือมีอำนาจเหนือแต่เพียงผู้เดียว คือฝ่ายชนชั้นนำตามจารีตยังกลุ่มต่างๆ ต้องเจรจาต่อรองกันในทุกเรื่อง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่รักษาเครือข่ายหรือกลไกอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตประเพณีเอาไว้
อ.นิธิ กล่าวต่อไปว่า เมื่อกลับมาดูเรื่องชนชั้นนำทางจารีตประเพณี โดยเฉพาะต่อประเด็นเรื่อง Network monarchy หรือสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย ที่ Duncan McCargo ได้นำเสนอไว้ในบทความซึ่งตนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้เขียนว่ามันไม่ได้เป็นไปอย่างที่หลายคนเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่ายในประเทศไทยนั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางและสั่งให้ผู้คนทำสิ่งต่างๆ กลับพบว่าในเครือข่ายนี้เองต่างประกอบด้วยนายทุน ข้าราชการ นักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งมันต้องมีการแข่งขันกัน หรือขัดแย้งปะทะทางผลประโยชน์ระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา หรือจะเห็นว่าคนที่เข้าไปอยู่ในเครือข่ายนั้นไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของพระมหากษัตริย์หรือเห็นประโยชน์ของกลุ่มอื่นๆ เป็นสำคัญ หากแต่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองเพื่อที่จะบรรลุประโยชน์ได้เร็วที่สุดหรือง่ายที่สุด อย่างไรก็ตามมีประเด็นน่าสนใจว่าทำไมเครือข่ายนี้แม้ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดเวลา ยังสามารถดำรงอยู่และเป็นผลักดันสิ่งต่างๆได้ ดังนั้นต้องมองความสัมพันธ์ของคนในเครือข่ายนี้ทีมีความยุ่งเหยิงภายใน เพราะถ้ามองว่าทุกคนพร้อมที่จะกราบและทำตามจะเข้าใจสิ่งนี้ไม่ได้
   "ขณะที่ฝ่ายชนชั้นนำตามประเพณีก็พบทิศทางที่น่าตกใจ กล่าวคือประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่การตัดสินใจของคนหน้าแปลกๆ อย่างพวกเสื้อแดงทั้งหลาย หรือคนบ้านนอกที่ไม่เคยอยู่ในวงการเมืองหรือมีส่วนในการตัดสินใจมาก่อน คนธรรมดาอย่างพวกเราต่างหากที่เป็นผู้จัดรัฐบาล กรณีอย่างคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ไม่กล้าตั้งคุณเนวินเป็นรัฐมนตรี ถามว่าใครเป็นคนสั่งคุณบรรหาร คำตอบพวกคือพวกข้าราชการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือคนกลุ่มเดิมที่เป็นคนกำกับรัฐบาล บัดนี้มันมีคนแปลกหน้าจำนวนมหาศาลที่เข้ามาแล้วอ้างสิทธิของตัวในการลงคะแนนเลือกตั้ง ถามว่าคนชนชั้นนำกลุ่มเดิมจะยอมตามด้วยหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะเขาต้องการที่จะทำให้อำนาจการต่อรองทางการเมืองมีพลัง โดยอาศัยรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉะนั้นการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่การกระทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า หรือทำด้วยความโง่เขลา"
   "เคยสงสัยหรือแปลกใจกันไหมว่าตอนที่รัฐบาลเอาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภา กลุ่มที่คัดค้านคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่ถืออำนาจอยู่ในโครงสร้างการเมืองการปกครองที่ไม่เคยออกมาเคลื่อนไหว แต่ชนชั้นนำทางจารีตประเพณีไม่ได้ขยับอะไรเลย ซึ่งต่างกับกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ แสดงว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งกว่าการไม่มีทักษิณ หมายความว่าเขาสามารถที่จะจัดการและควบคุมทักษิณได้ตราบเท่าที่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมือ"
อ.นิธิ อธิบายว่า อย่างที่ทราบกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เขาเขียนขึ้นโดยตั้งใจให้กลุ่มชนชั้นนำตามจารีตเข้ามาแทรกแซงโดยตลอด ต้องมีวุฒิสภาที่ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง ต้องให้อำนาจแก่ตุลาการ ศาลฎีกาจำนวนหนึ่งในการเป็นผู้ตั้งองค์กรอิสระ ต้องมีองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนหนึ่งมากพอสมควร ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็จะถูกแวดล้อมด้วยมือและตีนของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตคอยขนาบข้าง ดังนั้นอย่างน้อยในช่วงนี้จะยังแตะรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ ยกเว้นว่าจะต่อรองกันเป็นเรื่องๆ และตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 หากฝ่ายชนชั้นนำไม่เห็นด้วยก็จะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกันนี้อีก
   "ไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณหรือเชื้อสายของทักษิณ หรือใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ใช่รัฐบาลในค่ายทหารหรือกองทัพ รัฐบาลมีฐานความชอบธรรมคือคะแนนเสียงประชาชนที่เป็นอิสระจากชนชั้นนำตามตารีต ซึ่งพร้อมจะแข็งข้อได้เสมอ ฉะนั้นไม่ใช่ว่าเขา (ชนชั้นนำ:ประชาธรรม) จะกลัวหรือเพ่งเล็งคุณทักษิณอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้เขาก็กลัว แต่เผอิญว่ามันยังไม่เป็นเลยยังไม่กลัว ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีไว้เพื่อกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง"

