ฐานเศรษฐกิจ 15 กรกฎาคม 2555 >>>
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องคนติดตามข่าวการเมืองคิดอย่างไรต่อผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กับบทบาท ของนายกรัฐมนตรีหญิงที่ประชาชนอยากได้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า กรณีศึกษาตัวอย่างเฉพาะคนที่ติดตามข่าวการเมืองใน 17 จังหวัดของประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์
เมื่อถามถึงความคิดเห็นหลังจากทราบผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ยอมรับ แต่ไม่ถึงกับไปชักชวนคนอื่นให้มาเห็นด้วย ปล่อยให้แต่ละคนคิดกันเอง รองลงมาคือ ร้อยละ 23.3 ยอมรับและชักชวนคนอื่นให้ยอมรับ ในขณะที่ร้อยละ 6.5 ไม่ยอมรับ และจะชักชวนคนอื่นไม่ให้ยอมรับ และร้อยละ 8.8 ไม่ยอมรับ แต่ไม่ไปชักชวนคนอื่น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 มีความสุขมากถึงมากที่สุด หลังฟังผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย และผลการตัดสินมีเหตุมีผลรับฟังได้ ในขณะที่ร้อยละ 30.9 มีความสุขปานกลาง และร้อยละ 11.9 มีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามประชาชนว่า ประเทศไทยควรเดินไปในทิศทางใดหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 อยากให้เลิกแบ่งสี แบ่งฝ่าย ทุกคนคือคนไทยด้วยกัน รองลงมาคือร้อยละ 72.6 อยากให้คนไทยรักกัน ก้าวสู่ความปรองดอง ร้อยละ 70.4 อยากให้เลิกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ร้อยละ 69.9 อยากให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยรู้บุญคุณกตัญญูต่อแผ่นดินไทย ร้อยละ 67.4 อยากให้ทุกคนรู้สิทธิและหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และร้อยละ 66.4 อยากให้ฝ่ายการเมืองร่วมกันพัฒนาประเทศ เน้นนโยบายสาธารณะมากกว่าแย่งชิงอำนาจกัน
เมื่อพิจารณาผลวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มคนที่อยากให้ฝ่ายการเมืองแข่งขันกันเชิงนโยบายสาธารณะ พบว่า ส่วนใหญ่พอใจต่อท่าทีของนายกรัฐมนตรีต่อประเด็นขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่ได้มองว่านายกรัฐมนตรีลอยตัวเหนือปัญหาขัดแย้งทางการเมือง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่อยากเห็นนายกรัฐมนตรีทำงานเชิงนโยบายแก้ปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชนมากกว่าเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า เช่น กรรมสิทธิ์ของชาวบ้านในที่ทำกิน ผลผลิตทางการเกษตร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น และปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสื่อที่ไม่ปลอดภัย การลดความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน และปัญหายาเสพติดที่ยังคงรุนแรงอยู่ทั่วไปในเวลานี้ เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมือง คือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.9 กังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงบานปลายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเวลานี้ฝ่ายการเมืองมุ่งแย่งชิงอำนาจกันไม่ฟังเสียงชาวบ้านส่วนใหญ่ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย มุ่งเอาชนะคะคานกัน แต่ละฝ่ายมีเป้าหมายแอบแฝงที่ต้องแก้ให้ได้ มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง จะเอาการแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางผ่านเข้าสู่อำนาจและเอาตัวรอด แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมกัน ไม่สงสารประชาชนและประเทศชาติ ในขณะที่ร้อยละ 42.1 ไม่กังวล ขณะที่เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.3 สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะเป็นรายมาตรา ในขณะที่ร้อยละ 14.9 สนับสนุนให้แก้ไขทั้งฉบับ แต่เกือบ 1 ใน 3 ไม่สนับสนุนเลย
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงเวลาที่อยากให้โอกาสรัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ให้เวลามากกว่า 2 ปี ถึงอยู่ครบเทอมจนหมดวาระ อย่างไรก็ตาม เกินครี่งหรือร้อยละ 52.4 ระบุว่าเวลานี้เหมาะสมแล้วที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 36.9 ระบุเร็วเกินไป แต่ร้อยละ 10.7 ระบุช้าเกินไป