เสียงเตือนตุลาการแก้ไข "รธน." ระวัง "มิจฉาทิฐิ"

มติชน 9 กรกฎาคม 2555 >>>


ความเห็นของนักวิชาการ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 13 กรกฎาคม นี้

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้องยึดตามหลักรัฐธรรมนูญที่กำหนดเอาไว้ว่าขอบเขตอำนาจศาลอยู่ที่ไหน ขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติในการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ที่ไหน คำวินิจฉัยจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตัวเองว่ามีอำนาจ แต่คำวินิจฉัยว่าสภานิติบัญญัติจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 หรือไม่นั้น คำวินิจฉัยถ้าจะไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่ควรจะวินิจฉัยให้สุดโต่ง ควรจะวินิจฉัยให้ทุกฝ่ายสามารถมีพื้นที่จะดำเนินตามบทบาทและหน้าที่ที่รัฐ ธรรมนูญกำหนดไว้ได้ รวมทั้งกำหนดบทบาทขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็น เรื่องจะต้องผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วมองว่ามันคลุมเครือ เมื่อมาถึงเรื่องของประเด็นวรรคหนึ่งของมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญใช้ว่า ตัวเองมีอำนาจตามมาตรา 68 ในการวินิจฉัย มาตรา 68 คือ หลักใหญ่ใจความของรัฐธรรมนูญ บอกไว้ว่า การกระทำอันที่จะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่
ถ้าใช้บทบัญญัติอันนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องวินิจฉัยไปตาม นั้นโดยดูจากพยานหลักฐาน เวลาที่ฝ่ายยื่นคำร้องไปเน้นเรื่องการล้มล้างระบอบกษัตริย์ ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาไปตามพยานหลักฐานและขอบเขตหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปบอกว่า สภานิติบัญญัติไม่มีสิทธิแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจโดยตรงของสภานิติบัญญัติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ช่องว่าอนุญาตให้แก้เป็นรายมาตรา ไม่อนุญาตให้แก้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจสุดโต่งในการบอกว่าให้แก้เป็นรายมาตรา เพื่อให้มีการถกเถียงกัน ก็เป็นทางหนึ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตเหมือนกัน
ศาลรัฐธรรมนูญควรตี ความอำนาจขอบเขตว่า สภานิติบัญญัติก็มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญไป และการยื่นคำร้องและรับคำวินิจฉัยถือเป็นการกระทำเพื่อป้องกัน แต่เมื่อวินิจฉัยทั้งพยานและหลักฐานแล้ว ควรจะวินิจฉัยได้ว่า การแก้ไขมาตรา 291 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่น่าจะเป็นการขัดขวาง หรือทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย
ส่วนถ้าจะ ให้คุณวสันต์ (นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ) เป็นคนตัดสิน คุณวสันต์ก็บอกชัดเจนแล้วว่าคงจะไม่อนุญาตให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้ คือเป็นการกระทำ ผิดตามมาตรา 291 แต่ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาสังคมวิกฤตเเน่นอน ถ้า 4 ต่อ 4 แล้วคุณวสันต์เป็นคนตัดสินตามบทบัญญัติตามกฎหมายประธานเป็นคนตัดสินวินิจฉัย สุดท้าย วิกฤตแน่นอนแล้วก็คิดว่าไม่น่าจะไปล็อกนั้นแน่ๆ เพราะศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่เปิดให้เป็นแบบนั้น ไม่เช่นนั้นคุณวสันต์จะเป็นคนแบกรับภาระทั้งหมด และคุณวสันต์คงมีคำตอบอยู่ในใจกรณีการออกมาให้สัมภาษณ์หลายครั้ง แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ออกมาเป็นเอกฉันท์คงมีเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมากกันอยู่
จำได้ว่าเคยมีการตัดสินที่ออกมาแล้วมีคะเเนนเสียงเท่ากัน แต่เป็นปีกย่อยไม่ใช่คำวินิจฉัยหลัก ตุลาการศาลแต่ละคนเขาจะมีคำวินิจฉัยส่วนตัวออกมาแล้วค่อยมาเป็นคำวินิจฉัย รวม ที่จะเป็นตัวชี้บ่งว่าเเต่ละคนเห็นแบบนี้แล้วทุกคนยอมรับได้หรือเปล่า ตรงกับที่เเต่ละคนต้องการจะสื่อให้สังคมได้รับรู้หรือไม่ ก็จะเป็นคำวินิจฉัยรวมจะเป็นคนตัดสิน ดังนั้น ถึงแม้เราจะเข้าใจภาพกว้างว่าคุณวสันต์จะเป็นคนตัดสินหากเป็น 4 ต่อ 4 แต่คำวินิจฉัยรวมจะต้องเป็นตัวแทนความคิดเห็นของตุลาการทุกคนได้ ยกเว้นตุลาการที่ไม่เห็นด้วยจะขออนุญาตว่า มีความคิดเห็นค้านต่อคำวินิจฉัยรวมนั้น ศาลจะต้องจำกัดอำนาจขอบเขตตัวเองในการเข้าไปก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ
ส่วนทางที่สอง คือ ศาลมองว่ามีอำนาจ ขอเข้าไปบอกให้แก้ไขเป็นรายมาตราแล้วให้ศาลเข้าไปตรวจสอบทีละมาตราว่ามาตรา นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คิดว่าน่าจะออกมาแนวทางที่สองนี้มากกว่า คือไม่อนุญาตยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่สามารถยกร่างเป็นรายมาตรา คิดว่าน่าจะออกมาในแนวนี้ จะกลับมาเป็นว่าให้รัฐสภามีอำนาจแก้เป็นรายมาตรา และให้ระบุว่าให้แก้มาตราไหน
ถ้าสมมุติว่าศาลไม่อนุญาตให้ยกร่าง ใหม่ทั้งฉบับ มาตรา 291 ก็จะไม่ถูกนำมาใช้เลย และไม่มีประโยชน์แต่ประการใด ก็จะถูกเก็บพับไป ก็จะไม่ถูกแตะต้อง ก็จะเป็นการแก้โดยกระบวนการรัฐสภา สมมุติรัฐสภาขอแก้ 10 มาตราระบุออกมาเลยว่ามาตราอะไรบ้าง เป็นกระบวนการภายในรัฐสภา ต้องใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเท่านั้น และในกระบวนการแก้ศาลก็จะเข้ามาดูว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญเดิมหรือไม่ หมายถึงว่ามาตรา 68 แต่มาตรา 291 ก็จะไม่นำมาพูดถึงอีกเลย