ผุดรัฐประหารโดยศาล แทนเงื่อนไขรัฐประหาร 3 ประการที่ไม่เอื้อ

อ.นิธิ นำเสนอต่อไปว่า หากมองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแง่ดีคืออย่างน้อยที่สุดคือเขาไม่ได้ใช้วิธีการรัฐประหารด้วยวิธีการที่เคยทำมาแล้ว ซึ่งการทำรัฐประหารในเมืองไทยต้องใช้กำลังอย่างน้อยสามส่วน คือ ม็อบ กองทัพ และพระบรมราชานุญาต สำหรับ หนึ่ง พบว่าปัญหาในเวลานี้คือมันสร้างม็อบที่มีพลังแบบเมื่อก่อนไม่ได้ เช่น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ถูกผลักออกไปจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังพันธมิตรก็ลดน้อยลงเขาก็ปลุกเรื่องเขมร เรื่องพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่สำเร็จสักเรื่อง เมื่อไม่มีมวลชนทีมากพอสนับสนุน ดังนั้นจึงทำรัฐประหารด้วยกำลังทหารไม่ได้
สอง กองทัพ ต้องเข้าใจว่ากองทัพก็เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำทางจารีต ขณะเดียวกันกองทัพก็ต้องการความเป็นอิสระเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการออก พ.ร.บ.กลาโหม ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ นั่นหมายความตอนนี้ไม่มีใครสามารถเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้อีกนอกจากกองทัพด้วยกันเอง และตอนนี้กองทัพพอใจกับอำนาจอิสระของตนเองอย่างมาก นอกจากนี้กองทัพยังต้องการงบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามคำขอทุกปี ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้ปฏิบัติอะไรต่อกองทัพที่มีความแตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อกองทัพร้องขออะไรมาก็ให้หมดทุกอย่าง ดังนั้นตราบเท่าที่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 กองทัพไว้วางใจกันได้ว่า กองทัพจะสามารถได้สิ่งต้องการจารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความคุ้มที่จะเอารถถังออกมายึดอำนาจ
"อย่าไปมองว่ากองทัพเป็นเครื่องมือของคนใดคนหนึ่ง เพราะเขาก็เป็นเครื่องมือของตัวเอง และย่อมทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองก่อนคนที่จะใช้เครื่องมือ ตั้งแต่คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลราบรื่นและดีขึ้นตลอดเวลา"
สาม การรัฐประหารตั้งแต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมาต้องได้รับพระบรมราชานุมัติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวสั่งการให้ไปทำ แต่หลังจากการยึดอำนาจแล้วต้องได้ approval (พระบรมราชานุญาต : ประชาธรรม) เช่น การเปิดโอกาสให้เข้าเฝ้า ดังนั้นทั้งสามส่วนถ้าไม่ได้รับการร่วมมือตั้งแต่ต้นการทำรัฐประหารด้วยกำลังของกองทัพจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งยังไม่ใช่จังหวะของช่วงนี้ เหตุดังนั้นจึงจำเป็นต้องระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยวิธีอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าใครสั่งการใคร แต่ทิศทางต้องไปแบบนี้
   "รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างสมดุลทางการเมืองที่กล่าวไปแล้วที่ปลอดภัย และเขาก็คิดว่ามันยุติธรรมพอสมควร เมื่อคุณมีอำนาจมากขึ้นก็เข้ามาเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ในการกำกับบ้าง ไม่ได้ปล่อยให้อิสระ ดังนั้นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนมากกว่าความผิดถูกทางกฎหมายและความหน้าด้านของคนไม่กี่คน"
   "อย่างไรก็ดีเชื่อว่ามีประชาชนจำนวนมากกว่าเสื้อแดงและไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่กระนั้นคนกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือ เช่น พรรคการเมือง และการเคลื่อนไหวของประชาชนที่อ.พนัสอธิบายว่าตัวศาลเองก็เปลี่ยนใจหลังจากเห็นการเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมาก แต่การเคลื่อนไหวอย่างเดียวมันแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้"

คนเสื้อแดงไม่อิสระ-ผูกโยงกับแกนนำส่วนกลาง ขาดอำนาจการต่อรองกับเพื่อไทยในการแก้ไข รธน.

