ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองหรือไม่ ในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคมนี้ เป็นอีกหนึ่งจุดหักเลี้ยวทางการเมืองที่ได้รับการจับจ้องจากสังคม และเป็นอีกครั้งที่เครือข่ายของผู้มีความประสงค์จะโค่นล้มรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาแสดงตัวกันอย่างครบหน้าชนิด "จัดเต็ม"
เริ่มตั้งแต่ผู้ทำคำร้องทั้ง 5 ฉบับ ได้แก่ นายวันธชัย ชำนาญกิจ นายบวร ยสินทร นายวรินทร์ เทียมจรัส นายวิรัตน์ กัลยาศิริ และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม
สามรายแรกมีความใกล้ชิดกับ "แกนนำกลุ่มเสื้อเหลือง" รายที่สี่คือ ส.ส.ประชาธิปัตย์ และรายสุดท้ายคือหนึ่งใน "ตัวจริง" ของ คมช.
ไม่แต่เฉพาะตัวผู้ร้องเท่านั้นที่ "ชัดเจน" รายชื่อของพยานที่ถูกอ้างมาขึ้นให้การก็สอดคล้องทำนองเดียวกัน
เริ่มต้นจากพยานบุคคล 16 ปากแรก ประกอบด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา นายวัชรา หงส์ประภัศร อดีต ส.ส.ร.50 นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กสม. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นางพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา นายคมสัน โพธิ์คง อดีต ส.ส.ร.50 นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี
ก่อนที่นายวิรัตน์จะขอเพิ่มพยานอีก 5 ปาก คือ นายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายแก้วสรร อติโพธิ นายฉัตรชัย ภูโคกหวาย และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะที่นายบวรขอเพิ่มพยานอีก 1 ปาก คือ นายสุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต
แทบทุกคนในจำนวนนี้ คนที่ติดตามการเมืองมาโดยตลอด เดาล่วงหน้าได้เลยว่าจะขึ้นให้การอย่างไร
ที่ถอนตัวไปแล้วทั้งแบบครึกโครมและเงียบๆ ประกอบด้วย นายอานันท์ นางกาญจนารัตน์ นายไพบูลย์ และนายปริญญา
แต่ที่เรียกความสนใจได้มากกว่า กลับเป็นการให้สัมภาษณ์ก่อนให้การของนายสมคิด อธิการบดีธรรมศาสตร์ และอดีตเลขานุการคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550
ผู้เคยตอบคำถามว่าทำไมจึงร่วมหัวจมท้ายกับเผด็จการทหาร ว่าเพราะเรียนและสอนเรื่องรัฐธรรมนูญมา ถึงเวลาต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรเข้าไปร่วม เพื่อให้เนื้อหาออกมาเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
ที่ระบุว่า
"จำได้ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯได้มีการพูดถึงเจตนารมณ์ในการยกร่างมาตรา 291 โดยไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงกำหนดข้อห้ามในการตั้ง ส.ส.ร. เอาไว้"
"คงต้องไปดูข้อกฎหมายเพื่อไปชี้แจงต่อศาลให้ชัดเจน"
ที่กลายเป็น "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" ไปได้นั้น ก็เพราะหากเจตนาของมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
จะอธิบายการออกมา "เกลี้ยกล่อม" ให้ประชาชนลงมติรับรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยมาแก้ไขทีหลังของนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตรองประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นตุลาการรัฐธรรรมนูญในปัจจุบันอย่างไร
จะอธิบายจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ หรือนายเจิมศักดิ์ ที่เคยโน้มน้าวประชาชนว่า รับไปก่อน แก้ทีหลัง-อย่างไร
รวมไปถึงคำถามพื้นๆ ง่ายๆ ว่า ถ้าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้
1. จะต้องใช้รัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากการปฏิวัติไปจนกว่าโลกแตกหรือไม่ และ
2. เป็นการยกสิทธิแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไว้ให้กับผู้ถือปืนมายึดอำนาจรัฐเท่านั้นหรือไม่
ถ้าเช่นนั้น จะเอา "เจตจำนงของประชาชน" อันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยไปอยู่ไหน