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรณีที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล ถอนตัวออกจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เหลือคณะตุลาการเพียง 8 คน หากในวันที่ 13 มีการตัดสินคะเเนนออกมาเท่ากันก็เป็นหน้าที่ของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องชี้ขาด
ส่วนกรณีที่คุณวสันต์เคยให้ ความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้นก็ไม่มีผลอะไรถ้าหากท่านคิดว่าไม่ได้ทำผิดอะไร ท่านก็ลงมติชี้ขาดได้ตามปกติ แต่จะมีผลก็ต่อเมื่อท่านถอนตัวออกไป หรือว่างดออกเสียง ไม่ร่วมตัดสินด้วย แต่เท่าที่ดูแล้วเขาน่าจะอ้างว่าเขาขอถอนตัวแล้วแต่ที่ประชุมไม่ให้เขาถอน จึงต้องเข้าร่วมตัดสินใจ
คะแนนเสียงที่ออกมาผมก็ไม่รู้ว่าจะออกมา เป็นอย่างไร แต่คาดว่าผลที่ได้คงไม่เท่ากัน เผลอๆ อาจจะเหมือนตอนรับคำร้องก็ได้ที่คะแนนออกมา 7 ต่อ 1
ส่วนทางออกของการพิจารณามาตรา 291 ของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีขัดต่อมาตรา 68 นั้น ผมว่าคนก็รู้กันอยู่แล้ว ที่รับพิจารณานี่มันก็รู้กันอยู่แล้ว ก็แสดงให้เขาเห็นด้วยว่าคนยื่นคำร้องเข้ามา ส่วนของผู้ยื่นคำร้องเขาเห็นว่าแก้ไม่ได้ ถ้าศาลเห็นด้วยกับเขาก็เเสดงว่าแก้ไขไม่ได้
แต่ผมมองตรงกันข้าม ความเห็นของผมเห็นว่าเขาไม่มีอำนาจรับพิจารณาด้วยซ้ำไป การรับพิจารณาของเขาทั้งหมดถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
ทางออก หรือทางแก้ไขนั้นไม่รู้จะแก้อย่างไรเพราะรัฐบาลไปยอมรับเขาแล้ว การที่เข้าไปต่อสู้คดี เข้าไปชี้เเจงก็เท่ากับว่ายอมรับว่าเขามีอำนาจที่จะพิจารณาตรงนี้ได้ เขาก็จะตัดสินออกมาเเล้วต้องปฏิบัติตามเท่านั้นเอง
หลังศาลตัดสิน แล้วหากคุณวสันต์ จะเป็นคนชี้ขาดตรงนี้ก็ไม่น่าเกลียดอะไร เขาทำได้หมดทุกอย่างอยู่แล้ว ขนาดเขาไม่มีอำนาจรับพิจารณาเขายังรับไว้ได้ แล้วแค่นี้จะไปดูไม่ดียังไง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
อดีตนายกรัฐมนตรี