สำหรับความเป็นไปได้ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตนั้น อ.นิธิ กล่าวว่า  คิดว่ามันเป็นความยากที่ต้องอาศัยขั้นตอนอย่างมาก มีเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งเคยคิดว่าต้องตั้งพรรคการเมืองของตนเอง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถจะเกิดขึ้นด้วยวิธีของอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว คำถามต่อไป คือ คนเสื้อแดงจะจัดองค์กรของตนเองในลักษณะที่จะเข้าไปต่อรองกับพรรคการเมืองได้หรือไม่ ตนคิดว่าไม่ได้เช่นกัน จากงานวิจัยของ อ.ปิ่นแก้ว พบว่า ตัวแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงที่ฝางจะมีบางคนที่เชื่อมโยงถึงแกนนำระดับส่วนกลาง ฉะนั้นมันจึงมีองค์กรย่อยๆ ของเสื้อแดงที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันเอง ซึ่งหมายความว่ามันเป็นการให้อำนาจกับคนที่อยู่แกนกลาง
   "ไม่ได้หมายความคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดี ผมไม่รู้ แต่แกนกลางเหล่านี้มีผลประโยชน์ส่วนตัวที่เขาต้องรักษา และไม่สามารถตอบสนองทุกอย่างของเสื้อแดงได้ ขณะเดียวกันเสื้อแดงแต่ละกลุ่มก็เล็กเกินที่จะบังคับแกนนำตรงกลางได้ เมื่อเป็นเช่นนี้กลไกการควบคุมพรรค หรือการรจัดองค์กรในลักษณะแบบนี้ทำให้เสื้อแดงไม่มีอำนาจต่อรองในการดำเนินนโยบายของพรรค หรือแม้กระทั่งกลุ่มอย่างเพียงพอ ได้แต่สวมเสื้อแดงออกไปตามที่แกนนำระดับประเทศเรียกร้องให้ออกไปเท่านั้น"
อ.นิธิ กล่าวว่า ลองนึกเปรียบเทียบการชุมนุมของไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง กับสมัชชาคนจนมันเป็นคนละเรื่อง ซึ่งสมัชชาคนจนเป็นองค์กรระดับแนวราบ จะมี"พ่อครัว"ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มย่อยเหล่านี้มาประชุมกันทุกวัน เพื่อตัดสินใจที่จะทำอะไรต่อไป ถามว่าการเข้าไปจัดการเปลี่ยนองค์กรเหล่านี้เพื่อต่อรองเชิงนโยบายในระดับที่ใหญ่กว่าไม่ว่าจะเป็นระดับของเสื้อแดง หรือพรรคการเมืองที่เสื้อแดงสนับสนุนก็ตามคิดว่าในอนาคตอันใกล้ยังทำไม่ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้คือเสื้อแดงทั้งประเทศเรียกร้องสิ่งเดียวกันคือว่าต้องการ primary vote

หนุนหลักการ primary vote  ดึงอำนาจคืนมาจากพรรคการเมือง

   "คุณทักษิณเคยสัญญาในช่วงปลายการดำรงตำแหน่งว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับพรรคไทยรักไทยทั้งหมด ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องดี ถ้าพรรคเพื่อไทยจะได้รับการหนุนจากเสื้อแดงต่อไป ต้องยอมให้ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้สมัครในแต่ละเขตเอง เพราะฉะนั้นถ้ามีเป้าหมายอันเดียวกันในการเล่นการเมือง อย่าคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมือง หรือจัดองค์กรที่จะคุมพรรคการเมืองได้ ต้องขอขั้นแรกให้พรรคเพื่อไทยยอมจัดเลือกตั้งล่วงหน้าในหมู่สมาชิกพรรคที่จะส่งใครในแต่ละเขตเข้าสมัคร ส.ส. ก่อน เพียงแค่นี้จะพบว่าอำนาจในการควบคุม ส.ส. จะกลับมาอยู่ในมือของเราอย่างชัดเจน"
อ.นิธิ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในทรรศนะส่วนตัวมองว่าการอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภามันเป็นเรื่องปาหี่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มันน่าประหลาดใจเมื่อช่วงแรกที่รองประธานรัฐสภามาทำหน้าที่ประธาน ก็มี ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอญัตติว่าเราพูดกันได้แต่ห้ามมีการโหวต แล้วสมาชิกพรรคเพื่อไทยทั้งหมดก็นั่งเฉยๆ ไม่มีใครลุกขึ้นค้าน จากนั้นก็เล่นปาหี่ต่อต้านคัดค้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็โหวตแพ้ ซึ่งก็รู้ตัวตั้งแต่ต้นว่าหายไป 13 เสียง ดังนั้นทั้งหมดคือการเตรียมการเพื่อเล่นละครให้ดูเท่านั้นเอง แต่ควรจะสบายใจได้อย่างน้อยเมื่อทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องเล่นละคร แสดงว่าประชาชชนยังมีกำลังพอสมควรที่จะควบคุมได้ในภายหลัง