เสวนาการวินิจฉัย ม.68 โดยหลักนิติธรรม

วอยซ์ทีวี 2 กรกฎาคม 2555 >>>




นักวิชาการ เห็นพ้อง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 68 เพราะไม่มีมูลเหตุใดบ่งชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญและ สสร. จะมีเหตุจูงใจเปลี่ยนแปลงการปกครองและคิดจะแก้ไขในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์
ในงานเสวนาวิชาการเรื่อง "หากจะวินิฉัยกรณีมาตรา 68 ด้วยหลักนิติธรรม" จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาชาติไทยและอดีตรักษาการณ์หัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อศึกษา การวินิจฉัยมาตรา 68 สามารถใช้หลักนิติธรรมมาวินิจฉัยมาตรานี้ได้อย่างไร
ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 68 ด้วยหลักการใดก็ตาม ก็ย่อมจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต หากวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เป็นการเข้าข่ายเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ก็อาจจะนำไปสู่ทางตันของการเมืองไทย นำไปสู่วิกฤติของประเทศ รวมถึงอาจกระทบหลักสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเรื่องการแบ่งแยกอำนาจสามฝ่ายอีกด้วย
ด้านนายสถิต์ ไพเราะ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตรองประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไปรับวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 68 ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/11 ก็ระบุชัดเจนว่า สสร. ต้องไม่แก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงห้ามแก้ไข มาตรา 1 และมาตรา 2 ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว จึงสงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญนำมูลเหตุใดไปรับวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 68
ส่วนรองศาสตราจารย์อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าวถึงเจตนารมย์ของกฎหมายมาตรา 68 ว่า มาตรา 68 มาจากมาตรา 63 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งเจตนารมย์ของกฎหมายมาตรานี้คือ การป้องกันและลงโทษกลุ่มทหารที่จะมาทำการรัฐประหาร เหตุเพราะการรัฐประหารเป็นแนสคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคยมีกลุ่มนายทหารกลุ่มใดที่ออกเคยทำรัฐประหารแล้วมีฐานะยากจนเลย
นอกจากนี้โดยหลักแล้วอัยการสูงสุดต้องมีหน้าที่ตรวจสอบว่า คำร้องที่ยื่นมานั้นเข้าข่ายตามมาตรา 68 หรือไม่ อัยการสูงสุดจึงมีหน้าที่กลั่นกรองก่อนจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับใช้อำนาจไปรับวินิจฉัยเอง แม้อัยการสูงสุดจะลงความเห็นว่าไม่มีมูล จึงอยากเตือนว่า การใช้อำนาจใดก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อตัวเองและประชาชนด้วย
ด้านนายพนัศ ทัศนียานนท์ อดีต สสร.2540 กล่าวว่า การนัดสืบพยานของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5-6 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ เป็นเพียงฉากหนึ่งเท่านั้น เพราะตามหลักกฎหมายคำร้องที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่เข้าข่ายตามมาตรา 68 แต่ศาลรัฐธรรมนูญกับรับคำร้องไว้เองโดยไม่ฟังความเห็นของอัยการสูงสุด แสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความคำร้องนี้ตามที่ผู้ร้องยื่นมา