ปัญหา รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และกำลังดำเนินการเพื่อนำไปสู่คำตัดสินวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีการกระทำการล้ม ล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยแท้จริงแล้วยังไม่มีระบอบประชาธิปไตย จะมีการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ดังเช่นพี่น้องเสื้อแดงเขียนป้ายที่เวที ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า 80 ปียังไม่มีประชาธิปไตย และพี่น้องเสื้อเหลืองรณรงค์กัน ยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภา
ดังนั้นข้อหาตามมาตรา 68 คือ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐจะมีได้ อย่างไร และจะเป็นจริงไปได้อย่างไร เพราะไม่มีระบอบประชาธิปไตยให้ล้มล้าง ดังนั้น ผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงร้องผิด และศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินไม่ได้ หรือถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินก็จะต้องมาทำการพิสูจน์ทราบเสียก่อนว่าการ ปกครองของประเทศขณะนี้เป็นการปกครองระบอบอะไร
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยืน ยันตัดสินผิดพลาดจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะสูญเสียความเป็นสถาบัน กลายเป็นการรักษาความเห็นผิดมิจฉาทิฐิ และรักษาระบอบเผด็จการรัฐสภาไว้ต่อไปอย่างไม่มีเจตนาเพราะเข้าใจผิดว่า ระบอบเผด็จการรัฐสภาคือระบอบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการรัฐสภาอย่างไม่มีเจตนา ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีเจตนาดีต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเมื่อตัดสินพิพากษาเรื่องใดๆ ย่อมจะมีผลผูกพันต่อองค์กรอำนาจอธิปไตยทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ถ้าตัดสินถูกต้องจะส่งผลให้เกิดความดีงามต่อชาติและประชาชนอย่างยิ่ง แต่ถ้าตัดสินผิดพลาดก็จะส่งผลในทางเลวร้ายอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน
รัฐสภาชุดนี้มีที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบ ด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 165 (1) (2) เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญตกเป็นโมฆะ การเลือกตั้งที่มีผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยตรงใน สมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น รัฐสภาชุดนี้ไม่มีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอำนาจที่จะออกกฎหมายใดๆ และทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น