มติชน 6 กรกฎาคม 2555 >>>
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทำให้เครื่องไม้เครื่องมือถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช้งานได้หลากหลาย แต่บรรจุอยู่ในอุปกรณ์เล็กลง ง่ายต่อการพกพา โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือยุคใหม่ หรือสมาร์ทโฟน สามารถหยิบขึ้นมาบันทึกไฟล์ "คลิปวิดีโอ- คลิปเสียง-รูปภาพ" ได้ทันใจนึก
ความเป็นส่วนตัวก็ถูกย่อขนาดลงเช่นกัน จึงมักปรากฏ "สารพัดคลิป" เพ่นพ่าน "โลกไซเบอร์" ให้ทั้งโลกเข้ามาช่วยรับรู้ ทำให้บรรดา "บุคคลสาธารณะ" อย่างนักการเมืองต้องระวังตัวแจ
หลายครั้งส่งผลสะท้านสะเทือนต่อแวดวงการเมืองถึงขั้นติดคุก-ยุบพรรคกันมาแล้ว มีตัวอย่างเรียกน้ำย่อย อาทิ
ในช่วงการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งภาพในคลิป ปรากฏกลุ่มคนตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็ก เดินทางเข้าไปยังบริเวณห้องทำงาน "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" ซึ่งเชื่อมโยงกับ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นำมาสู่การ "ยุบพรรคไทยรักไทย" ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี
ในส่วนของ "พล.อ.ธรรมรักษ์" ถูกศาล อาญาตัดสินจำคุก 3 ปี 4 เดือน
นอกจากนี้ยังปรากฏคลิปเสียงคล้ายเสียงของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สั่งให้ปราบปรามประชาชน ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 แต่คลิปเสียงดังกล่าวกลายเป็นระเบิดด้าน แค่การ "ตัดต่อ" เสียงของ "อภิสิทธิ์"
และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ...คลิปเสียงคล้ายเสียงของ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา
เนื้อหาเป็นการพูดถึงการเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และการไม่ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ระบุถึงการประสานงานกับแกนนำพรรคไทยรักไทย, นักการเมืองกลุ่ม 111, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อย่างละเอียดยิบ
จึงมีคำถามว่าการ "ปล่อยของ" จัดฉากขึ้นมาบ้าง ของจริงบ้าง นี้เป็นแผนดิสเครดิตทางการเมือง หรืออะไรกันแน่ อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการสร้างหรือเผยแพร่มักหลุดรอดลอยนวล ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ติดตามการเมืองไทยมาอย่างยาวนานให้ความเห็นว่า การที่นักการเมืองใช้คลิปโจมตีกันตอนนี้ คิดว่าเป็นวิวัฒนาการธรรมดา ด้วยความที่ต้องการให้มีความน่าเชื่อถือ จากการที่เขาเล่าว่า ก็กลายเป็นมีหลักฐานเป็นเสียงจริง เป็นภาพจริงเท่าไหร่ได้ยิ่งดี
บางทีมีการปล่อยข่าวออกมาก่อน พอคนเป็นข่าวออกมาปฏิเสธ ก็เอาหลักฐานยันให้ดูเลย ซึ่งคลิปมีน้ำหนักมากที่สุดแล้วตอนนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าศาลรับไหม ในสมัยก่อนที่ประเทศอเมริกา ศาลไม่รับเลย
แต่การแอบอัดหรือถ่ายคลิป ก็ทำให้การเจรจาระหว่างคู่กรณีเกิดยากขึ้น เพราะการเจรจาปกติจะปิดห้องเจรจากันสองคน ไม่มีการเปิดเผย แต่ทุกวันนี้ถ้าเผลอคุยกับใครสองต่อสอง ถูกหลอกให้คุยกันสองต่อสองเพื่อจะอัดเทป แบบคราวที่เกิดกับศาลรัฐธรรมนูญ อนาคตจะไม่มีใครกล้าเจรจาทางการเมือง
สมมุตว่าผมไปเจรจาปรองดองก็ต้องไปคุยกันนอกรอบ แต่ตอนนี้ใครจะเชื่อได้ว่าคุยนอกรอบแล้วจะไม่ถูกอัดเทป ทำให้การเจรจาจะยากมากขึ้นไปอีก ถ้าเกิดวิกฤตการณ์รุนแรง เพราะกลยุทธ์การเจรจาต้องคุยกันนอกรอบ เปิดอก คือเรื่องนี้เป็นยุทธวิธี เครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ทำลายคู่ต่อสู้
ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองในแง่มุมนักกฎหมายว่า หลักคิดในเรื่องนี้อยู่ที่ว่าไปทำให้เขาเสียหายไหม มีข้อยกเว้นตามมาตรา 369 เรื่องที่เป็นบุคคลสาธารณะไหม หากเสียหายก็เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่หากข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เขาก็จะได้รับการยกเว้นความผิด
ไม่เท่านั้น ต้องมองว่าใครเป็นคนเผยแพร่ แล้วลักษณะการพูดเป็นอย่างไร เป็นการพูดกันส่วนตัว หรือเป็นการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก ในกรณีนี้คือเจ้าของเสียง (นายสมศักดิ์ เกียรติ ฃสุรนนท์) ยอมรับแล้วว่าเป็นคนพูด ก็จะจบในเรื่องการเผยแพร่ รวมทั้งเป็นเรื่องที่ตั้งใจพูด ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เป็นเรื่องของการเมืองอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องของการฟ้องร้อง ต้องดูก่อนว่าข้อหาอะไร ยังไง แต่เห็นว่าไม่มีข้อหาอะไร เพียงแต่ได้รู้ว่าเจตนาเขาคิดยังไงกับเรื่อง พวกนี้ ได้เห็นถึงทัศนคติของเขาซึ่งคนอื่นไม่เคยได้ยิน ส่วนจะดีหรือไม่ดีอย่างไร วิพากษ์วิจารณ์กันได้
ขณะที่ "ปกรณ์ ปรียากร" คณบดีคณะรัฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า บุคคลสาธารณะต้องระวังตัว เพราะการพูดในที่ประชุมหรือในที่สาธารณะ สามารถอ้างถึงได้ การที่จะไปพูดอะไรที่ไหน ต้องระวัง ไม่ใช่จะนึกจะพูดอะไรก็ได้ พูดในสภาอย่าง พูดข้างนอกอีกอย่าง เพราะว่าเป็นบุคคลสาธารณะ และยิ่งถ้ารู้ว่าสิ่งที่พูดมีโอกาสจะเป็นข่าวก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง